'กรณ์'หวั่นกองทุนน้ำมันฯแบกหนี้เกิน 2 แสนล้าน แนะรัฐอุดหนุนเฉพาะกลุ่ม

'กรณ์'หวั่นกองทุนน้ำมันฯแบกหนี้เกิน 2 แสนล้าน แนะรัฐอุดหนุนเฉพาะกลุ่ม

“กรณ์”หวั่นกองทุนน้ำมันฯแบกหนี้เกิน 2 แสนล้านในอีก 5 เดือน แนะรัฐจำกัดการอุดหนุนสำหรับบางกลุ่ม โยกเงินกู้ฯที่เหลือ ตาม พ.ร.ก.โปะหนี้กองทุนฯช่วยแก้ปัญหากองทุนกู้เงินไม่ได้ ชี้เก็บเงินกำไรค่าการกลั่นเป็นสิ่งจำเป็น ระบุรัฐแทรกแซงได้เพื่อผลประโยชน์ประชาชนโดยรวม

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่าในปัจจุบันปัญหาเรื่องราคาน้ำมันถือว่าเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนเป็นอย่างมาก รวมทั้งยังกระทบต่อสถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปัจจุบันมีหนี้อยู่เกือบ 1 แสนล้านบาท ทั้งนี้แนวโน้มราคาน้ำมันที่ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นและทรงตัวในระดับสูงทำให้กองทุนน้ำมันต้องมีหนี้เพิ่มถึงเดือนละประมาณ 2 หมื่นล้านบาท และมีความเป็นไปได้ที่กองทุนน้ำมันฯอาจจะมีหนี้เกินกว่า 2 แสนล้านบาทภายในอีก 5 เดือนข้างหน้า ซึ่งปริมาณหนี้ที่เพิ่มขึ้นมากส่งผลต่อผู้ใช้น้ำมันในระยะยาวเพราะแม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลงในอนาคตแต่ผู้ใช้น้ำมันยังคงต้องจ่ายเงินเพื่อใช้หนี้ให้กับกองทุนน้ำมันฯต่อเนื่องไปอีกหลายปี

 

จี้รัฐจริงจังแก้ปัญหาราคาน้ำมัน

ทั้งนี้ สถานการณ์ในปัจจุบันรัฐบาลต้องมีความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาเพราะราคาน้ำมันแพงถือว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน การแก้ปัญหามีหลายส่วนในส่วนแรกเป็นเรื่องของหนี้กองทุนน้ำมันฯที่มีอยู่แล้วยังไม่สามารถกู้เงินเสริมสภาพคล่องได้ในขนาดนี้เนื่องจากสถาบันการเงินไม่ยินยอมให้กู้เงิน เท่าที่ทราบกองทุนน้ำมันฯพยายามหาแหล่งกู้เงินมานานหลายเดือนแล้วและขอให้กระทรวงการคลังช่วยให้ความมั่นใจกับสถาบันการเงินเพื่อให้ปล่อยกู้ แต่ในเรื่องนี้กระทรวงการคลังคงช่วยได้ไม่มากเพราะหน้าที่ของกระทรวงการคลังนั้นทำในส่วนของภาษี ซึ่งก็ช่วยในการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลไปแล้ว

\'กรณ์\'หวั่นกองทุนน้ำมันฯแบกหนี้เกิน 2 แสนล้าน แนะรัฐอุดหนุนเฉพาะกลุ่ม

แนะดึงเงินกู้ฯช่วยเสริมสภาพคล่องกองทุนฯ

ดังนั้นการแก้ไขเรื่องเงินกู้ของกองทุนน้ำมันฯรัฐบาลควรใช้เงินกู้ ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังฯกู้เงินทั้ง 2 ฉบับที่มีวงเงินเหลืออยู่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาทมาใช้เสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันฯซึ่งจะช่วยดูแลราคาน้ำมันในภาพรวมของประเทศได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯนั้นมีการเขียนกฎหมายว่าให้ใช้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 เท่านั้นจะสามารถนำมาใช้ในเรื่องของพลังงานหรือน้ำมันได้หรือไม่นายกรณ์กล่าวว่าที่ผ่านมาการใช้เงินกู้หลายโครงการนั้นเป็นการใช้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และเติมสภาพคล่องให้กับประชาชนอยู่แล้ว ขณะที่ในขณะนี้เรื่องของราคาพลังงานเป็นเรื่องใหญ่ที่ประชาชนเดือดร้อนมากที่สุดการช่วยเหลือประชาชนผ่านการเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันฯเพื่อให้เป็นกลไกในการช่วยเหลือ อุดหนุนราคาค่าน้ำมันให้กับประชาชนนั้นจึงสามารถที่จะทำได้

นอกจากนั้นในเรื่องของการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพง รัฐบาลจำเป็นต้องสื่อสารเรื่องการประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง เพราะขณะนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้น้ำมันในภาคการขนส่งสูงที่สุดในอาเซียน และเรามีราคาน้ำมันดีเซลที่ถูกที่สุดในอาเซียนซึ่งการใช้น้ำมันถูกของเรานั้นไม่มีการจำกัดปริมาณการใช้ ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นปีปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นมาแล้ว 15% ส่วนน้ำมันเบนซินก็มีการใช้เพิ่มขึ้นเช่นกัน ในการจ่ายเงินอุดหนุนน้ำมันที่เกิดขึ้นทุกลิตรเป็นหนี้ที่เพิ่มขึ้นของกองทุนน้ำมันฯและกระทบต่อผู้ใช้น้ำมันในระยะยาว

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะทบทวนการอุดหนุนที่อาจมีการระบุกลุ่มอาชีพที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น กลุ่มอาชีพขับเดลิเวอรี่ รถจักรยานยนต์รับจ้าง หรือรถสาธารณะ ขณะที่ประชาชนก็อาจจะต้องจำกัดการใช้น้ำมันบ้างไม่ให้ใช้จนมากเกินไป

แนะกล้าตัดสินใจแทรกแซงกำไรโรงกลั่น 

สำหรับประเด็นของเรื่องการเก็บเงินจากกำไรจากหน้าโรงกลั่นเพื่อนำเงินมาเสริมสภาพคล่องของของกองทุนน้ำมันอีกทางหนึ่งนั้นนายกรณ์กล่าวว่าเรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องทำ และภาครัฐสามารถที่จะแทรกแซงในส่วนนี้ได้ เพราะที่จริงแล้วภาครัฐก็เข้าไปแทรกแซง (interfere) ได้เพราะในขณะนี้ต้องยอมรับว่าภาครัฐเข้าไปแทรกแซงในหลายๆสินค้าอยู่แล้วเช่น การห้ามขึ้นราคาสินค้าควบคุมเช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และไข่ไก่ การเข้าไปเก็บกำไรส่วนเกินจากโรงกลั่นเพื่อมาดูแลราคาพลังงานในภาพรวมโดยการเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันถือว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะทำหรือไม่เท่านั้น แต่ว่าเรื่องนี้ทำเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนชั่วคราวไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำถาวรเมื่อราคาน้ำมันลดลงก็ให้การดำเนินการของโรงกลั่นต่างๆดำเนินไปตามปกติ 

ชี้กำหนดโควต้าส่งออกน้ำมันถ้าจำเป็น

นอกจากนี้สิ่งที่มีความกังวลว่าหากกำหนดเพดานกำไรค่าการกลั่นมากเกินไปโรงกลั่นในประเทศไทยจะไม่ยอมขายน้ำมันในประเทศแล้วนำไปขายในต่างประเทศเพื่อให้ได้กำไรมากกว่า อดีตรมว.คลังกล่าวว่ารัฐบาลก็จำเป็นที่ต้องกำหนดโควตาการส่งออก เช่น การกำหนดให้น้ำมันในประเทศประมาณ 70% ต้องขายในประเทศ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีการกลั่นน้ำมันที่ประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันก็อาจต้องกำหนดว่าให้ขายในประเทศ 7 แสนบาร์เรล ส่วนที่เหลือให้ส่งออกได้ซึ่งก็จะทำให้ยังมีปริมาณน้ำมันที่พอเพียงใช้ในประเทศ

“ผมเชื่อว่าท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานซึ่งมาจากการอยู่บริษัทเอกชนมาก่อนเหมือนผมก็คงจะทราบว่าการคำนวณราคาที่จะเก็บจากโรงกลั่นนั้นต้องทำอย่างไร ที่จริงมันมีสูตรอยู่ว่าสิ่งที่ธุรกิจโรงกลั่นควรได้คือผลตอบแทนต่อการลงทุน บวกด้วยค่าความเสี่ยง บวกด้วยผลตอบแทนในภาวะปกติ ซึ่งข้อมูลพวกนี้ผมดูมาแล้วว่าในปี 2564 โรงกลั่นเขาก็มีกำไร กำไรค่าการกลั่นที่ 80 สตางค์ต่อลิตรเขาก็สามารถที่จะทำกำไรได้” นายกรณ์กล่าว