ตั้งรับ "วิกฤติ" เศรษฐกิจโลกช็อก

ตั้งรับ "วิกฤติ" เศรษฐกิจโลกช็อก

หากมหาวิกฤติการเงินโลกครั้งนี้ อาจทำให้แผนการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของเรายากขึ้น อีไอซี ปรับอัตราเงินเฟ้อคาดว่าเฉลี่ยทั้งปีจะเร่งตัวสูงถึง 5.9% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 24 ปี

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะผันผวนสูง ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่ง ตลาดการเงิน สินทรัพย์ดิจิทัลมูลค่าร่วงกราวรูด จากความหวั่นวิตกของการขึ้นดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อสูงที่ยังเป็นปัญหาใหญ่ ศึกสงครามที่ยังยืดเยื้อ กระทบจนกลายเป็น “มหาวิกฤติ” ในโลกการเงินการลงทุน

แน่นอนว่า คือ อุปสรรคใหญ่ต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจในประเทศ ที่กำลังจะเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หากตั้งรับไม่ดี อาจถูกหินก้อนใหญ่ถล่มทับปิดทางออกมีแต่ความมืดมิดอีกครั้ง 

แม้ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จะปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2565 ขึ้นเป็น 2.9% จากเดิม 2.7% ตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และภาคบริการ ผ่านการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวของไทย และการผ่อนคลายมาตรการผ่านแดนในหลายประเทศทั่วโลก

 

ประเมินว่า จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยรวม 7.4 ล้านคนในปีนี้ รวมทั้งกิจกรรมในภาคบริการในประเทศยังมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากการกลับออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของภาครัฐ 

หากมหาวิกฤติการเงินโลกครั้งนี้ อาจทำให้แผนการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของเรายากขึ้น อีไอซี ปรับอัตราเงินเฟ้อคาดว่าเฉลี่ยทั้งปีจะเร่งตัวสูงถึง 5.9% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 24 ปี ท่ามกลางการทยอยลดมาตรการอุดหนุนค่าครองชีพของภาครัฐ จะกดดันกำลังซื้อ และการบริโภคภายในประเทศ

รวมถึงชะลอการลงทุนในภาคธุรกิจลง รายได้ภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเติบโตช้าตามตลาดแรงงานที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ จะเป็นข้อจำกัดต่อความสามารถในการรับมือกับค่าครองชีพที่เร่งตัวสูงในปีนี้ด้วย

 

ขณะที่ นโยบายการเงิน คาดว่า กนง. อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มาอยู่ที่ 0.75% ในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 จากเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงและเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นหลังเปิดประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพราคาและชะลอการเร่งตัวของเงินเฟ้อคาดการณ์ที่เริ่มปรับสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยตัวแปรด้านลบ โดยเฉพาะภาวะสงครามที่ยังยืดเยื้อ ส่งผลให้ราคาพลังงานและโภคภัณฑ์ยังอยู่ในระดับสูง การชะงักงันของอุปทานภาคผลิตและขนส่งจากนโยบายป้องกันโควิดเป็นศูนย์ของจีน 

ปัจจัยเหล่านี้ ยังคงวนเวียน และสร้างผลกระทบในระบบเศรษฐกิจไทยได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น รัฐบาลต้องตั้งรับให้ดี หากจะทำนโยบายเศรษฐกิจเวลานี้ ต้องดูให้คลุมทุกมิติ เพราะเศรษฐกิจยังฟื้นไม่เต็มที่ แต่ละส่วนยังฟื้นไม่เท่ากัน ปัญหาเงินเฟ้อยังเข้ามากดดัน

ภาครัฐจึงควรต้องออกมาตรการตรึงราคาพลังงาน และมาตรการช่วยลดค่าครองชีพ วิกฤติหลายเรื่อง ท่ามกลางเครื่องยนต์หลัก “การท่องเที่ยว” ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ หากทีมเศรษฐกิจรัฐบาลไม่แข็งแกร่งพอ ประเทศคงไม่สามารถตั้งรับวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลัง “ช็อกโลก” ขณะนี้ได้