CHAYO-JMT รอช้อน ‘หนี้เสีย’ ทะลักครึ่งปีหลัง
“ชโย” เผย 3 แบงก์ จีบร่วมทุนตั้งบริษัทเอเอ็มซี แจงอยู่ระหว่างทดลองทำโมเดลบริหารหนี้ ร่วมแบงก์ 1 แห่ง คาดตั้งบริษัทได้ ไตรมาส3-4 “เจเอ็มที” ลุ้นจบดีลเจรจาแบงก์เร็วสุดไตรมาส2ปีนี้ เชื่อครึ่งปีหลังแบงก์แห่นำหนี้เสียมาประมูลคึกคัก
นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO กล่าวว่า ล่าสุดมีแบงก์เข้ามาเจรจากับบริษัท 3 ราย เพื่อตั้งบริษัทร่วมทุนเอเอ็มซี หรือเจวีเอ็มซี ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เพื่อเข้าไปบริหารหนี้เสียในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ปัจจุบัน บริษัทได้เข้าไปทดลองทำโมเดลการบริหารหนี้เสีย ร่วมกับ 1แบงก์แล้ว เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมทำเจวีเอเอ็มซีในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนได้ในไตรมาส 3ปีนี้ ซึ่งหากโมเดลการทำธุรกิจร่วมกันมีศักยภาพเชื่อว่า อาจเห็นการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนร่วมกันได้ในปลายไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4ปีนี้
สำหรับสถานการณ์รับซื้อหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอลในปัจจุบัน ยังค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากประเมินว่าจะมีหนี้เสียกลับเข้ามาขายคึกคักในระบบได้ราวไตรมาส 3 และไตรมาส 4 เป็นต้นไป
หลังจากหมดมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน ที่จะหมดมิ.ย.นี้ ซึ่งอาจทำให้เห็นหนี้เสียในระบบเพิ่มเติม จนทำให้แบงก์เร่งระบายหนี้เสียออกจากระบบได้
โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้าในการเข้าไปรับซื้อหนี้เสียมาบริหาร ที่ 1.-1.5 หมื่นล้านบาท โดยจะใช้งบในการซื้อหนี้ราว 3พันล้านบาท ซึ่งหากสถานการณ์ขายหนี้คึกคักก็คาดว่าจะมีเงินเพียงพอในการเข้าไปซื้อหนี้มาบริหารเพิ่มได้ จากเงินการขายที่ดินที่จะเข้ามาอีก 800-900 ล้านบาทในก.ค.นี้ ส่วนหนี้ภายใต้การบริหารปัจจุบันอยู่ที่ 7.5 หมื่นล้านบาท
นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT กล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัทมีการเจรจากับแบงก์เจ้าใหญ่ 2-3 ราย ในการร่วมทำเจวีเอเอ็มซี
. ซึ่งหนึ่งในนั้นคือกสิกรไทย ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินธุรกิจร่วมกัน ซึ่งบริษัทคาดว่า จะมีความชัดเจนในการจัดตั้งเจวีเอเอ็มซี ได้ไม่เกินไตรมาส 3ปีนี้
ส่วนสถานการณ์รับซื้อหนี้เสียของบริษัท คาดว่าจะกลับมาคึกคักในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป จากมาตรการทางการเงินที่จะหมดในช่วงกลางปี ทำให้แบงก์ตัดสินใจนำหนี้ออกมาขายเพิ่มเติมได้
โดยในส่วนบริษัทได้เตรียมงบซื้อหนี้เสียปีนี้ ที่1หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ใช้เงินซื้อหนี้ราว 8พันล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปี ซื้อหนี้เสียมาบริหารแล้วเกือบหลักพันล้านบาท คิดเป็นมูลหนี้ราว 5พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากมีหนี้เสียออกมาจากระบบมากกว่าคาด บริษัทเชื่อว่า มีศักยภาพในการเข้าไปรับซื้อหนี้เสียมาบริหารเพิ่มถึง 3 หมื่นล้านบาทได้ จากการออกบอนด์ และหุ้นกู้เพิ่มขึ้นได้ในระยะข้างหน้า
สำหรับหนี้เสียภายใต้การบริหารปัจจุบันมียอดคงค้างที่ 2.4 แสนล้านบาท