สมรภูมิคริปโทฯ ไทยระอุ! ยักษ์ใหญ่ “ไบแนนซ์-คอยน์เบส” บุก
“ตลาดคริปโทเคอร์เรนซี” เมืองไทยกำลังบูมสุดๆ หลังในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา คนไทยแห่เทรดคริปโทฯ กันคึกคัก ทั้งนักลงทุนหน้าเก่าที่มีประสบการณ์ลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ อยู่แล้ว
รวมทั้ง นักลงทุนหน้าใหม่ที่กระโดดเข้าสู่โลกการลงทุนเป็นครั้งแรก จนทำให้ทุกวันนี้ “สินทรัพย์ดิจิทัล” กลายเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ยอดนิยมของคนไทยไปแล้ว
โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ล่าสุด เดือนพ.ค. ที่ผ่านมา พบว่า มีคนไทยที่เปิดบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลกับแพลตฟอร์มที่ได้รับไลเซนส์จาก ก.ล.ต. รวมกว่า 2.85 ล้านบัญชี ซึ่งแน่นอนว่าหากรวมกับนักลงทุนที่เทรดกับแพลตฟอร์มต่างชาติซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต. ตัวเลขย่อมมากกว่านี้
จำนวนบัญชีซื้อขายคริปโทฯ เพิ่มขึ้นเร็วมากๆ เพราะเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นไทยที่กำลังเข้าสู่ปีที่ 48 ปี แต่ปัจจุบันยังมีจำนวนบัญชีซื้อขายแค่กว่า 5 ล้านบัญชีเท่านั้น
ทั้งนี้ จากบัญชีคริปโทฯ 2.85 ล้านบัญชี มีคนไทยที่เทรดคริปโทฯ อย่างสม่ำเสมอราวๆ 5 แสนบัญชี โดยในเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 1.06 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเดือนเม.ย. อยู่ที่ 1.36 แสนล้านบาท หลังตลาดเริ่มมีการปรับฐาน
เมื่อคนไทยแห่เทรดคริปโทฯ ยิ่งดึงดูดให้ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศตบเท้าเข้ามาทำธุรกิจอย่างคึกคัก โดยปัจจุบันเจ้าตลาดที่ครองมาร์เก็ตแชร์เบอร์ 1 ตกเป็นของ “บิทคับ” แพลตฟอร์มของคนไทย แถมยังทิ้งห่างรายอื่นๆ หลายเท่าตัว
โดยเมื่อช่วงต้นปีผู้บริหารเคยให้ข้อมูลไว้ว่า ในปี 2564 บิทคับมีมูลค่าการซื้อขายรวมกว่า 1 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 98% ของวอลุ่มทั้งตลาด ด้วยจำนวนลูกค้ากว่า 3.4 ล้านบัญชี
แม้ปัจจุบันบิทคับดูได้เปรียบคู่แข่งรายอื่นในทุกๆ ด้าน แต่แน่นอนว่าในการทำธุรกิจคงไม่มีใครอยากย่ำอยู่กับที่ ยิ่งในอุตสาหกรรมที่ยังมีโอกาสมหาศาลเช่นนี้ จนเป็นที่มาของบิ๊กดีลที่เรียกเสียงฮือฮาไปทั้งประเทศ หลังกลุ่มไทยพาณิชย์ หรือ เอสซีบี เอกซ์ ประกาศทุ่มเงินลงทุนกว่า 1.78 หมื่นล้านบาท เข้าซื้อบิทคับพาขึ้นยานแม่ไปด้วยกัน
โดยจะให้บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด เข้าซื้อหุ้น 51% ในบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด จากบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งดีลนี้ดูแล้วน่าจะ “วิน-วิน” ทั้งคู่ เพราะเอสซีบี เอกซ์ คงเห็นแล้วว่าธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมาแน่นอน ดังนั้นการได้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดูแล น่าจะง่ายกว่าไม่ต้องเริ่มเองตั้งแต่ต้น
เมื่อบิทคับมาอยู่ภายใต้ยานแม่ที่แข็งแกร่ง แถมกระเป๋าหนัก น่าจะสบายใจได้ หากต้องมีการขยายการลงทุนใหม่ๆ ในอนาคต แถมยังมีโอกาสต่อยอดจากฐานลูกค้าของกลุ่มไทยพาณิชย์ได้อีกมาก
แต่ต้องยอมรับว่าดีลนี้ดูเงียบๆ ไป ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรออกมา แถมยังมีกระแสข่าวลือสารพัด ซึ่งสุดท้ายแล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไรต้องรอติดตาม แต่ลึกๆ แล้วไม่น่ามีอะไรพลิกล็อค
ขยับมาดูอีกหนึ่งกลุ่ม “ซิปเม็กซ์” ซึ่งปัจจุบันมีฐานธุรกิจอยู่ในหลายประเทศ ทั้งสิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ออสเตรเลีย รวมทั้งในประเทศไทยของเรา โดยได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัลจากก.ล.ต.
ปัจจุบันซิปเม็กซ์เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่กำลังมาแรง แถมรุกทำการตลาดอย่างเต็มสูบ ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ หนุนให้จำนวนลูกค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนครองมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับ 2 ด้วยจำนวนลูกค้ากว่า 5 แสนบัญชีที่ผ่านการยืนยันตัวตนแล้ว
การจะไล่ตามเบอร์ 1 ให้ทัน ซิปเม็กซ์ต้องหาหมัดเด็ดมาสู้ โดยเฉพาะการหาพันธมิตรเข้ามาช่วย ซึ่งที่ผ่านมามีโอกาสพูดคุยกับหลายๆ กลุ่ม ทั้งคอยน์เบส (Coinbase) ไบแนนซ์ (Binance) เอฟทีเอ็กซ์ (FTX) ฯลฯ
แต่ที่ดูแล้วน่าจะเป็นจริงมากที่สุด คือ คอยน์เบส แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทฯ เบอร์ 1 ของสหรัฐ ซึ่งมีกระแสข่าวสะพัดว่าเตรียมเข้าลงทุนในกลุ่มซิปเม็กซ์ มูลค่า 40 ล้านดอลลาร์ หลังซิปเม็กซ์อยู่ระหว่างการระดมทุน Series B+
ด้านเบอร์ 1 ของโลก “ไบแนนซ์” เตรียมรุกตลาดไทยเช่นกัน โดยการมารอบนี้ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะได้กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ “กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี” ของ “เสี่ยกลาง” สารัชถ์ รัตนาวะดี แชมป์เศรษฐีหุ้นไทย 3 ปีติด ที่ขอกระโดดจากธุรกิจพลังงาน เข้าสู่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามาเป็นพันธมิตรคู่บุญ
ด้วยจุดแข็งฐานทุนที่แข็งแกร่ง แถมมีฐานลูกค้ารองรับกว่า 46 ล้านคน ผ่านการถือหุ้นทางอ้อมของกัลฟ์ใน “เอไอเอส” และยิ่งได้ไบแนนซ์เข้ามาช่วยงานนี้ไม่ธรรมดาแน่นอน
ส่วนตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ยอมน้อยหน้า ตั้งบริษัท ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย จำกัด หรือ TDX เตรียมพร้อมไว้แล้ว โดยได้รับไลเซนส์ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมาเป็นที่เรียบร้อย รอวันคิกออฟธุรกิจอย่างเป็นทางการ
เชื่อว่านับจากนี้การแข่งขันจะยิ่งร้อนระอุขึ้นเรื่อยๆ เมื่อยักษ์ใหญ่เร่งเสริมทัพ รายที่เหลือก็ต้องเร่งปรับตัว แต่สุดท้ายแล้วคนที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุด คือ นักลงทุน