ส.อ.ท. ชี้เงินเฟ้อ ‘ฉุด’ กำลังซื้อประชาชน
ส.อ.ท. ชี้ภาวะสงครามที่ยืดเยื้อกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งปัญหาเงินเฟ้อและการขาดแคลนอาหารที่จะเป็นปัญหาใหญ่ เร่งรัฐช่วยกระตุ้นเครื่องยนต์ภาคการท่องเที่ยวให้กลับมาฟื้นตัวเต็มรูปแบบครึ่งหลังปี 2565
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สงครามในยุโรปตะวันออกที่ยังยืดเยื้อและอาจลุกลามไปถึงความขัดแย้งในตะวันออกกลาง จะกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ให้ไม่สามารถโตได้เท่าที่ควร ซึ่งทำให้ไทยที่มีเศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกได้รับผลกระทบในหลายอุตสาหกรรม
โดยในปีนี้มีปัญหาใหญ่ที่ต้องกังวลคือผลกระทบต่อเนื่องจากสงคราม ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อจากราคาพลังงานที่มีแนวโน้มอาจพุ่งไปถึง 135 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง สะท้อนจากดัชนีฯ คำสั่งซื้อและยอดขายที่ปรับตัวลดลง
รวมถึงอีกปัญหาสำคัญคือความขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะในยุโรปที่จะชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 เนื่องจากภาคเกษตรกรรมจำเป็นต้องปรับลดการใช้ปุ๋ยที่ราคาพุ่งสูงขึ้น หลายประเทศผู้ส่งออกอาหารเริ่มมีความกังวลและประกาศงดการส่งออกเพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศตัวเอง อย่างไรก็ตาม ไทยจะไม่เกิดปัญหาความขาดแคลนอาหารแต่ผู้บริโภคจะต้องแบกรับราคาอาหารที่แพงขึ้น
จากผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพ.ค. 2565 อยู่ที่ระดับ 84.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 86.2 ในเดือนเม.ย. ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ได้แก่ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ เพิ่มขึ้น ขณะที่นโยบายเปิดประเทศและการยกเลิกระบบ Test&Go จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเป็นเครื่องยนต์สำคัญสำหรับเศรษฐกิจในประเทศช่วงครึ่งปีหลัง
จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,323 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม 2565 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นได้แก่ ราคาน้ำมัน 85.5% สภาวะเศรษฐกิจโลก 65.7% และเศรษฐกิจในประเทศ 59.0% ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความกังวล ลดลง ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 55.5% อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 36.4% สถานการณ์การเมืองในประเทศ 35.1% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 33.2% ตามลำดับ
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 96.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 95.9 ในเดือนเมษายน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ การปลดล็อกมาตรการควบคุมโควิด-19 รวมถึงการที่ภาครัฐจะพิจารณาให้โรคโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งผู้ประกอบการมองว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจการค้า การจ้างงาน การลงทุนและการท่องเที่ยวของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2565
ทั้งนี้ ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐเร่งเจรจาหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ที่มีศักยภาพมาทดแทน โดยเฉพาะ ปุ๋ย อาหารสัตว์ สารเคมี เป็นต้น รวมทั้งส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศให้มากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศและเพื่อความมั่นคงระยะยาว
นอกจากนี้ ให้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เช่น เงินอุดหนุนรักษาการจ้างงาน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ และดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
รวมถึงการเปิดการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ โดยให้มีการอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวเต็มที่และออกมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีคุณภาพ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังของปี 2565