อุตฯหุ่นยนต์:อุตฯแห่งอนาคต อีกหนึ่งโอกาสของไทย

อุตฯหุ่นยนต์:อุตฯแห่งอนาคต    อีกหนึ่งโอกาสของไทย

อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่น่าจับตามองและเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ในภาคการผลิตและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งในไทย

ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์ การเกษตร หรือแม้กระทั่งภาคบริการ อีกทั้ง ยังเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนสำคัญที่จะช่วยยกระดับมูลค่าเพิ่มและประสิทธิภาพการผลิตของไทยเพื่อมุ่งไปสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0 ต่อไปในอนาคต 

ทั้งนี้จากข้อมูลล่าสุดของ International Federation of robotics ระบุว่าในปี 2020 ไทยติดตั้งหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมากถึงราว 2,885 ตัว เป็นอันดับสองในอาเซียนรองจากประเทศสิงคโปร์ โดยส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการนำเข้าหุ่นยนต์มาจากต่างประเทศโดยนำเข้าจากจีนและญี่ปุ่นคิดสัดส่วนเป็น 40% และ 38% ตามลำดับ

โดย“จีน”คือต้นแบบในการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่น่าสนใจ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนประสบความสำเร็จคือการวางนโยบายและเป้าหมายที่ชัดเจนของภาครัฐเพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม ที่เล็งเห็นถึงปัญหาสังคมผู้สูงอายุและความเสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเป็นที่มาของยุทธศาสตร์ “Made in China 2025” ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2015 มีอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์แห่งอนาคต เพื่อผลักดันให้เกิดการนำระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อทดแทนแรงงานคน 

กำหนดเป้าหมายว่าต้องผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมภายในประเทศให้ได้ 260,000 ตัวภายในปี 2025 รวมทั้งยังได้ออกสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับผู้ประกอบการชาวจีนที่ต้องการผลิตหรือเพิ่มการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในภาคการผลิตของตนเองอีกด้วย เช่น เงินอุดหนุน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้มีการใช้ชิ้นส่วนต่าง ๆ ภายในประเทศ (local content) ซึ่งทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรกลและอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นให้ความต้องการหุ่นยนต์ในจีนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว คือการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องการหุ่นยนต์มาทดแทนแรงงานคนมากขึ้น ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้ในปีที่ผ่านมา จีนสามารถผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมได้มากถึง 268,694 ตัว ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ถึง 4 ปี อีกทั้ง ยังทำให้จีนก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนหุ่นยนต์อุตสาหกรรมต่อแรงงานอันดับ 9 ของโลกจากอันดับที่ 15 ในปี 2019

สำหรับไทย การนำหุ่นยนต์มาใช้ในภาคการผลิตจะสามารถช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในระยะยาวได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนจากผู้ใช้งานหุ่นยนต์ไปสู่การเป็นผู้ผลิตนั้น จำเป็นต้องมีอุปสงค์ในตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมากเพียงพอที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดย EEC ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2027 จะต้องมีการลงทุน 4 แสนล้านบาทในหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในโรงงานของไทย สอดคล้องกับทาง BOI ที่ได้มีการออกสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการที่นำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ในโรงงาน อาทิ ยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล อีกทั้ง ยังมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับผู้ประกอบการที่ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ 

นอกเหนือไปจากการวางเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้งานหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมการผลิตแล้ว การส่งเสริมด้านการศึกษาและการค้นคว้าวิจัยโดยร่วมมือกับนักลงทุนต่างชาติก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพื่อส่งเสริมให้ไทยมีโอกาสพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นของตนเอง และก้าวไปสู่การเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์เพื่อใช้งานภายในประเทศในที่สุด ซึ่งไม่เพียงจะช่วยยกระดับห่วงโซ่อุตสาหกรรมและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเท่านั้น แต่ยังตอบโจทย์ปัญหาขาดแคลนแรงงานท่ามกลางการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ได้อีกด้วย

บทความโดย

นงนภัส โกฏิวิเชียร

นักวิเคราะห์

Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์

[email protected] | EIC Online: www.scbeic.com