คลังสรุปสัปดาห์หน้ามาตรการลดค่าครองชีพคนจน

คลังสรุปสัปดาห์หน้ามาตรการลดค่าครองชีพคนจน

คลังเร่งหารือสภาพัฒน์คลอดมาตรการลดค่าครองชีพคนจน โดยจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้า ขณะที่ ส่งสัญญาณชะลอ”คนละครึ่งเฟส 5” ชี้ติดข้อจำกัดเรื่องเม็ดเงิน ระบุ ระยะต่อไปจะต้องออกมาตรการดูแลให้ถูกฝาถูกตัว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง กำลังพิจารณามาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานและโควิด โดยร่วมหารือกับสภาพัฒน์ คาดได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้รับโจทย์จาก นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้พิจารณามาตรการช่วยเหลือประชาชน โดยแนวทางจะเป็นการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และผู้ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงาน จะไม่ใช่มาตรการที่ช่วยเหลือเป็นการทั่วไป

"ช่วงที่โดนโควิดกระทบ ก็มีผลต่อกำลังซื้อ แต่เรื่องน้ำมันรายได้ยังมี แต่กำลังในการเติมน้ำนั้นน้อยลง จึงอยากช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มประชาชนฐานราก อย่างกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ จะดูว่า จะสามารถช่วยเหลือต่อไปได้อย่างไรบ้าง เช่น เป็นการลดค่าใช้จ่าย แต่จะต้องเป็นวินมอเตอร์ไซค์ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก ดังนั้น มาตรการที่เหวี่ยงแหแบบทั่วไปก็คงลดน้อยลง"

ส่วนโครงการคนละครึ่งเฟส 5 นั้น จะต้องพิจารณาในเรื่องของเม็ดเงิน ซึ่งจะไม่ได้ดำเนินการด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่ใช้งบจากเงินพ.ร.ก.กู้เงิน ซึ่งการกู้เงินก็มีเหตุผลที่จะต้องกู้มาเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ซึ่งก็สามารถทำได้

อย่างไรก็ดี เมื่อเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวกลับมา ความจำเป็นในการออกมาตรการในลักษณะนี้ อาจจะลดน้อยลงไป เพราะโครงการนี้ เป็นการช่วยเหลือคนทุกกลุ่ม รวมทั้ง ในกลุ่มบัตรคนจนด้วย ซึ่งใช้งบประมาณค่อนข้างมาก

"ความจำเป็นที่จะใช้มาตรการในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นกลับเข้ามา จะต้องเน้นทำให้ถูกฝาถูกตัวมากขึ้น เพราะทุกประเทศก็ต้องดูรายได้ของรัฐบาล จะใช้จ่ายเหมือนเดิมไม่ได้ ซึ่งพ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท มีวงเงินเหลืออยู่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท อาจจะไม่เพียงพอ เพราะการใช้งบประมาณในการออกมาตรการแต่ละครั้ง 3-5 หมื่นล้านบาท"

เขาระบุด้วยว่า ขณะนี้ เราต้องปรับทางด้านนโยบายการคลังให้เข้าสู่ภาวะปกติ เพราะเรารับหนี้เข้ามาจากพ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 2 ฉบับกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งมีการพูดถึงมาโดยตลอดว่า เมื่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น จะมีแนวทางหารายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งเป็นโจทย์ของกระทรวงการคลัง

“ในวงเงินกู้ทั้งหมดนั้น เราได้นำใช้เพื่อเยียวยาถึง 6.6 แสนล้านบาท ซึ่งในแง่ภาครัฐก็ช่วยเหลือจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเยียวยาผู้อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33, 39, และ 40 ที่เป็นอาชีพอิสระ ฉะนั้น ในระยะต่อไปจะต้องหารายได้เพิ่มขึ้น”