น้ำมันแพงดันยอดขาย“อีวี” เล็งชงมาตรการหนุนปั๊มชาร์จ

น้ำมันแพงดันยอดขาย“อีวี” เล็งชงมาตรการหนุนปั๊มชาร์จ

สนพ. ชี้ เศรษฐกิจฟื้น ราคาน้ำมันแพงหนุนยอดยานยนตไฟฟ้า (อีวี) รายไตรมาสโตกว่า 172% เผยยอดจดทะเบียนรวมสะสะ 5,614 คัน

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ กล่าวว่า เดือน ก.ค.2565 จะรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับจำนวนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จากกรมสรรพากร ที่ผู้นำเข้าได้ยื่นเรื่องขอนำเข้าในไทย

อย่างไรก็ตาม จำนวนรถอีวีจะปริมาณเท่าไหรนั่น ขณะนี้ ยังไม่ทราบแน่ชัด ซึ่งน่าจะอยู่ในกรอบงบประมาณปี 2565 จำนวน 3,000 ล้านบาท แต่ด้วยสถานการณ์ราคาน้ำมันแพง และนโยบายของรัฐบาลส่งผลให้ยอดการใช้รถอีวีไตรมาส 1/2565 มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าที่ 1,236 คันเพิ่มขึ้นถึง 172.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา สำหรับยอดจำนวนจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าถึงเดือนเม.ย. 2565 สะสมรวม 5,614 คัน

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานเดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติซึ่งมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย 30@30 คือ การตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ.2573 เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก และเป็นกลไกสำคัญในการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ดังนั้น ภาครัฐจึงได้ออกมาตรการสนับสนุนเพื่อส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี เพื่อให้ราคายานยนต์ไฟฟ้าใกล้เคียงกับรถยนต์สันดาป (ICE) พร้อมทั้งกระทรวงพลังงานจะเร่งดำเนินการส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) ในพื้นที่สาธารณะให้เพียงพอกับยานยนต์ไฟฟ้า โดยปัจจุบันมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวน 944 แห่งทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ 4 มี.ค.2565)

อย่างไรก็ตาม ปีนี้จะเริ่มเห็นรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรับส่งอาหารหรือส่งสิ่งของต่างๆ เพราะด้วยราคาน้ำมันที่แพง อีกทั้งประเทศไทยได้มีการสนับสนุนการติดตั้งสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อเพิ่มความสะดวกสะบาย และประหยัดค่าใช้จ่ายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้ามีสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ไว้ที่ 1,450 สถานี ในปี 2573 ส่วนการพัฒนาแพลตฟอร์มอีวีกลาง ตอนนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยจะนำเข้าที่ประชุมเดือนก.ค. 2565 เพื่อทันใช้งานในปีนี้

“ขณะนี้ อยู่ระหว่างเตรียมเสนอมาตรการส่งเสริมเพิ่มเติมได้แก่ มาตรการสนับสนุนเครื่องอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และมาตรการสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งด้านสิทธิประโยชน์การลงทุนและการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต”