สัญญาณบวกแรง! งบโฆษณา พ.ค. เขียวยกแผง 5 เดือน เงินสะพัด 48,465 ล้านบาท
สื่อเก่ายังแบกความกดดันหารายได้ เมื่อ "งบโฆษณา" ไหลมาใน "แดนลบ" ต่อเนื่อง ขณะที่สื่อใหม่กอบโกยเงินสร้างการเติบโตไม่หยุด ภาพรวม 5 เดือน นีลเส็นเผยเงินสะพัดกว่า 48,000 ล้านบาท เฉพาะเดือนพ.ค. แบรนด์เทงบ สร้างแรงบวกให้อุตสาหกรรมสื่อคึกคักถ้วนหน้า
นีลเส็น เผยภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.65)มูลค่าสะพัด 48,465 ล้านบาท เติบโต 7.07% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเจาะดูเฉพาะเดือนพ.ค. การใช้จ่ายเงินโฆษณาของแบรนด์ต่างๆเรียกว่า “เขียวยกแผง” ปลุกให้สถานการณ์สื่อแต่ละหมวดคึกคึกและใจชื้น
ทั้งนี้ เดือนพ.ค. เงินโฆษณาที่ไหลไปยังสื่อแต่ละประเภท เป็นดังนี้ สื่อทีวี 5,627 ล้านบาท เติบโต 3.34% อินเตอร์เน็ต 2,253 ล้านบาท เติบโต 15.24% สื่อนอกบ้านและสื่อเคลื่อนที่ 1,041 ล้านบาท เติบโต 29.48% สื่อในโรงภาพยนตร์ 506 ล้านบาท เติบโต 540.51% วิทยุ 288 ล้านบาท เติบโต 2.86% สื่อสิ่งพิมพ์ 252 ล้านบาท เติบโต 8.15% สื่อในห้าง 78 ล้านบาท เติบโต 39.29% ทำให้เม็ดเงินรวมทั้งเดือนสะพัด 10,045 ล้านบาท เติบโต 13.48%
เมื่อรวม 5 เดือน ตลาดยังเติบโต 7.07% แต่เจาะย่อยรายสื่อ ยังมีหมวดที่ “ติดลบ” ซึ่งเป็นสื่อดั้งเดิม(Traditional Media)ทั้งสิ้น โดยทีวีเงินสะพัด 26,566 ล้านบาท หดตัว 0.84% วิทยุ 1,285 ล้านบาท หดตัว 1.46% และสื่อสิ่งพิมพ์ 1,170 ล้านบาท หดตัว 6.92% ที่เหลือเติบโตร้อนแรงต่อเนื่อง สื่ออินเตอร์เน็ต 11,267 ล้านบาท เติบโต 15.24% สื่อนอกบ้านและสื่อเคลื่อนที่ 5,023 ล้านบาท เติบโต 20.20% สื่อในโรงภาพนตร์ 2,807 ล้านบาท เติบโต 67.98% และสื่อในห้าง 347 ล้านบาท เติบโต 21.33%
สถานการณ์ของหมวดหมู่ธุรกิจที่ใช้จ่าย นำโด่งยังเป็นเหมือนเดิม คืออาหารและเครื่องดื่ม มูลค่า 8,245 ล้านบาท เติบโต 2% จากที่ผ่านมาหดตัว ค้าปลีกและร้านอาหาร 4,842 ล้านบาท เติบโต 3% กลุ่ม Media & Marketing 2,482 ล้านบาท เติบโต 29% ภาครัฐ 1,526 ล้านบาท เติบโต 48% กลุ่มท่องเที่ยว(Travel) 666 ล้านบาท เติบโต 43% เป็นต้น
ส่วนกลุ่มที่ยังใช้จ่ายเงิน “ติดลบ” ยังเป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และสถานการณ์กำลังซื้อผู้บริโภคหดตัวลง ภาวะเงินเฟ้อ ทำให้สินค้าราคาแพงขึ้น เช่น สินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคลและเครื่องสำอาง 6,232 ล้านบาท หดตัว 6% กลุ่มยานยนต์ 2,452 ล้านบาท หดตัว 12% สินค้าเครื่องใช้ในครัวเรือน(Household Products) 1,582 ล้านบาท หดตัว 13% เสื้อผ้าและเครื่องประดับ 151 ล้านบาท หดตัว 41% เป็นต้น
ส่วนของบริษัทที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุด 3 ลำดับแรกได้แก่ บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด มูลค่า 1,412 ล้านบาท ลดลง 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามด้วย บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด 1,300 ล้านบาท ลดลง 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และบริษัท พร็อคเตอร์ แอนด์ เกมเบิล(ประเทศไทย) จำกัด มูลค่า 956 ล้านบาท ลดลง 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ภาพดังกล่าวยังสะท้อนการ “รัดเข็มขัด” ขององค์กรยักษ์ใหญ่ เพราะท่ามกลางภาวะต้นทุนการผลิตสินค้าพุ่ง ราคาสินค้าแพง ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยลดลง “งบโฆษณา” เป็นด่านแรกของการประหยัดให้องค์กร