รฟท.เร่งเคลียร์มักกะสัน สร้างที่พักรองรับย้ายชุมชน
ร.ฟ.ท.เตรียมส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ก.ค.นี้ “นิรุฒ” เร่งเจรจาผู้บุกรุก จับมือการเคหะแห่งชาติ เดินหน้าสร้างอาคารที่พักอาศัยบึงมักกะสัน 315 ยูนิต รองรับชุมชนได้รับผลกระทบ คาดตอกเสาเข็ม 2567
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.2562 ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และ บริษัท เอเชียเอรา วัน จำกัด ที่มีเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเอกชนคู่สัญญาได้เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีผลต่อจำนวนผู้โดยสารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ รวมทั้ง ร.ฟ.ท.ได้เร่งเคลียร์พื้นที่ก่อสร้างเพื่อเตรียมส่งมอบให้กับเอกชนคู่สัญญา
สำหรับความคืบหน้าการเตรียมส่งมอบพื้นที่ ณ เดือน เม.ย.2565 ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา มีความคืบหน้า 99.92% ครอบคลุมพื้นที่เวนคืนพื้นที่ การโยกย้ายผู้บุกรุกและการรื้อย้ายสาธารณูปโภค โดยพื้นที่ทั้งหมดที่ต้องส่งมอบ 3,513 ไร่ 1 งาน 3 ตารางวา แบ่งเป็นพื้นที่ในกรรมสิทธิ์ของ ร.ฟ.ท.อยู่ที่ 2,594 ไร่ 46.4 ตารางวา และพื้นที่จากการเวนคืน 919 ไร่ 56.6 ตารางวา และคงเหลือพื้นที่ 2 ไร่ 3 งาน 77.8 ตารางวา
นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.เปิดเผยว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.ได้เร่งแก้ปัญหาการบุกรุก พร้อมกับติดตามการดูแลผู้ได้รับผลกระทบชุมชนในพื้นที่โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โดยล่าสุดได้ลงพื้นที่ช่วงยมราช-พญาไท บริเวณชุมชนบุญร่มไทร เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาตามนโยบายของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ที่มี ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน
อย่างไรก็ดี ร.ฟ.ท.ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการลงทุนภาครัฐ ควบคู่กับการบริหารจัดการนำทรัพย์สินที่ดินมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ ร.ฟ.ท.ได้มีการพบปะพูดคุยกับชุมชนเพื่อแก้ปัญหาการบุกรุก และหาทางออกร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง
สำหรับชุมชนบุญร่มไทร ร.ฟ.ท.ได้มีความร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติ (กคช.) จัดสร้างอาคารที่พักอาศัยขนาด 315 ยูนิต บริเวณพื้นที่ริมบึงมักกะสัน เขตราชเทวี สำหรับรองรับการย้ายของชุมชนให้ไปเช่าอยู่อาศัยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการขออนุมัติของหน่วยงานรัฐ และการออกแบบเพื่อก่อสร้าง ประกอบด้วย ห้องพักขนาด 28.5 ตารางเมตร ขนาด 1 ห้องนอน และขนาด 34.6 ตารางเมตร ขนาด 2 ห้องนอน
อีกทั้งยังจะพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นที่โดยรอบ ประกอบด้วย พื้นที่รองรับศูนย์ดูแลเด็ก ศูนย์สุขภาพสำหรับกลุ่มเปราะบาง ห้องประชุม พื้นที่ส่วนกลางสำหรับประกอบอาหาร พื้นที่เก็บรถเข็นสำหรับประกอบอาชีพ รวมถึงมีตลาดสดภายในชุมชน เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโครงการดังกล่าวในปี 2567 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี
“การรถไฟฯ มีความตั้งใจอย่างยิ่งในการดูแลประชาชนทีได้รับผลกระทบจากโครงการลงทุนของรัฐเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ มีส่วนร่วมในการพิจารณาพื้นที่ปลูกสร้าง และรูปแบบที่พักอาศัยที่เหมาะสม ตลอดจนความสามารถในการชำระค่าเช่าของแต่ละครัวเรือน ซึ่งเป็นนโยบายที่การรถไฟฯ ให้ความสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนมาโดยตลอด”
ส่วนความคืบหน้าการส่งมอบที่ดินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ขณะนี้ ร.ฟ.ท.สามารถแก้ปัญหาในภาพรวม พร้อมกับทำความเข้าใจกับผู้บุกรุกจนได้รับความยินยอมออกจากพื้นที่ครบ 100% แล้ว และหลังแก้ไขเสร็จ ร.ฟ.ท.ได้กำหนดแผนส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนผู้ได้รับสัมปทานโครงการ คือ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ภายในเดือน ก.ค.2565
ทั้งนี้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ถือเป็นโครงการที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยตลอดโครงการมีระยะทาง 220 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 224,500 ล้านบาท ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน และสนับสนุนการท่องเที่ยว ก่อให้เกิดเติบโตทางเศรษฐกิจ และการขยายตัวของชุมชนได้ในอนาคตอันใกล้
นอกจากนี้ เมื่อโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เปิดให้บริการครบตลอดเส้นทางจะใช้เวลาเดินทางจากดอนเมือง-อู่ตะเภา ประมาณ 1.25 ชั่วโมง ใช้ความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ส่วนการเดินรถในเมืองช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ อาจใช้ความเร็วที่ประมาณ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะมีพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อพัฒนาโดยรอบสถานี หรือ TOD ที่สถานีมักกะสัน จำนวน 140 ไร่ เมื่อมีการพัฒนาโครงการแล้วเสร็จ จะเป็นการพัฒนาเมือง เป็นศูนย์กลางการเดินทางในประเทศและภูมิภาค
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ในส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจากสถานีพญาไท ไปยัง
สนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบัง ไปยังสนามบินอู่ตะเภาประกอบไปด้วยสถานีรถไฟความเร็วสูงจำนวน 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา