การรถไฟฯ โต้ ‘กรมที่ดิน’ ตีความกฎหมาย และคำพิพากษาปม ‘เขากระโดง’
การรถไฟฯ โต้ “กรมที่ดิน” ตีความกฎหมาย และผลของคำพิพากษา ปมข้อพิพาท “เขากระโดง” พร้อมเร่งพิจารณาข้อโต้แย้งสอบมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการตีความทางกฎหมาย และคำพิพากษาของศาล คำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินทับซ้อนเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยวันนี้ (6 ม.ค.2568) ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดิน ระบุว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนช่องทางต่างๆ เกี่ยวกับกรมที่ดินได้ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2567 กรณีได้ชี้แจงข้อเท็จจริงถึงการดำเนินการของ กรมที่ดิน เกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง นั้น
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีความเห็นว่า ข้อมูลตามแถลงการณ์ดังกล่าวคลาดเคลื่อน จากข้อเท็จจริงทั้งในแง่ของการตีความกฎหมาย และผลของคำพิพากษาของศาล เพื่อเป็นการรักษา และสงวนไว้ ซึ่งความเป็นเจ้าของสิทธิที่ดินที่เป็นข้อพิพาทของ รฟท. รฟท.ขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
1.ประเด็นที่กรมที่ดินอ้างว่าได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ทั้งสามคดีครบถ้วนแล้ว นั้น
รฟท. เห็นว่า แม้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842 - 876/2560 ข้อพิพาทแห่งคดีจะเป็นเรื่องที่ รฟท. คัดค้านการออกโฉนดที่ดินจำนวน 40 แปลงของราษฎรจำนวน 35 ราย ซึ่งภายหลังที่ ศาลฎีกา
มีคำพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของ รฟท. กรมที่ดินได้ยกเลิกการออกโฉนด และยกเลิกใบไต่สวน และจำหน่าย ส.ค.1 ออกจากทะเบียนครอบครองที่ดินแล้วก็ตาม แต่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินของ รฟท. มิใช่เฉพาะที่ดินพิพาท 40 แปลงข้างต้นเท่านั้น แต่วินิจฉัยครอบคลุมถึงที่ดินตามแผนที่แสดง
เขตที่ดินที่ รฟท. ได้ยื่นต่อศาลด้วย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 5,083 ไร่เศษ
เช่นเดียวกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขแดงที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 คำวินิจฉัยของศาลก็ได้วินิจฉัยถึงแนวเขตที่ดินของ รฟท. มิใช่เฉพาะเพียงแค่ที่ดินซึ่งเป็นข้อพิพาทในคดีดังกล่าวเท่านั้น แต่วินิจฉัยรวมถึงแนวเขตที่ดินของ รฟท. ตามแผนที่ ที่กรมรถไฟแผ่นดินทำขึ้น (เอกสารหมาย จ.7 ในคดีดังกล่าวด้วย) ดังนั้น เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกา และศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นการวินิจฉัยเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินของ รฟท. และผลปรากฏว่ากรมที่ดินได้ออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินทับซ้อนกับที่ดินของ รฟท. นอกเหนือไปจากที่ดินตามข้อพิพาทแห่งคดีด้วยแล้ว คำพิพากษาดังกล่าวย่อมใช้ยันกรมที่ดิน และผู้ถือเอกสารสิทธิในที่ดินทุกแปลงด้วย
เมื่อ รฟท. ได้ขอให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินในบริเวณดังกล่าว ย่อมเป็นหน้าที่ของกรมที่ดินที่จะต้องดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 เพื่อดำเนินการเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด แต่กรมที่ดินละเลยการปฏิบัติหน้าที่จน รฟท. ต้องไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางและศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้กรมที่ดินดำเนินการดังกล่าว
ดังนั้น ที่กรมที่ดินอ้างว่าคำพิพากษาของศาลฎีกา และศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่สามารถนำไปใช้ยันกับผู้ครอบครองที่ดินแปลงอื่นๆ ได้นั้น จึงคลาดเคลื่อน และไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะกรมที่ดินซึ่งเป็นผู้ออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดิน เมื่อคำพิพากษาได้วินิจฉัยชัดเจนเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ของ รฟท. ย่อมถือว่ามีความปรากฏว่าเป็นการออกเอกสารแสดงสิทธิที่ดินโดยคลาดเคลื่อน และไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะออกทับซ้อนที่ดินของ รฟท. จึงเป็นหน้าที่ของกรมที่ดินต้องดำเนินการเพื่อเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวทั้งหมด
เมื่อดำเนินการเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินแล้วก็เป็นหน้าที่ของผู้ครอบครองที่ดินต้องใช้สิทธิพิสูจน์ว่าตนเองมีสิทธิในที่ดินดีกว่า รฟท. อย่างไร ซึ่งสอดคล้องกับคำพิพากษาศาลปกครองกลางคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 ที่ รฟท. ยื่นฟ้องกรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดินซึ่งศาลได้มีคำวินิจฉัยยืนยันความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินของ รฟท. มิใช่เพียงแค่ที่ดินพิพาทในคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกา และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ทั้ง 3 คดีเท่านั้น
โดยคำพิพากษาตอนหนึ่งระบุว่า “แม้ในคำพิพากษาของศาลฎีกาทั้งสองคดี และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะไม่ได้วินิจฉัยให้เพิกถอนที่ดินแปลงอื่นๆ นอกเหนือจากที่ปรากฏเป็นข้อพิพาทในคดีก็ตาม แต่คำพิพากษาดังกล่าวก็ได้วินิจฉัยอย่างชัดแจ้งถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงสามารถใช้ยันบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่า อีกทั้งที่ดินบริเวณที่ศาลมีคำพิพากษากล่าวอ้างถึงฐานะเป็นที่ดินของรัฐที่สามารถใช้จัดทำบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนทั่วไปได้ หาใช่มีผลผูกพันเฉพาะแต่คู่ความในคดีตามมาตรา ๑๔๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างแต่อย่างใดไม่“
2.กรณีที่กรมที่ดินอ้างว่าได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว ส่วนการพิจารณาข้อเท็จจริงว่าจะเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินหรือไม่ เป็นดุลพินิจของอธิบดีกรมที่ดิน นั้น
รฟท. ขอชี้แจงว่า แม้การพิจารณาว่าจะเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินหรือไม่จะเป็นดุลพินิจของอธิบดีกรมที่ดินก็ตาม แต่การใช้ดุลพินิจของอธิบดีกรมที่ดินก็ต้องอยู่ในกรอบของข้อเท็จจริง
และข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด และต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้องและเป็นธรรม ซึ่งในเรื่องที่ดินเขากระโดงนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำพิพากษาทั้งของศาลยุติธรรม และศาลปกครองดังกล่าวข้างต้น แล้วว่าที่ดินบริเวณเขากระโดงเป็นที่ดินของ รฟท. และศาลปกครองได้มีข้อสังเกตในการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
โดยให้ รฟท. มีส่วนร่วมในการดำเนินการของคณะกรรมการดังกล่าวด้วย กรณีเช่นนี้จึงทำให้อธิบดีกรมที่ดินมีหน้าที่ต้องทำการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบว่ามีการออกเอกสารสิทธิทับซ้อน กับแนวเขตพื้นที่ ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. หรือไม่ ซึ่งหากมีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินของ รฟท.โดยคลาดเคลื่อน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว อธิบดีกรมที่ดินก็ต้องใช้อำนาจหน้าที่สั่งเพิกถอนหรือแก้ไข โดยในการดำเนินการเช่นว่านี้ทางคณะกรรมการสอบสวนมีอำนาจในการเรียกเอกสารสิทธิที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบ เพื่อให้โอกาสในการคัดค้าน
ดังนั้น การที่อธิบดีกรมที่ดินยุติเรื่องโดยอ้างเหตุว่าเป็นดุลพินิจซึ่งศาลไม่อาจก้าวล่วงได้นั้น กรณีเช่นนี้ย่อมถือว่าเป็นการดำเนินการที่ยังไม่ครบถ้วนตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดไว้ ทั้งยังเป็นการโต้แย้งพยานหลักฐานซึ่งศาลได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดเจนแล้วอีกด้วย
นอกจากนี้ กรณีที่ท่านได้มีคำสั่งตาม ม 61 วรรค 2 ให้ยุติเรื่องลงวันที่ 21 ตุลาคม 2567 ซึ่งต่อมา รฟท. ได้ยื่นหนังสือโต้แย้งคัดค้าน ฉบับลงวันที่ 12 พ.ย. 2567 แต่ขณะนี้ รฟท. ยังไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาจากกรมที่ดินและท่าน ดังนั้น รฟท. จึงขอให้ท่านได้เร่งพิจารณาข้อโต้แย้งของ รฟท. และได้โปรดดำเนินการตามกฎหมายให้เป็นไปโดย ครบถ้วน และถูกต้องต่อไป
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์