ไม่ใช่ผู้หญิงหยุดสวย..แต่โควิด ฉุดตลาดสินค้าความงามสูญ 7.4 หมื่นล้าน
ปี 65 ต้องถึงเวลากลับมาสวยแล้วล่ะ 'ลอรีอัล ประเทศไทย' ประกาศแผนธุรกิจ เสริมทัพแบรนด์ระดับโลกเอาใจคนรักสวยรักงาม พร้อมลุยกว่า 500 แคมเปญ ปลุกตลาดอีกครั้ง ขานรับผู้คนออกนอกบ้าน กลับไปทำงาน
ย้อนไปก่อนเกิด “วิกฤติโควิด-19” ตลาดสินค้าความงามมีมูลค่าถึง 2.18 แสนล้านบาท และการเติบโตหอมหวาน 6.7% ทว่า ขุมทรัพย์ดังกล่าวถูกทำลายด้วย ไวรัสมฤติยู เพราะพลิกสถานการณ์ทุกอย่างให้ “เปลี่ยน” แบบหน้ามือเป็นหลังมือ
มาตรการ “ล็อกดาวน์” การอยู่บ้าน ทำงานที่บ้านหรือ Work From Home ทำให้ “ผู้หญิงต้องหยุดสวย” ลบวรรคทอง “ผู้หญิงอย่าหยุดสวย” ให้หายไป
ตัวแปรข้างต้นทำให้ล่าสุด “ลอรีอัล ประเทศไทย” ยักษ์ใหญ่ตลาดสินค้าความงามระดับโลก ให้ข้อมูลตลาดรวมปี 2564 มีมูลค่า 1.447 แสนล้านบาท โดย 2 ปี มูลค่าตลาดหายวับไปถึง 7.4 หมื่นล้านบาท!
ทว่า ปี 2565 แม่ทัพใหญ่ “ลอรีอัล ประเทศไทย” ประกาศตลาดสินค้าความงามฟื้นตัวกลับมาแน่!
อินเนส คาลไดรา กรรมการผู้จัดการ ลอรีอัล ประเทศไทย พม่า ลาว และกัมพูชา ฉายให้เห็นภาพรวมตลาดสินค้าความงามในประเทศไทยมี “ขนาดใหญ่” เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค SAPMENA ซึ่งประกอบด้วย เอเชียแปซิฟิกใต้ ตะวันออกกลาง และ แอฟริกาเหนือ
ขณะที่ธุรกิจของ “ลอรีอัล ประเทศไทย” รั้งอันดับ 1 ใน 5 ตลาดหลักของ SAPMENA และยังคอัตราการเติบโต “เหนือตลาด” ยิ่งกว่านั้นบริษัทยังครองส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องด้วย
เมื่อขุมทรัพย์สินค้าความงามของไทยใหญ่ มาดูมูลค่าตลาดกัน ซึ่งปี 2564 เม็ดเงินสะพัดกว่า 1.447 แสนล้านบาท เจาะลึกแต่ละหมวดผลิตภัณฑ์พบว่า กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ(สกินแคร์)ยังครองสัดส่วนตลาดสูงสุดที่ 57.5 % ตามด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม 21% กลุ่มผลิตภัณฑ์สีสัน(เมกอัพ) 15.5% และกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำหอมสัดส่วน 6%
ปี 2565 ตลาดสินค้าความงามกลับมาเติบโต ขานรับการเปิดประเทศ ผู้คนเริ่มกลับไปใช้ชีวิตปกติ โดยเฉพาะ ออกนอกบ้าน ทำงาน การกลับมา “แต่งเสริมเติมสวย” ปลุกสีสันสร้างชีวิตชีวาของบรรดาสาวๆจึงเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ดังนั้นการทำตลาดของลอรีอัล ประเทศไทย จึงเดินหมากรบเต็มสูบเพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัทในปีนี้และปีต่อไปอย่างแข็งแกร่ง “อินเนส” จึงย้ำว่า บริษัทมุ่งมั่นนำเสนอนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการผ่านการค้นคว้าวิจัยและการพัฒนานวัตกรรม พร้อมเดินหน้ายกระดับเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อตอกย้ำการเป็นผู้นำด้าน “Beauty Tech” อย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบัน ลอรีอัล ประเทศไทย มีนวัตกรรมความงามด้าน Beauty Tech มากกว่า 12 นวัตกรรม
“บริษัทยังคงนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาให้ผู้บริโภคชาวไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านผิวหนัง เส้นผม และเมกอัพ”
เมื่อการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคนับเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจของลอรีอัล ทำให้บริษัททุ่มเททั้งงบประมาณและทรัพยากรให้กับงานด้านการค้นคว้าวิจัย และการพัฒนานวัตกรรม 3 ด้าน ได้แก่ 1. รังสรรค์สูตรผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยี AI 2. ประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์เพื่อสิ่งแวดล้อม และ 3.ลงทุนในการสร้างพันธมิตรด้านขุมพลังแห่งข้อมูลหรือ Data ในบริษัทแนวหน้า โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยในการกำหนดอนาคตอุตสาหกรรมความงาม และตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคทั่วโลก
มีนวัตกรรม จะขาด “ผลิตภัณฑ์ใหม่” คงไม่ได้ ท่ามกลางแนวโน้มตลาดฟื้นตัว บริษัทยังเดินหน้าส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ “ในราคาที่หลากหลาย" ทุกหมวดหมู่และทุกช่องทาง เพื่อตอบสนองความต้องการและไลฟ์สไตล์ด้านความงามของผู้บริโภคทุกคน เช่น แบรนด์เซราวี (CeraVe) เคเรสตาส (Kérastase) ลอรีอัล โปรเฟสชั่นแนล (L’Oréal Professionnel) อีฟส์ แซงต์ โลรองต์ (Yves Saint Laurent) และ คีลส์ (Kiehl’s)
“สาวกความงามชาวไทยจะมีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นนี้ไม่แพ้ตลาดใดในโลกอย่างแน่นอน ซึ่งปีนี้จะมีแบรนด์ชั้นนำมากมายที่พร้อมตบเท้าเข้ามาสร้างความตื่นเต้นและครองใจผู้บริโภค”
ส่วนกลยุทธ์การทำตลาด จะยึด 59 ช่องทางโซเชียลมีเดีย ประกาศศักดาให้ 15 แบรนด์ชั้น เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย สร้างประสบการณ์ร่วมกับแบรนด์ ที่สำคัญได้ระดัมทัพแคมเปญการตลาดกว่า กว่า 500 แคมเปญ เพื่อสร้างปรากฏการณ์ให้อุตสาหกรรมความงามตื่นเต้น คึกคักอีกครั้งเช่นกัน
อินเนส คาลไดรา
“ยุคหลังวิกฤตโควิด 19 ทุกองค์กรต้องพร้อมรับมือกับทุกความท้าทายที่เข้ามา ความว่องไวในการปรับตัวและการไม่หยุดนิ่งที่จะก้าวไปข้างหน้านับเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยให้บริษัทเติบโตธุรกิจได้ในระยะยาว ซึ่งลอรีอัลมีความพร้อมสำหรับช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นนี้ และจะเดินหน้าเต็มกำลังในการเป็นผู้นำด้าน Beauty Tech ของประเทศไทย เราจะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ดี เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจและอุตสาหกรรมความงามไปพร้อมๆ กับผลักดันด้านความยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายของลอรีอัลในการสร้างสรรค์ความงามที่ขับเคลื่อนโลก”
อย่างไรก็ตาม ปี 2564 ถือเป็นปีแห่งประวัติศาสตร์ของลอรีอัล กรุ๊ป โดยตลาดในประเทศไทย สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดที่สูงขึ้น และท่ามกลางวิกฤตโควิด 19 ที่ถาโถมพร้อมกับกระแสดิจิทัล จึงเดินหน้าเปลี่ยนแปลงองค์กรและปรับเปลี่ยนทิศทางในการดำเนินธุรกิจให้ก้าวล้ำตลาด ตลอดจนปฏิวัติวงการความงามอย่างไม่หยุดยั้ง รวมถึงสร้างผลงานการเติบโตสวนทางตลาดโดยกลุ่มที่โดดเด่นยกให้แผนกผลิตภัณฑ์เวชสำอาง “เติบโต 2 เท่า” ในช่วงเกือบ 3 ปี การทำยอดขายเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มตลาดอีคอมเมิร์ซ เป็นต้น