ขีดแข่งขันไทย “ร่วง” สะท้อนนโยบายศก.ล้มเหลว
“วิกฤติเศรษฐกิจโลก” กระทบค่าครองชีพอย่างหนัก ทำให้สมรรถนะทาง “เศรษฐกิจไทย” ลดลง รัฐบาลควรต้องแก้ไขก่อนที่เศรษฐกิจจะดิ่งเหว
นอกจากต้องหาวิธี “ตั้งรับ” รวมทั้งแก้ปัญหาจากผลกระทบวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนอย่างรุนแรงเงินเฟ้อ ราคาพลังงานที่พุ่งไม่หยุด กระทบค่าครองชีพ “ขีดความสามารถการแข่งขัน” ของประเทศปี2565 ของไทยจัดอยู่ในขั้น “วิกฤติ” ต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วนด้วยเช่นกัน เพราะหมายถึง “ไทย” ยังดีไม่พอที่จะแข่งขันบนเวทีโลก สถาบัน IMD จัดอันดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ปี 2565 ไทยอันดับร่วง 5 อันดับ หล่นมาอยู่อันดับ 33 จาก 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ที่สำคัญอันดับลดลงในทุกปัจจัยชี้วัด
ขีดแข่งขันไทยถูกปรับลดลง 5 อันดับจากอันดับที่ 28 ในปีที่แล้ว ผลคะแนนสุทธิลดลงจาก 72.52 มาอยู่ที่68.67 ซึ่งต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยของ 63 เขตเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจาก 63.99 ในปี 2564 มาอยู่ที่ 70.03 ในปีนี้ เมื่อมองปัจจัย 4 ด้านที่ใช้จัดอันดับ พบว่า ไทยมีขีดความสามารถแข่งขันลดลงจากปีที่แล้ว “ทุกด้าน” ไม่ว่าจะเป็น สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ประสิทธิภาพภาครัฐ (Government Efficiency) ประสิทธิภาพภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)
โดยเฉพาะ “สมรรถนะทางเศรษฐกิจ” ไทยอันดับลดลงมากที่สุดถึง 13 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 34 ในปี2565 จากปัจจัยย่อยการค้าระหว่างประเทศ ที่ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2564 ถือเป็นครั้งแรกรอบ16 ปี จากผลกระทบการระบาดไวรัสโควิด-19 มีผลสืบเนื่องไปถึงภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ ตามด้วย“ประสิทธิภาพของภาครัฐ” อันดับลดลงจากปี 2564 ถึง 11 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 31 จากปัจจัยย่อยการคลังภาครัฐ การขาดดุลงบประมาณภาครัฐ เพื่อประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นจากโควิด 19 และหนี้สาธารณะไทยที่เพิ่มสูงขึ้น
ประสิทธิภาพภาคธุรกิจ ก็ลดลงถึง 9 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 30 จากปัจจัยย่อยผลิตภาพและประสิทธิภาพที่ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันน้อยทั้งภาพรวม (อันดับ 47) และในทุกภาคเศรษฐกิจ รวมถึงประเด็นแรงงานไทยที่มีอัตราการเติบโตลดลง เนื่องจากไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างแท้จริง ส่งผลต่อตลาดแรงงานทั้งปัจจุบันและอนาคต ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานก็ลดลง และอยู่ในอันดับค่อนข้างต่ำเช่นกัน
ขีดแข่งขันประเทศที่เข้าขั้นวิกฤติแบบนี้ สะท้อนถึงโครงสร้างเศรษฐกิจในไทย รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจการลงทุนที่ "เปราะบาง ไร้สมรรถภาพ และ ล้มเหลว” Productivity ประเทศต่ำ ขาดความสามารถการแข่งขันในโลกยุคใหม่ เช่นเดียวกับ ความเชื่อมั่นในนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาครัฐที่ดิ่งเหวหากรัฐบาล ซึ่งคือทีมบริหารประเทศ ปล่อยให้ “ขีดแข่งขัน” ของไทยอยู่ในระดับอันตรายแบบนี้ ย่อมสะเทือนไปถึงความเชื่อมั่นนักลงทุน “แบรนด์ประเทศไทย” อยู่ในภาวะวิกฤติอย่างหนัก ต้องได้รับการแก้ไขเยียวยาอย่างเร่งด่วน