‘สุพัฒนพงษ์’เล็งใช้กม.ดูดกำไรโรงกลั่น ดึงเงินเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน

‘สุพัฒนพงษ์’เล็งใช้กม.ดูดกำไรโรงกลั่น ดึงเงินเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน

"สุพัฒนพงษ์" สบช่องใช้กฎหมายพลังงานเก็บเงินค่าการกลั่น - โรงแยกก๊าซ เข้ากองทุนน้ำมันเสริมสภาพคล่องดูแลราคาน้ำมันบางประเภท ชี้ทำเรื่องนี้มาต่อเนื่องกว่า 1 เดือนแล้วไม่ได้นิ่งนอนใจ แจงอาจเก็บจากกำไรส่วนเกินจากค่าเฉลี่ย

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวถึงข้อเสนอของพรรคกล้าในการคุมเพดานค่าการกลั่นเพื่อเป็นการป้องกันการทำกำไรเกินควร และลดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่าในเรื่องนี้รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ก่อนหน้านี้ได้มีการศึกษา และมีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ และคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อมาสอบถามว่าสามารถที่จะใช้ข้อกฎหมายใดในการดำเนินการเรื่องนี้ได้หรือไม่ ในที่สุดได้ข้อสรุปว่าจะใช้อำนาจทางกฎหมายของกระทรวงพลังงานในการดำเนินการเพื่อหาวิธีในการเก็บเงินจากหน้าโรงกลั่นเพื่อมาชดเชยน้ำมันบางประเภทโดยทำเรื่องนี้มากว่า 1 เดือนแล้วไม่ได้นิ่งนอนใจ และเมื่อทำแล้วก็จะดูทั้งหมดรวมทั้งในส่วนของโรงแยกก๊าซด้วย

"ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการเก็บกำไรจากค่าการกลั่น เพราะก่อนหน้านี้ค่าการกลั่นไม่ได้สูงมากอยู่ที่เฉลี่ย 2  - 3 บาทต่อลิตร และในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 ปริมาณการใช้น้ำมันน้อยค่าการกลั่นก็อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1 บาท ก็ไม่มีการลงทุนเพิ่มในส่วนของโรงกลั่น" 

อย่างไรก็ตามคณะทำงานของกระทรวงพลังงานได้รายงานเบื้องต้นว่าปัจจุบันกำไรจากค่าการกลั่นเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5 บาทกว่าต่อลิตร ดังนั้นส่วนที่เพิ่มขึ้นมาตรงนี้เมื่อพิจารณาแล้วว่าสูงเกินกว่าระดับปกติก็จะมีการพิจารณาเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 

 

‘สุพัฒนพงษ์’เล็งใช้กม.ดูดกำไรโรงกลั่น ดึงเงินเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน ทั้งนี้แม้ว่าอำนาจหน้าที่ของกระทรวงพลังงานสามารถที่จะดำเนินการได้ อาจจะเป็นการออกกฎกระทรวง หรือประกาศกระทรวง แต่ว่าเนื่องจากเรื่องนี้มีผลกระทบหลายด้าน รวมทั้งด้านการค้าและการลงทุน ที่รัฐบาลในอดีตอาจมีการไปสัญญากับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย จึงได้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการกฎษฎีกาตีความอีกครั้งก่อนที่จะส่งเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป โดยคาดว่าความชัดเจนของกฎหมายจะออกมาภายในเดือนนี้ 

 

ส่วนการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากมาตรการที่จะหมดอายุในเดือน มิ.ย.นี้นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่าในวันพรุ่งนี้ (14 มิ.ย.) จะเรียกหน่วยงานเศรษฐกิจทั้งหมด ได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มาหารือกัน ทั้งประเด็นเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจ การดูแลมาตรการต่างๆต่อเนื่องไปเมื่อมาตรการเดิมจะหมดอายุในเดือน มิ.ย.นี้