ผู้ว่าธปท. ส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ผู้ว่าแบงก์ชาติ ยอมรับกังวลปัญหาเงินเฟ้อฉุดเศรษฐกิจ ส่งสัญญาณชัดจ่อปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ชี้ถึงเวลาต้องค่อยๆ ถอนคันเร่งแล้ว หากไม่ทำอะไรเลย ผลกระทบเงินเฟ้อจะหนักกว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ย
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “สร้างภูมิคุ้มกันประเทศไทย” ที่จัดขึ้นโดยสำนักข่าว Thaipubilca วานนี้(13 มิ.ย.)ว่า สถานการณ์ปัจจุบัน เศรษฐกิจไทย มีการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น โดยคาดการณ์ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 3.3% และปีหน้าที่ 4.2% ซึ่งถือว่าเป็นระดับเท่าหรือสูงกว่าศักยภาพของเศรษฐกิจไทย ดังนั้นคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปฟื้นตัวใกล้เคียงกับระดับก่อนโควิด-19 ได้ราวปลายปีนี้ หรือต้นปี 2566
ดังนั้นในด้านความเสี่ยง หรือ Balance of risk จากเศรษฐกิจไทย ถือว่าน้อยกว่าเดิม แต่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นชัดเจน
ปัจจุบัน เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ได้ปรับเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 6.2% จาก 4.9% และทิศทางเงินเฟ้อมีทิศทางขยายวงกว้างมากขึ้น และเริ่มส่งไปสู่หมวดสินค้าต่างๆ เพิ่มขึ้น
ผู้ว่าธปท. กล่าวว่า โจทย์ของการดำเนินนโยบายการเงินคือ ต้องทำอย่างไรให้การฟื้นตัวไปได้ อย่างไม่สะดุด และทำให้เกิดความต่อเนื่อง ดังนั้นหากไม่ได้ดูแลเรื่องเงินเฟ้อ เศรษฐกิจไทยอาจไม่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และทำให้การฟื้นตัวสะดุดได้
ดังนั้นหน้าที่ของธนาคารกลางคือ ต้องไม่ทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติดจนเกินไป หรือหลุดกรอบ จนส่งผลกระทบไปสู่เงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้น กระทบต่อเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นไปอีก ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ย จะช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อตรงไหนนี้ ซึ่งเป็นกลไกปกติที่ธนาคารทั่วโลกใช้ดูแลเงินเฟ้อ นโยบายการเงินจึงต้องปรับโหมดเข้า Normalization หรือการปรับดอกเบี้ย
“หากดูการดำเนินนโยบายการเงินของไทยปัจจุบัน ถือว่าผ่อนปรนมาก และผ่อนเป็นเวลานาน ดอกเบี้ยของไทยถือว่าต่ำสุดในภูมิภาค แต่ในมุมของเงินเฟ้อ ไทยถือว่าติดอันดับท็อปๆ ของภูมิภาค ดังนั้นที่ผ่านมาถือว่าผ่อนปรนมาก” แย้มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป
ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ส่วนจะปรับขึ้นเมื่อไหร่นั้น ต้องดูบริบทเศรษฐกิจ แต่มองว่า หากขึ้นช้าเกินไปไม่ดี และการปรับขึ้นดอกเบี้ย จะต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป
“เหตุผลที่บอกว่าทำช้าเกินไปไม่ดี เพราะหากคอยนานเกินไป ปล่อยให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด อาจต้องเหยียบเบรกแรงขึ้น ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยอย่าช้าเกินไป เพื่อที่จะไม่ต้องทำแรงเกินไป”
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ยังมีผลทำให้ต้นทุนการกู้ยืมต่างปรับตัวลดลง โดยเฉพาะการกู้ของธุรกิจรายใหญ่ ที่ปัจจุบันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสู่ 6.2% แต่ต้นทุนการกู้ของธุรกิจติดลบถึง 5% ซึ่งต่ำลงต่อเนื่อง ดังนั้นโจทย์ของการดำเนินนโยบายการเงินคือ ต้องทำให้ Smooth takeoff ต้องค่อยๆ ถอนคันเร่ง การดำเนินนโยบายการเงินต้องค่อยเป็นค่อยไป และไม่ทำแรงจนเกินไป
“การขึ้นดอกเบี้ย เราไม่ได้มีเป้า Set ไว้ในใจ ว่าต้องขึ้นกี่ครั้ง ขึ้นแค่ไหน ขึ้นต่อเนื่องหรือไม่ ต้องดูที่บริบทเศรษฐกิจไทย"
ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ที่ผ่านมานโยบายการเงินผ่อนคลายมาก และการที่เงินเฟ้อมากขึ้น ทำให้การผ่อนคลายมากขึ้นไปใหญ่ ดังนั้นการที่ลดคันเร่งตรงนี้มีความจำเป็น แต่ไม่ใช่การแตะเบรก แต่เป็นการลดคันเร่ง จากที่ผ่านมาเหยียบเต็มที่ และเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนการกู้ยืมธุรกิจยิ่งผ่อนคลายไปใหญ่ สื่อถึงความจำเป็นที่ควรต้องเร่งลดคันเร่ง เพราะถ้าปล่อยไป แล้วเครื่องยนต์เงินเฟ้อติด คนที่จะเสียที่สุดคือ ประชาชน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มรายได้น้อย รับผลกระทบแต่น้อยกว่าเงินเฟ้อ 7 เท่า
อย่างไรก็ตามผลกระทบ จากการปรับขึ้นดอกเบี้ย จะส่งผลทำให้ต้นทุนประชาชนเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่หากไม่ทำอะไร ยิ่งกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย อีกทั้งการขึ้นดอกเบี้ยมีน้อยกว่า ผลกระทบจากต้นทุนเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งต่างกันถึง 7 เท่า
ส่วนมาตรการทางการเงินวันนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เชื่อว่ามีเพียงพอในการดูแลประชาชน จากต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะสิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้คือ การจัดการ และทำให้มาตรการที่มีอยู่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ หากดูแล้วไม่เพียงพอ ธปท.ก็พร้อมออกมาตรการทางการเงินเพิ่มเติม
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์