“กลุ่มโรงกลั่น” จ่อกำไรฮวบ 5% เซ่นรัฐของความร่วมมือ
“กลุ่มโรงกลั่น” วานนี้ (13 มิ.ย) หุ้นร่วงยกแผง รับกระแสให้รัฐแทรกแซงลดค่าการกลั่น หวังช่วยบรรเทาน้ำมันแพง “บล.กสิกรไทย” ชี้รอขอสรุปแนวทางการช่วยเหลือ แต่ประเมินอาจได้รับผลกระทบกำไรทั้งกลุ่มราว 3-4 พันล้าน คิดเป็น 5% คาดหากไม่ชัดเจน จะกดดันหุ้นกลุ่มนี้ต่อไปอีกระยะ
ความเคลื่อนไหวหุ้นกลุ่มโรงกลั่นวานนี้ (13 มิ.ย.) ร่วงแรงยกแผง หลังมีกระแสให้รัฐบาลแทรกแซงลดค่าการกลั่นเพื่อช่วยบรรเทาน้ำมันแพง นำทีมโดย บมจ. ไทยออยล์ หรือ TOP ปิดตลาดอยู่ที่ 53.50 บาท ลดลง 5.73% บมจ. เอสโซ่ (ประเทศไทย) หรือ ESSO ปิด 11.80 บาท ลดลง 3.28% บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น หรือ BCP ปิด 31.75 บาท ลดลง 7.30% บมจ. ไออาร์พีซี หรือ IRPC ปิด 3.40 บาท ลดลง 2.86% และ บมจ. สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง หรือ SPRC ปิด 12.60 บาท ลดลง 3.08%
นายจักรพงศ์ เชวงศรี ผู้อำนวยการอาวุธโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย กล่าวว่า จากกรณีรัฐบาลได้ขอความร่วมมือกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันลดค่าการกลั่นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน ซึ่งทางรัฐบาลเองไม่สามารถเข้าไปบังคับในกรณีดังกล่าวได้เนื่องจากมีกฎหมายคุ้มครองอยู่
ทั้งนี้ ผลกระทบเบื้องต้นส่งผลให้บรรยากาศลงทุน (sentiment) เชิงลบต่อหุ้นกลุ่มโรงกลั่น ซึ่งจากประเด็นรัฐจะเข้ามาแทรกแซงค่าการกลั่น โดยฝ่ายวิจัยฯ คาดว่าหากกลุ่มโรงกลั่นให้ความร่วมมือในการช่วยเหลือลดค่าการกลั่นเฉพาะบางรายการ (ไม่ช่วยทั้งหมด) จะกระทบภาพรวมกำไรทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5%
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีสมาคมมีการส่งตัวแทนเข้าไปคุยกับรัฐบาลแล้วว่าจะหาแนวทางช่วยเหลืออย่างไรได้บาง หลังกระทรวงพลังงานได้มีการแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการบริการจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงวิกฤติ” ขึ้นมา เพื่อศึกษาประเด็นเรื่องค่าการกลั่นน้ำมันที่กำลังเป็นประเด็นในสังคม ซึ่งปัจจุบันภาครัฐอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะมีมาตรการออกมาอย่างไร แต่มองว่าอย่างไรก็ตามผู้ประกอบการกลุ่มโรงกลั่นอาจจะต้องมีการช่วยเหลือ แต่จะเป็นในลักษณะช่วยเฉพาะส่วนไม่ได้ช่วยเหลือทั้งหมด
เนื่องจากปัจจุบันผลดำเนินงานของกลุ่มโรงกลั่นเพิ่งทยอยฟื้นตัวหลังจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 หากพิจารณาในรายละเอียดของการดำเนินธุรกิจโรงกลั่น พบว่าในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเป็นระบบการค้าแบบเสรี ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาดเสรี ไม่มีการแทรกแซงโดยภาครัฐ กระทรวงพลังงานไม่ได้ควบคุมค่าการกลั่น ซึ่งก็มีทั้งช่วงที่โรงกลั่นได้กำไร และขาดทุน
“ตอนวิกฤติโควิด-19 ที่ค่าการกลั่นปรับตัวลงไปต่ำสุด ตอนนั้นก็ไม่เห็นมีใครยืนมือเข้ามาให้การช่วยเหลือ แต่พอผู้ประกอบการโรงกลั่นพอลืมตาอ้าปากได้บ้างก็จะมาแทรกแซง”
อีกทั้งค่าการกลั่นที่ปรับตัวสูงขึ้นก็มีเพียงประเภทดีเซล และเบนซิน แต่โรงกลั่นมีการผลิตผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ อีกด้วย ทำให้ต้องมีการถัวค่าการกลั่นเฉลี่ยตามสัดส่วนการผลิต รวมถึงค่าการกลั่นยังไม่ได้สะท้อนกำไรที่แท้จริงของโรงกลั่น เพราะยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นอีก
ด้าน บล. เอเซียพลัส จำกัด (ASPS) กล่าวว่า หากภาครัฐเข้ามาแทรกแซงบังคับให้ปรับลดราคาขายปลีกหน้าโรงกลั่น ก็อาจทำให้ผู้ประกอบการหันไปส่งออกมากขึ้น เพราะว่าได้ราคาสูงกว่าการขายในประเทศ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาทุกครั้งที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงก็จะมีประเด็นการแทรกแซงค่าการกลั่น แต่ยังไม่เคยทำได้ ดังนั้นจึงถือเป็นประเด็นที่ต้องติดตามว่าภาครัฐจะเข้ามาแทรกแซงและทำลายระบบกลไกตลาดเสรีของโรงกลั่นที่มีมาหรือไม่ ซึ่งหากยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนค่าจะเป็นแรงกดดันต่อกลุ่มโรงกลั่นต่อไปอีกระยะ