5 เดือน เงินเฟ้อไทยพุ่งกระฉูด คนไทยพร้อมรับสินค้าแพง
คนไทยเตรียมตั้งรับราคาสินค้าและบริการแพง จากภาวะเงินเฟ้อ หลังตัวเลขเงินเฟ้อของไทยทุบสถิตนิวไฮอีกครั้งในเดือนพ.ค.พุ่งแรงถึง 7.10% ขณะที่เงินเฟ้อต่างชาติแข่งทุบสถิตเป็นรายประเทศ
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)ได้รายงานตัวเลขเงินเฟ้อของไทยเดือนพ.ค.อยู่ที่ 7.10% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 13 ปี หากย้อนกลับไปดูตัวเลขเงินเฟ้อของไทยปรับตัวสูงขึ้นมาตลอดโดย เดือนม.ค.65 เงินเฟ้ออยู่ที่ 3.23 % เดือน ก.พ.อยู่ที่ 5.28 % เดือนมี.ค.อยู่ที่ 5.73% และเดือนเม.ย.อยู่ที่ 4.65 %
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นมาจากราคาพลังงานและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยสินค้ากลุ่มพลังงาน ทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก โดยสินค้ากลุ่มพลังงาน เพิ่ม 37.24% โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นถึง 35.89% ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก ก๊าซหุงต้ม เพิ่ม 8% จากการยกเลิกการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม ทำให้ราคาทยอยปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได และค่ากระแสไฟฟ้า เพิ่ม 45.43% จากการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) รอบเดือนพ.ค.-ส.ค.2565 ส่วนกลุ่มอาหารเพิ่ม 6.18%
อย่างไรก็ตาม สนค.ยังมองว่า เงินเฟ้อของไทยที่สูงขึ้นเป็นไปในทิศทางเดียวกับหลายประเทศที่เงินเฟ้อ โดยเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อไทยกับทั่วโลกและ อาเซียน ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า โดยเงินเฟ้อในเดือนเม.ย. ยุโรป 19 ประเทศ เงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 7.4% สหรัฐ เงินเฟ้อ 8.3% สูงสุดในรอบ 40 ปี สหราชอาณาจักร 9 % สูงสุดในรอบ 40 ปี อินเดีย เงินเฟ้อ 7.7% สูงสุดในรอบ 8 ปี หรือประเทศที่อยู่ใกล้ไทย เช่น มาเลเซีย เงินเฟ้อ 2.3% สปป.ลาว เงินเฟ้อ 9.86% ฟิลลิปปินส์ เงินเฟ้อ 4.9% จีน เงินเฟ้อ 2.1% ญี่ปุ่น เงินเฟ้อ 2.5% อินโดนีเซีย เงินเฟ้อ 3.47% เป็นต้น โดยหลายประเทศทุบสถิติเงินเฟ้อสูงกันเป็นว่าเล่น
ขณะที่ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจก็ยังปรับขึ้นอยู่ในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนพ.ค.2565 สูงขึ้น13.3% โดยเป็นการปรับสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ซึ่งมีสินค้ากลุ่มปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง สาเหตุเกิดจาก ราคาพลังงาน ค่าขนส่ง และราคาวัตถุดิบนำเข้า รวมทั้งเงินบาทที่อ่อนค่า และต้นทุนการผลิตอื่น ๆ ขณะที่ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศอยู่ในระดับสูง
ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างก็สูงขึ้นเช่นกัน โดยสูงขึ้น 6.5% แต่เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง อาทิ สินค้าในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ผลิตภัณฑ์คอนกรีต อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ขณะที่ต้นทุนการผลิตยังคงปรับตัวสูงขึ้นจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ทั้งน้ำมัน ถ่านหิน และอลูมิเนียม
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.7 เทียบกับระดับ 45.7 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่ปรับสูงขึ้น ประกอบกับมาตรการบรรเทาค่าครองชีพภาครัฐบางมาตรการได้สิ้นสุดลง และการระบาดของโควิด-19
สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนต่อๆไปจากนี้ ก็คาดว่าจะยังคงสูงอย่างต่อเนื่องจากราคาพลังงานที่ยังไม่สัญญาณว่าจะขยับเป็นขาลง ซึ่งเงินเฟ้อที่สูงขึ้นย่อมกระทบต่อผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะรายจ่ายหรือภาระค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ประชาชนมีอำนาจซื้อน้อยลง มี ความสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการได้น้อยลง จากรายได้ที่ได้มาไปไม่เพียงพอกับการยังชีพ เนื่องจากราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ โดยสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพไม่ว่าจะเป็นเนื้อ หมู เป็ด ไก่ ไข่ไก่ บะหมี่สำเร็จรูป น้ำมันพืชบรรจุขวด เสื้อผ้า ต่างขึ้นราคากันถ้วนหน้า ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นที่ต้องจับจ่ายใช้สอยใช้ชีวิตประจำวัน
แม้ว่า กระทรวงพาณิชย์ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการ ไม่ให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาส หรือเอาเปรียบผู้บริโภค หรือตรึงราคาไว้ในช่วงที่ต้นทุนการผลิตสินค้าพุ่งจากราคาพลังงาน แต่ในความเป็นจริง”ราคาสินค้า”ก็ได้มีการปรับขึ้นไปแล้ว “เงินเฟ้อ” จึงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องจับตา เพราะกระทบความเป็นอยู่ของทุกคน ดังนั้นจึงต้องเตรียมตัวตั้งรับกันให้ดี