"กัญชา" หลังปลดล็อก โจทย์ใหญ่สังคมไทย
การปลดล็อกให้ “กัญชา” ถูกกฎหมาย ในมิติเศรษฐกิจเชื่อจะสร้างประโยชน์ได้มาก “ประชาชน-ผู้ประกอบการ” สามารถนำกัญชาหรือกัญชงไปต่อยอดอุตสาหกรรมหลายประเภท ช่วยสร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามยังแฝงโทษและข้อกังวลหลายอย่าง โดยเฉพาะผลกระทบต่อ "เด็กและเยาวชน"
ในที่สุดประเทศไทยก็ปลดล็อกให้ “กัญชา” ไม่ใช่ยาเสพติดประเภท 5 อีกต่อไป คงเหลือเฉพาะตัวสารสกัดจากกัญชาหรือกัญชงที่มีสาร THC เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก ที่ยังคงเป็นยาเสพติดเท่านั้น
การปลดล็อกให้กัญชาถูกกฎหมาย ในมิติเศรษฐกิจเชื่อว่าจะสร้างประโยชน์ได้มาก เพราะประชาชน ผู้ประกอบการสามารถนำกัญชาหรือกัญชงไปต่อยอดอุตสาหกรรมหลายประเภท ช่วยสร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพิ่มคุณค่าหรือมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดที่มีอยู่แล้ว
ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุมัติตำรับกัญชาทั้งแผนไทยและแผนปัจจุบันไปแล้วกว่า 50 ตำรับ กรมการแพทย์แผนไทยผลิตและส่งไปโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศมากกว่า 1.3 ล้านขวด/ซอง ใช้กับผู้ป่วยแล้วมากกว่าหนึ่งแสนราย ขณะเดียวกันมีการอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีส่วนประกอบของกัญชา กัญชง และสารสกัด CBD เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไปแล้วกว่า 1,200 รายการ
ผลของการที่หลายประเทศมีแนวโน้มทำให้กัญชาถูกกฎหมายมากขึ้นเรื่อยๆ มีการประเมินว่าตลาดกัญชาถูกกฎหมายมีแนวโน้มขยายตัวเป็น 70-80% ของตลาดกัญชาทั้งหมด ขณะที่ตลาดกัญชาผิดกฎหมายจะมีสัดส่วนลดลงเรื่อยๆ เช่นในแคนาดา ประเทศในกลุ่ม G7 แรกที่ออกกฎหมายกัญชา ปัจจุบันจากยอดขายกัญชารวม 7.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นยอดขายผลิตภัณฑ์กัญชาถูกกฎหมายถึง 4.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดขายรวม
มูลค่าทางเศรษฐกิจ
ในแง่มูลค่าทางเศรษฐกิจ เชื่อว่าการปลดล็อกกัญชาจะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้เข้าถึงประโยชน์จากตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ
สำหรับภายในประเทศ ในระยะสั้นประเมินว่า กัญชาและกัญชงช่วยสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 7,000-8,000 ล้านบาท นอกจากประโยชน์ในการต่อยอดอุตสาหกรรมต่างๆ ยังจะช่วยลดรายจ่ายด้านยารักษาโรคบางประเภทของคนไทยในอนาคต
ขณะที่หากเจาะเฉพาะตลาดกัญชาทางการแพทย์ บริษัท ธนบุรี คานาบิซ จำกัด (มหาชน) ประเมินว่าระหว่างปี 2563-2567 ตลาดในไทยจะโต 26% ต่อปี มูลค่าราว 2,670 ล้านบาท และขยายตัวเป็นมากกว่า 4 หมื่นล้านบาทในปี 2570
สำหรับตลาดภายนอกประเทศ การปลดล็อกกัญชา เชื่อว่าช่วยให้ธุรกิจไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น เพิ่มโอกาสเข้าถึงส่วนแบ่งตลาดกัญชง กัญชา และกระท่อมในตลาดโลกที่มีมูลค่าถึง 8 แสนล้านบาท โดยเติบโตสูงถึงปีละ 25% และคาดว่าใน 3-5 ปีข้างหน้า มูลค่าตลาดจะเพิ่มเป็นกว่า 3 ล้านล้านบาท (ข้อมูลจากสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย)
เอาเฉพาะตลาดกัญชาอย่างเดียว จากรายงาน The Global Cannabis Report (จัดทำโดย Prohibition Partners) ระบุว่า ตลาดกัญชาทั่วโลกขยายตัวต่อเนื่อง ในปี 2567 จะมีมูลค่าถึง 103.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ที่สัดส่วนราว 60% และอีก 40% เป็นตลาดกัญชาเพื่อการสันทนาการ
ประโยชน์ต่อสุขภาพ
อย่างที่ทราบกัน ในฝั่งแพทย์แผนไทย มีการใช้กัญชามานาน ช่วยให้นอนหลับได้ดีและเจริญอาหาร คนไข้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยเฉพาะในผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย การผ่อนคลายที่มากขึ้นของผู้ป่วย ช่วยให้คุณภาพชีวิตทั้งของผู้ป่วยและผู้ดูแลดีขึ้น
ทั้งนี้ 4 อาการเจ็บป่วยที่กระทรวงสาธารณสุขมีคำแนะนำให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ โดยรับรองประโยชน์จากสาร THC และ CBD คือ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายากและโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และภาวะปวดปลายประสาท
อย่างไรก็ตาม แม้กัญชาจะมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาก มีประโยชน์ทางสุขภาพหากใช้แต่พอดีในบุคคลที่เหมาะสม แต่โทษของกัญชาต่อสุขภาพก็ยังมีอยู่มาก
โทษต่อสุขภาพ
หนึ่ง การใช้กัญชาส่งผลกระทบต่อสมองและโรคทางจิต เนื่องจากในกัญชามีสาร THC มีฤทธิ์มึนเมา ทำให้เกิดการเสพติด หากใช้เป็นเวลานาน เพิ่มโอกาสให้มีอาการของโรคจิต เกิดภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล
สอง ผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น กัญชาทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น งานศึกษาระบุว่าในชั่วโมงแรกหลังจากสูบกัญชา ความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวกับผู้สูบเพิ่ม 4-5 เท่า เทียบกับความเสี่ยงทั่วไปในกรณีไม่สูบ นอกจากนี้หากใช้ติดต่อเป็นเวลานาน เสี่ยงทำให้ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ร่างกายอ่อนแอ ติดโรคง่าย
สาม ลดความสามารถของสมองในการรู้คิด ความคิดอ่านช้า สับสน ลดความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) ยิ่งใช้เป็นประจำ ยิ่งก่อผลกระทบมากขึ้น โดยเฉพาะในคนอายุน้อย ในเด็กและวัยรุ่น จะเห็นผลเสียชัดเจนกว่าในผู้ใหญ่ งานศึกษาในต่างประเทศยังพบว่า เมื่อมีการทำให้กัญชาถูกกฎหมาย เด็กและเยาวชนจะเข้าถึงมากขึ้น
สี่ หากใช้กัญชาสม่ำเสมอ แม้ในปริมาณไม่มาก เสี่ยงทำให้เกิดการเสพติดหรือดื้อยา ต้องใช้ปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันการใช้ยาในขนาดหรือสัดส่วนไม่เหมาะสมก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น จากประสบการณ์ชาวบ้าน ต้องระวังไม่ให้กัญชาตัวผู้กับตัวเมียผสมกัน มิเช่นนั้นจะส่งผลข้างเคียงรุนแรง
ห้า ในสตรีมีครรภ์ งานศึกษาพบว่า มารดาที่สูบกัญชาระหว่างตั้งครรภ์ เด็กที่คลอดออกมามีปัญหาด้านพัฒนาการทางระบบประสาท
โจทย์ใหญ่ของผู้เกี่ยวข้อง
รัฐบาลและผู้บริหารด้านสาธารณสุขต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า อนุญาตให้ใครใช้กัญชาได้ ใครไม่ควรใช้ เงื่อนไขการใช้เป็นอย่างไร ควรออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งพ.ร.บ.กัญชา กัญชง และกฎหมายอื่นๆ ให้ชัดเจน ความใหม่และไม่ชัดเจนในกฎหมายที่เกี่ยวข้องส่งผลต่อการปฏิบัติงานของแพทย์ ทำให้แพทย์ปฏิบัติงานลำบาก นอกจากนี้ต้องมีมาตรการห้ามจำหน่ายที่เคร่งครัดในอย่างน้อย 3 กลุ่ม คือ สตรีมีครรภ์ สตรีผู้ให้นมบุตร และผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี
ในแง่การผลิตและการเข้าถึงตลาดโลก รัฐบาลและผู้ประกอบการต้องเน้นเรื่องมาตรฐานตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การปลูก การสกัด จนถึงการนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ต้องออกแบบกระจายประโยชน์ให้ถึงเกษตรกรผู้ปลูก
ขณะเดียวกัน สำหรับผู้บริโภคต้องระวังตัว ก่อนใช้ ต้องรู้จริง ต้องรู้ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ทางที่ดีควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
หากเป็นเด็กหรือเยาวชนควรหลีกเลี่ยงการใช้ เพราะเสี่ยงก่อผลเสียในระยะยาวทั้งต่อสมองและร่างกาย ผู้เกี่ยวข้องเช่น ผู้ปกครอง โรงเรียน รัฐบาล ต้องมีมาตรการป้องกันการเข้าถึงกัญชาของเด็กและเยาวชนอย่างเข้มงวด
กัญชาหลังปลดล็อก มีประโยชน์ในแง่เศรษฐกิจและสุขภาพ อย่างไรก็ตามยังแฝงโทษและข้อกังวลหลายอย่าง โดยเฉพาะผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นทุนมนุษย์ที่สำคัญสุดของประเทศ