เทรนด์ทักษะอนาคตปี 2025 คาดเกิด Talent War สงครามแย่งชิงแรงงานทักษะสูง
เทรนด์ทักษะอนาคตปี 2025 คาดการณ์ว่าจะเกิด Talent War สงครามแย่งชิงแรงงานทักษะสูง รวบดึง 3 กลุ่มสกิลวัยทำงานต้องมี! ด้านแรงงานไทยผลสำรวจพบลงเรียนออนไลน์อัปสกิลเพิ่มขึ้น เรียนจนจบคอร์สสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก
KEY
POINTS
- FutureSkill เผยเทรนด์ทักษะอนาคตปี 2025 จะเกิด Talent War สงครามแย่งชิงแรงงานทักษะสูง องค์กรต้องปรับตัวเพื่อรักษาพนักงานไว้ ขณะที่แรงงานไทยปรับตัวอัปสกิลให้ตัวเองมากขึ้น
- วัยทำงานชาวไทยลงเรียนออนไลน์จนจบหลักสูตรสูงถึง 48% มากกว่าค่าเฉลี่ยโลก ใช้เวลาเรียนเฉลี่ยเกือบ 4 ชม./เดือน ส่วนใหญ่เรียนคอร์ส AI & Data ขณะที่ ‘เขียนนิยายออนไลน์’ ติด 1 ใน 5 คอร์สเรียนสุดฮิตในปี 2024
- รวบดึง 3 กลุ่มทักษะที่วัยทำงานยุคใหม่ต้องมี! ได้แก่ Job Specific Skill เช่น ความรู้พื้นฐานที่จำเป็นกับสายอาชีพนั้นๆ, Power and Innovation Skill, Digital and Technology Skill
ในแต่ละปีจะมีการรายงานเทรนด์ความเคลื่อนไหวของโลกในมิติต่างๆ โดยแหล่งข้อมูลส่วนใหญ่มักจะมาจากหน่วยงานด้านวิจัย และสถิติหลายแห่งระดับโลก แต่บางครั้งข้อมูลเหล่านั้นก็อาจไม่สอดคล้องกับบริบทของเมืองไทยเท่าไรนัก ล่าสุด.. ประเทศไทยก็มีการจัดทำรายงานเทรนด์โลกอนาคตขึ้นมาเช่นกัน
โดยความร่วมมือจากองค์กรชั้นนำด้านเทรนด์ และข้อมูลเชิงสถิติต่างๆ มากถึง 15 องค์กร ซึ่งได้รวบรวมเอาเทรนด์สำคัญ 62 เทรนด์ จาก 13 หมวดหมู่มานำเสนอผ่านหนังสือที่ชื่อว่า “Future Trends Ahead 2025 Presented by SCBX” ที่เพิ่งจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา โดยหนึ่งในกลุ่มเทรนด์สำคัญก็คือ “ทักษะอนาคตของการทำงาน ปี 2025”
โอชวิน จิรโสตติกุล ซีอีโอและผู้ก่อตั้งของ FutureSkill ได้เปิดเผยข้อมูลน่าสนใจบางส่วนของเทรนด์ทักษะการทำงานอนาคต ซึ่งเป็น 1 ใน 13 กลุ่มเทรนด์จากหนังสือเล่มดังกล่าว โดยระบุว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาวัยทำงานชาวไทยมีการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดโลกการทำงานมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผ่านการลงเรียนคอร์สออนไลน์ต่างๆ เพื่อเพิ่มทักษะการทำงานให้แก่ตนเอง
แรงงานไทยเรียนออนไลน์มากขึ้น โดย 50% เรียนเพื่ออัปสกิลอาชีพปัจจุบัน
จากการสำรวจผู้ใช้งาน FutureSkill จำนวนหลายหมื่นคน พบพฤติกรรมและเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้คนไทยสนใจลงเรียนคอร์สออนไลน์มากขึ้นในยุคนี้เป็นเพราะ 1.อยากอัปเดตความรู้ใหม่ๆ ให้ตนเอง 2.อยากนำความรู้ไปใช้ในธุรกิจส่วนตัว และ 3. อยากอัปสกิลการทำงานของตนเองสู่ Advanced Skill หรือทักษะขั้นสูง
นอกจากนี้เมื่อแบ่งตามกลุ่มประเภทของผู้เรียนก็พบว่า ส่วนใหญ่ 50% เป็นกลุ่มวัยทำงานออฟฟิศที่เน้นเรียนเพิ่มทักษะเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ ทบทวนความรู้ใช้ทำงาน พัฒนางานของตัวเอง ถัดมา 35% เป็นกลุ่มผู้เรียนที่เรียนเพื่อค้นหาโอกาสใหม่ในทักษะที่ไม่เคยมี อยากค้นหาตัวเอง ลองเรียนดูว่าตนเองชอบไหม ขณะที่ผู้เรียน 10% เป็นกลุ่มที่ลงเรียนออนไลน์เพื่อเปลี่ยนสายงานอย่างจริงจัง และสุดท้าย 5% เป็นกลุ่มที่เรียนเพื่อเติมเต็มความสนใจส่วนตัว เป็นเหมือนงานอดิเรก
โดยเฉพาะในปี 2024 ที่ผ่านมา ผลสำรวจยังพบอีกว่า คนไทยลงเรียนออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าวในวิชาเกี่ยวกับ AI & Data มากที่สุด รองลงมาคือ เรียนสกิลใหม่ๆ อย่างการเขียน, การเล่าเรื่อง เพื่อเอาไปต่อยอดเป็นอาชีพเสริม โดยคอร์สเรียนสุดฮิต 5 อันดับที่คนไทยนิยมเรียนมากที่สุด ได้แก่
อันดับ 1: เจาะลึกการใช้ Excel เพื่อธุรกิจแบบมืออาชีพ
อันดับ 2: มารู้จักกับ Microsoft 365 Copilot ผู้ช่วย AI ในการทำงาน
อันดับ 3: จัดการฐานข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพด้วย SQL Command
อันดับ 4: เรียนรู้เทคนิคการเขียนนิยายออนไลน์ สร้างรายได้แบบมืออาชีพทันที
อันดับ 5: Upskill Python Programming เส้นทางสู่ Developer
ในอนาคตอันใกล้คาดว่าทักษะการใช้งาน AI จะกลายเป็นทักษะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการทำงานในทุกสาขาอาชีพ อย่างไรก็ตาม ยังพบข้อมูลอินไซด์ที่น่าสนใจอีกอย่างว่า คนไทยเรียนคอร์สออนไลน์จนจบหลักสูตรสูงถึง 48% ซึ่งถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกซึ่งอยู่ที่ประมาณ 12.6% เท่านั้น โดยใช้เวลาในการเรียนเฉลี่ย 3 ชั่วโมงครึ่งถึงเกือบๆ 4 ชั่วโมงต่อเดือน จากข้อมูลนี้ทำให้หักล้างภาพจำเดิมๆ ที่ว่าคนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ หรือใช้เวลาในการเรียนรู้น้อย ซึ่งภาพเหล่านั้นกำลังเปลี่ยนไปแล้วในยุคนี้
ในขณะที่เทรนด์การเรียนรู้ทักษะในปี 2025 พบว่า AI จะเข้ามามีบทบาทช่วยให้วัยทำงานเรียนรู้เพิ่มพูนทักษะได้รวดเร็วขึ้น สร้างประสบการณ์การเรียนที่เหมาะกับแต่ละคน เช่น Personal Tutor AI ทำหน้าที่เป็นติวเตอร์ส่วนตัวอยู่เคียงข้างผู้เรียนตลอด 24 ชั่วโมง
ปี 2025 คาดว่าจะเกิด “Talent War สนามรบแห่งการแย่งชิงคนเก่ง”
ไม่ใช่แค่เทรนด์การปรับตัวของวัยทำงานที่หันมาเพิ่มพูนทักษะมากขึ้นเท่านั้น แต่ในมุมการจ้างงานของบริษัทเอง ก็กำลังเกิดเทรนด์ใหม่เช่นกัน โดยในปี 2025 และในอนาคตต่อไปจะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “Talent War สนามรบแห่งการแย่งชิงคนเก่ง” ตลาดงานจะเกิดการแย่งแรงงานทักษะสูงอย่างดุเดือด แต่ละบริษัทก็อยากดึงคนเก่งๆ มาร่วมงานด้วย และอยากรักษาพนักงานเดิมเอาไว้ จึงนำมาสู่เทรนด์ “Skill-based Organization” องค์กรจะอยู่รอดได้ต้องเอาพนักงาน และทักษะของพนักงานเป็นตัวตั้ง (ไม่ใช่เอาเนื้องานเป็นตัวตั้งเหมือนในอดีต)
ยืนยันจากผลสำรวจของ Deloitte ที่รายงานว่า 66% ของพนักงานอยากจะอยู่กับบริษัทที่ให้คุณค่าทักษะ และศักยภาพของพวกเขามากกว่าให้ความสำคัญกับวุฒิการศึกษาหรือตำแหน่งงาน โดยการทำงานในปัจจุบันมีความยืดหยุ่น และข้ามสายงานมากขึ้น ทำให้กรอบตำแหน่งงานแบบเดิมไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป และการศึกษายังพบด้วยว่าองค์กรที่ปรับตัวสู่การเป็น Skill-Based Organization สามารถสร้างผลลัพธ์ได้ดีกว่าถึง 63% รักษาพนักงานเอาไว้ได้มากกว่า 98% และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ดีกว่า 52%
คำถามคือ.. จะทำอย่างไรให้องค์กรสามารถพัฒนาไปเป็น Skill-Based Organization ได้? บริษัทอาจเริ่มจากการปรับมุมมองใหม่ ‘ทักษะ’ ต้องสำคัญกว่า ‘ตำแหน่ง’ ปรับโครงสร้างองค์กร ลดความสำคัญของสายบังคับบัญชาแบบดั้งเดิม เน้นการทำงานแบบ Project-based และทีมข้ามสายงาน ให้ทีมมีอิสระในการตัดสินใจ รวมถึงพัฒนาระบบ HR ใหม่ ปรับปรุงระบบการสรรหาพนักงานที่เน้นทักษะมากกว่าวุฒิการศึกษา และเก็บข้อมูลทักษะพนักงานให้มากขึ้น โดยต้องรู้ว่าแต่ละเลเวลขององค์กรต้องการพนักงานในทักษะใดบ้าง แล้วจัดระเบียบใหม่ให้สอดคล้องกัน
ในขณะที่วิธีการรักษาคนเก่งเอาไว้ในองค์กรให้ได้นานๆ นั้น พบว่า “การให้โอกาสในการโยกย้ายภายในองค์กร” เป็นกุญแจสำคัญในเรื่องนี้ มีสถิติชี้ชัดว่าพนักงานที่ได้โอกาสหมุนเปลี่ยนงาน มีแนวโน้มอยู่กับองค์กรสูงถึง 75% เทียบกับ 56% ของคนที่ไม่ได้โยกย้าย แสดงให้เห็นว่าการลงทุนในการสร้างโอกาสเหล่านี้คุ้มค่าอย่างยิ่ง
เคสตัวอย่างน่าสนใจคือ Unilever ที่ปฏิวัติการทำงานด้วยการมองทุกตำแหน่งงานให้เป็นชุดของทักษะ ปรับโครงสร้างทั่วองค์กร มีการจัดทำ Learning Academy, มีคลาสอบรม Future fit Leadership Program เน้นให้พนักงานเรียนรู้เรื่องความยั่งยืน และดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่นโดยเฉพาะ, มีการประเมินความสามารถของพนักงาน (เก็บข้อมูลทักษะพนักงาน), มีการหมุนเวียนตำแหน่งงานภายในองค์กร สร้างการทำงานแบบ Agile, ปรับแต่งเส้นทางการเรียนรู้ตามความสามารถ และเป้าหมายอาชีพ ฯลฯ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ Unilever มีการเติบโตทางรายได้ที่ดีกว่าบริษัทคู่แข่ง พนักงานลาออกน้อย และได้รับรางวัลการเป็นองค์กรที่ยั่งยืนระดับโลก
รวบตึง 3 กลุ่มทักษะที่วัยทำงานยุคใหม่ต้องมี!
ถัดมาอีกหนึ่งเทรนด์ทักษะอนาคตที่ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นคือ ทักษะการทำงานที่พนักงานยุคใหม่จำเป็นต้องมี โดย FutureSkill สรุปมาให้เป็น 3 กลุ่มทักษะหลัก ได้แก่
1. Job Specific Skill : พื้นฐานความสำเร็จในอาชีพ
ทักษะการทำงานในแต่ละอาชีพแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ Knowledge Base: ความรู้พื้นฐานที่จำเป็นกับสายอาชีพนั้นๆ เช่น การเล่าเรื่อง การวิจัยข้อมูล ประสบการณ์ผู้ใช้ และจิตวิทยาพฤติกรรม, Foundation Skill: ทักษะการทำงานชั้นพื้นฐาน เช่น นักการตลาดต้องเขียน Copy และเข้าใจ Marketing Funnel เป็นอย่างดี, Expertise Skill: ทักษะเฉพาะทางขั้นสูง เช่น SEO สำหรับผู้เชี่ยวชาญคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง หรือการจัดการ Paid Ads
2. Power and Innovation Skill : พลังขับเคลื่อนองค์กร
นวัตกรรมคือ หัวใจสำคัญของพนักงานยุคใหม่ที่องค์กรต้องการ แต่ไม่ได้จำกัดแค่ทักษะทางเทคโนโลยีเท่านั้น โดยทักษะสำคัญประกอบไปด้วย AI & Big data ทักษะด้านข้อมูล, Critical Thinking การคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ, Creativity ความคิดสร้างสรรค์, Adaptability ความสามารถในการปรับตัว, Collaboration การทำงานร่วมกับผู้อื่น
3. Digital and Technology Skill: เครื่องมือสู่การเปลี่ยนแปลง
ในยุคที่ประเทศไทยกำลังปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลขั้นสูง ซึ่ง Gen AI จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตการทำงานมากขึ้น ดังนั้นทักษะสำคัญที่ต้องเรียนรู้คือ ทักษะ AI ในเครื่องมือต่างๆ ด้านนี้ เช่น Power Apps, Power Automate, Power BI ซึ่งไม่ใช่แค่การใช้งานเป็น แต่ต้องสามารถสร้างโซลูชันใหม่ๆ, เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน, ใช้เครื่องมือ No Code/Low Code ได้, ประยุกต์ใช้ระบบอัตโนมัติทางธุรกิจได้ ฯลฯ
นี่เป็นเพียงบางส่วนของกลุ่มเทรนด์ “ทักษะอนาคตในปี 2025” จากหนังสือเล่มนี้เท่านั้น ยังมีเทรนด์ย่อยของการทำงานในมิติอื่นๆ ในน่าสนใจอีกมากมาย อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคืออนาคตของโลกการทำงานยุคใหม่ จะไม่ใช่แค่เรื่องการจ้างงานหรือค่าตอบแทน แต่เป็นเรื่องของการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะและการเติบโตให้พนักงาน องค์กรที่จะชนะในสงครามนี้ต้องเข้าใจว่า “ทักษะ” คือสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุด
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์