“ไทย-สวีเดน” ผนึกลดโลกร้อน เปลี่ยนผ่านยุคพลังงานสะอาด
วิกฤติการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างผลกระทบที่รุนแรงไปทุกพื้นที่ทำให้ปัญหานี้กลายเป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วนระดับโลก โดยวันที่ 2-3 มิ.ย.2565 มีประชุมระดับโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อม “Stockholm+50” ณ กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน
ในโอกาสครบรอบ 50 ปี การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ที่เคยจัดขึ้นครั้งแรกในโลกที่กรุงสตอกโฮล์มในปี 1972 ถือเป็นจุดกำเนิดของความร่วมมือระดับพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมโลก
การประชุมปีนี้เป็นโอกาสที่ผู้นำประเทศ องค์กร และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้นำบทเรียนที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อร่วมกำหนดเส้นทางที่จะบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ตั้งไว้ในอีก 50 ปีข้างหน้า
ขณะเดียวกันวันที่ 1 มิ.ย.2565 สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงสตอกโฮล์ม ร่วมกับ Thailand and Nordic Counties Innovation Unit (TNIU) และ Business Sweden จัดงานสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “A Healthy Planet for the Prosperity of All : Innovation for Sustainability” เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมและความรับรู้ถึงบทบาทของภาคอุตสาหกรรมไทยและสวีเดนต่อประเด็นสิ่งแวดล้อม และการนำนวัตกรรมมาใช้ในการสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืน
Emma Modeer Wiking หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจระหว่างประเทศอย่างยั่งยืน Business Sweden กล่าวว่า ในโอกาสปี 2565 ครบรอบ 154 ปีการความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-สวีเดน ด้วยความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนอย่างเหนียวแน่น โดยปี 2563 สวีเดนมีมูลค่าการลงทุนในไทยมากว่า 170 ล้านดอลลาร์ ในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น ยานยนต์ การผลิต อุปกรณ์การแพทย์
รวมทั้งมีการลงทุนของ บริษัท Swedish Space Corporation (SSC) รัฐวิสาหกิจของรัฐบาลสวีเดน ใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งจะมีการระดมทุนเพิ่มเติมภายในปี 2565 โดยทั้ง 2 ประเทศต่างมีเป้าหมายในการมุ่งสู่ Net-Zero และร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไทย
สำหรับการลงทุนของ SSC ดังกล่าวเป็นการตั้งสถานีรับส่งสัญญาณดาวเทียมขนาดใหญ่ในพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
ทั้งนี้ สวีเดนได้เสนอแนวทาง Fossil Free Welfare เป็นต้นแบบในการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่การใช้พลังงานสะอาด เพื่อให้ภาคธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันบนกติกาโลกใหม่ รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือไทยในการบรรลุเป้าหมายร่วมกัน ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี และประสบการณ์ ระหว่างทั้งสองประเทศ
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ท่ามกลางวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม โรคระบาดใหญ่ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ทั่วโลกต้องเผชิญเป็นความรับผิดชอบของพวกเราในการเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมแก้ปัญหา โดยไทยประกาศจุดยืนการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2065 เพื่อส่งต่อโลกที่น่าอยู่ให้คนรุ่นหลัง
ไทยกำหนดให้ BCG Model เป็นวาระแห่งชาติเพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งสนับสนุนให้พัฒนาเทคโนโลยี โดยเฉพาะการเกษตรที่เพื่อสร้างผลผลิตที่ดีขึ้นและลดการเกิดของเสีย รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ไทยเป็นหนึ่งผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกให้เปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
นอกจากนี้ การบังคับใช้ข้อตกลงปารีสถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะสร้างให้เกิด คาร์บอนเครดิต หรือ Green Gold ทั้งภาคพลังงาน ภาคอุตสาหกรรม และภาคป่าไม้ ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนผ่านจากยุค Black Gold ไปสู่ Green Gold
การเข้าสู่ยุค Green Gold จำเป็นต้องมี Green coin ซึ่งเทคโนโลยีบล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัล จะสร้างรายได้ให้คนท้องถิ่นควบคู่การป้องกันสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งไทยพร้อมร่วมมือกับสวีเดนและหุ้นส่วนต่างๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ร่วมเป็นตัวแทนภาคเอกชนไทยประกาศจุดยืนการดำเนินธุรกิจด้วยนวัตกรรมก้าวผ่านวิกฤติโลกร้อน กล่าวว่า SCG เป็นอุตสาหกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้น บริษัทได้นำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ผลิตสินค้ารวมทั้งปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตที่ผ่านมา จึงเป็นเหตุผลที่วันนี้ประกาศจุดยืน และเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจสู่เน็ตซีโร่ในปี 2050 ตามกลยุทธ์ ESG 4 Plus ดังนี้
1.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป้าหมายระยะใกล้ปี 2030 จะลดการปล่อยลง 20% โดยการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพขึ้น
2.โกกรีน พัฒนาสินค้าที่เป็น Green product โดยตั้งเป้าให้มีสัดส่วนรายได้จากสินค้ารักษ์โลกเพิ่มขึ้นเป็น 67% ของสินค้าทั้งหมด รวมทั้งพัฒนาแพ็คเกจจิ้งรีไซเคิลได้ 100% และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้มากที่สุด
3.ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นของชุมชนโดยรอบ ด้วยการสร้างงาน กว่า 20,000 ตำแหน่งในชุมชนผ่านธุรกิจเอสเอ็มอี รวมทั้งช่วยพัฒนาทักษะใหม่ให้แรงงาน
4.มุ่งสร้างความร่วมมือการขับเคลื่อน ESG กับหน่วยงานระดับประเทศ อาเซียน และระดับโลก 5. การดำเนินทุกกิจกรรมอย่างเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และยังเน้นการปลูกฝังไปยังพนักงาน ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร
“เอสซีจีก่อตั้งขึ้นเมื่อ 109 ปีก่อน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ เช่นเดียวกับในปัจจุบันที่บริษัทยังคงมีวิสัยทัศน์และจุดยืนเดิมในการเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคมและประเทศท่ามกลางวิกฤติสิ่งแวดล้อมด้วยการดำเนินงานอย่างยั่งยืน”