"กฟผ." ชูกลยุทธ์ “Triple S” สร้างความเสถียรด้านไฟฟ้า สู่เป้า "เน็ตซีโร่"

"กฟผ." ชูกลยุทธ์ “Triple S” สร้างความเสถียรด้านไฟฟ้า สู่เป้า "เน็ตซีโร่"

“กฟผ.” ย้ำ ทุกคนต้องช่วยกันประหยัดพลังงาน ชูกลยุทธ์ “Triple S” ใช้ “เทคโนโลยี - ลดฟอสซิลผลิตไฟ” สร้างความเสถียรด้านไฟฟ้า นำประเทศไทยสู่ “เน็ตซีโร่”

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวในงาน  TEA FORUM 2022 “Mission Possible: Energy Transition to the Next 2050” จัดโดย “ฐานเศรษฐกิจ” หัวข้อ Energy Transition in the Views of Global add Local Players ว่า กฟผ. เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ออกมาประกาศเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (EGAT Carbon Neutrality) ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2050 เพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ภายใต้หลักการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ภายใต้กลยุทธ์ “Triple S” ประกอบด้วย

1. Sources Transformation ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับเขื่อนพลังน้ำ และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid modernization) และการนำเทคโนโลยีทันสมัยและพลังงานทางเลือกมาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในอนาคต

2. Sink Co-Creation การเพิ่มปริมาณการดูดซับกักเก็บคาร์บอน อาทิ โครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) เพื่อกักเก็บคาร์บอนปริมาณ 3.5 - 7 ล้านตัน ในปีพ.ศ.2588 อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี CCUS จะเป็นอนาคต กฟผ.จึงใช้วิธีปลูกป่าช่วย โดยปลูกไปแล้ว 4 แสนไร่ ตั้งเป้าจะเป็น 1 ล้านไร่ ในอีก 9 ปี คาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเฉลี่ย 1.2 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 23-24 ล้านตันตลอดโครงการ

และ 3. Support Measures Mechanism กลไกการสนับสนุนโครงการชดเชย และหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ การส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน ช่วยให้ผู้ใช้ไฟสามารถรู้ว่าตอนนี้ใช้แอร์ หรือเครื่องซักผ้าในปริมาณมากน้อยเพียงใด และจะมีการควบคุมอย่างไร รวมถึงการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ครบวงจร สามารถตรวจสอบสถานีชาร์จอีวีผ่านแอปพลิเคชัน และจ่ายเงินผ่านสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ทั้งนี้ กฟผ.ได้ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydro-floating Solar Hybrid) หรือโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด อนาคตเมื่อราคาแบตเตอรี่มีราคาถูกลง จะสามารถนำมาใส่ และเพิ่มแผงโซลาร์ให้ใหญ่ขึ้น และเก็บในแบตเตอรี่เพื่อปล่อยไฟฟ้าได้ 24 ชั่วโมง ตอบโจทย์ทั้งคาร์บอน และฝุ่นต่างๆ เป็นต้น

“เราจะลดสัดส่วนฟอสซิล เพิ่มระบบสายส่งไฟฟ้า จากเดิมออกแบบโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่เป็นฟอสซิล เมื่อมีพลังงานทดแทน (RE) เข้ามา โรงไฟฟ้าระบบเดิมออกแบบมาไม่รองรับจะเกิดปัญหาไฟตก หรือดับ เราจึงพัฒนาปรับปรุงระบบสมาร์ทกริดให้ดีขึ้น พร้อมทั้งพยากรณ์ได้ว่าจะมีจำนวน RE เข้ามาเท่าไหร่ สามารถควบคุมได้อย่างไร”

นอกจากนี้ กฟผ.ยังมีแผนที่จะทำโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ โดยมองว่าอีกไม่กี่ปีจะเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ เพราะแผงโซลาร์จะหมดอายุ จึงร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมและ 3 ไฟฟ้า ในรูปแบบตั้งโรงงานโดยภาครัฐจะต้องสนับสนุนภาครัฐออกกฎหมายด้วย

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย มีทั้งความโชคดี และความโชคร้าย โดยเมื่อก่อนประเทศยุโรปใช้ถ่านหิน ถือว่ารุ่งเรือง และประเทศไทยใช้ตาม แต่เราโชคดีเมื่อการสนับสนุน RE ไทยได้เรียนรู้ ความไม่เสถียร เมื่อมีปัญหาภัยธรรมชาติ เกิดไฟตก ดับ บริเวณกว้างนาน รวมถึงการใช้พลังงานลมนอกชายฝั่ง ถือว่ามีระยะทางที่ไกล ต้องต่อสายไฟข้ามประเทศ ดังนั้น กฟผ.จึงใช้โลซาร์ลอยน้ำไฮบริด ที่สามารถใช้ร่วมกันพลังงานน้ำ แบตเตอรี่ อนาคตใช้ร่วมพลังงานลม สร้างความมั่นคงประเทศ

ทั้งนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาช่วยบริหารจัดการต่างๆ ทั้งการผลิตไฟฟ้า กระจายไปสู่บ้านเรือน สถานีไฟฟ้าแรงสูงอนาคตจะเป็นดิจิทัล สามารถส่งผ่านข้อมูลเป็นดิจิทัล มีระบบไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ช่วยส่งผ่านข้อมูลโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่มีพลังงานสีเขียวให้ได้ขายไฟเข้ามาในระบบ สามารถทราบจำนวน ส่งเสริมผู้ผลิตมีรายได้

“พลังงานไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง เป็นของทุกคนมีส่วนให้การใช้ทรัพยากรของโลกอย่างคุ้มค่า ช่วงนี้ค่าไฟสูงขึ้น และกำลังขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก จะมีผลกระทบทุกอุตสาหกรรม หรือน้ำมันและก๊าซก็สูงขึ้นเช่นกัน จะให้รัฐ เอกชนดูแลไม่พอ ทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน ต้องร่วมกันประหยัดพลังงาน”

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์