คู่รักชาว LGBTQIA+ กู้ซื้อบ้านอย่างไรให้ผ่าน
ปัจจุบันมีหลายธนาคารที่เปิดโอกาสให้คู่รักชาว LGBTQIA+ กู้ร่วมซื้อบ้านได้ ถือเป็นข่าวดี รับช่วง Pride Month ปีนี้ที่ล่าสุดประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตและร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม เปิดประตูโอกาสเป็นเจ้าของบ้านของกลุ่ม LGBTQIA+
อีกหนึ่งปรากฏการณ์ใน Pride Month ปีนี้คือความเคลื่อนไหวด้านกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีและที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. ... รวมทั้งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … หรือ ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมในวาระที่ 1
ซึ่งจะเป็นอีกก้าวสำคัญที่เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคกลุ่ม LGBTQIA+ ได้รับสิทธิทางกฎหมายในหลายด้าน แม้จะมีความคิดเห็นที่หลากหลายเกี่ยวกับความชัดเจนและความครอบคลุมของเนื้อหาในทางกฎหมายในด้านสิทธิและสวัสดิการบางอย่าง แต่นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าจับตาสำหรับผู้บริโภคกลุ่ม LGBTQIA+ ที่จะมีบทบาทร่วมกันมากขึ้นในการดูแลหรือทำธุรกรรมต่าง ๆ ภายใต้กฎหมายในฐานะคู่สมรส
ด้านการซื้อที่อยู่อาศัยซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นและมีความสำคัญในการเริ่มต้นสร้างครอบครัว แม้ปัจจุบันจะมีธนาคารหลายแห่งที่อนุมัติสินเชื่อบ้านการกู้ร่วมกันระหว่างคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่คาดว่าร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม นี้จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและผลักดันให้ธนาคาร/สถาบันการเงินต่าง ๆ พิจารณาและเปิดโอกาสให้คู่รักชาว LGBTQIA+ มีสิทธิขอกู้ร่วมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย พร้อมทั้งมีมาตรการส่งเสริมเฉกเช่นคู่รักชายหญิง ซึ่งการกู้ร่วมนี้จะช่วยเปิดโอกาสให้คู่รักชาว LGBTQIA+ ยื่นกู้สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในวงเงินที่สูงขึ้น และเลือกบ้านที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตได้มากขึ้น
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ธนาคาร/สถาบันการเงินหลายแห่งไม่สามารถให้สินเชื่อแก่ผู้กู้ร่วม LGBTQIA+ ได้ โดยให้เหตุผลสอดคล้องกันว่า ผู้กู้ร่วมนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิดกัน คือเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์ร่วมเชื้อสายเดียวกัน หรือเป็นชายหญิงที่เป็นคู่สมรสกันนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้คู่รัก LGBTQIA+ ต้องใช้สินเชื่อประเภทอื่นในการซื้อที่อยู่อาศัย โดยการขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจหรือ SME โดยคู่รัก LGBTQIA+ สามารถขอสินเชื่อเพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวรเพื่อประกอบกิจการได้ เช่น สถานประกอบการพร้อมที่ดิน หรือที่ดินเปล่าเพื่อใช้ดำเนินกิจการ
แต่การกู้โดยใช้สินเชื่อเพื่อธุรกิจ SME นั้นจะให้ช่วงระยะเวลากู้นานสุดเพียง 10 ปีเท่านั้น ซึ่งสั้นกว่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งให้ระยะเวลาผ่อนสูงสุดถึง 30 ปี นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อธุรกิจ SME นั้นยังมีอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอีกด้วย
นอกจากนี้ ปัจจุบันบางธนาคาร/สถาบันการเงินเปิดโอกาสให้คู่รัก LGBTQIA+ สามารถกู้ร่วมได้ แต่มีรายละเอียดบางอย่างแตกต่างจากการกู้ร่วมของคู่รักชายหญิง เช่น กู้ได้เพียง 90% ของมูลค่าที่อยู่อาศัย เป็นต้น คาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ธนาคาร/สถาบันการเงินจะมีมาตรการออกมารองรับผู้กู้ร่วมที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น และมีการประเมินความเสี่ยงของผู้กู้ร่วมชาว LGBTQIA+ อย่างเท่าเทียมกับคู่รักเพศชายและเพศหญิง
คู่รักชาว LGBTQIA+ กู้ซื้อบ้านอย่างไรให้ผ่าน
ปัจจุบันมีหลายธนาคารที่เปิดโอกาสให้คู่รักชาว LGBTQIA+ กู้ร่วมซื้อบ้านได้เช่นเดียวกับคู่รักต่างเพศ โดยมีรายละเอียดเบื้องต้นค่อนข้างคล้ายคลึงกัน เช่น
มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป
มีรายได้มั่นคง โดยมีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป ทั้งผู้กู้หลักและผู้กู้ร่วม (บางธนาคารกำหนดให้ผู้กู้หลักมีรายได้ 50,000 บาทขึ้นไป)
พนักงานประจำต้องมีอายุงานรวมที่ทำงานเดิมและปัจจุบันตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป (บางธนาคารไม่มีกำหนด)
ผู้กู้ต้องมีเอกสารหรือหลักฐานแสดงความสัมพันธ์หรือการอยู่ร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี ตามที่ธนาคารกำหนด เช่น ทะเบียนบ้านที่อยู่ด้วยกัน, บัญชีเงินฝากที่เปิดร่วมกัน เป็นต้น (บางธนาคารไม่มีกำหนด)
นอกจากนี้ยังต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามปกติ คือต้องมีภาระหนี้ไม่เกิน 30-40% ของรายได้ มีเงินออมอย่างน้อย 10% ของราคาที่อยู่อาศัย รวมทั้งมีบันทึกการเคลื่อนไหวบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน หากมีการเตรียมตัวเบื้องต้นให้พร้อมตามรายละเอียดต่าง ๆ ข้างต้น ก็จะช่วยให้การกู้ซื้อบ้านของชาว LGBTQIA+ ลุล่วงไปได้ด้วยดี
เมื่อเทรนด์ที่อยู่อาศัยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศสภาพ บ้านแบบไหนตอบโจทย์
ความต้องการที่อยู่อาศัยถือเป็นเทรนด์ที่ปราศจากเพศ (Genderless) และปัจจัยที่ผู้บริโภคกลุ่ม LGBTQIA+ ใช้เมื่อเลือกที่อยู่อาศัยก็ไม่ต่างจากผู้บริโภคเพศชายและหญิงเลย เนื่องในเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศนี้
ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์ อัปเดตเทรนด์ที่อยู่อาศัยที่น่าจับตามอง ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคชาวไทย ซึ่งรวมถึงชาว LGBTQIA+
บ้านที่ใช่ต้องมีขนาดเหมาะสม ข้อมูลจากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัย DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด เผยว่า เมื่อค้นหาที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเพื่อซื้อหรือเช่า ปัจจัยภายในที่ผู้บริโภคชาวไทยเกือบครึ่ง (49%) ให้ความสำคัญมากที่สุดคือ ขนาดของที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์และเหมาะสมกับสมาชิกในครอบครัว เนื่องจากให้ความสำคัญกับการแบ่งพื้นที่ใช้งานอย่างเป็นสัดส่วน จึงจำเป็นต้องมีพื้นที่เพียงพอสำหรับทุกกิจกรรม ตามมาด้วยที่อยู่อาศัยจะต้องมาพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน (46%) นอกจากนี้ ยังมองหามาตรการหรือโครงการที่จะช่วยให้มีบ้านเป็นของตัวเองง่ายขึ้น (37%)
ทำเลปัง เดินทางง่าย ตอบโจทย์ Social Life ด้านปัจจัยภายนอกที่มีความสำคัญอันดับต้น ๆ เมื่อผู้บริโภคชาวไทยตัดสินใจซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัยนั้น มากกว่าครึ่งให้ความสำคัญไปที่ทำเลที่ตั้งโครงการ (52%) ที่จำเป็นต้องอยู่ในทำเลที่เดินทางสะดวก ใกล้แหล่งความเจริญ ช่วยให้การใช้ชีวิตทุกวันง่ายขึ้น ตามมาด้วยสามารถเดินทางสะดวกด้วยระบบขนส่งสาธารณะ (51%) เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการเดินทางเมื่อไปทำงานหรือสังสรรค์ใจกลางเมือง
นอกจากนี้ผู้บริโภคยังมองว่า โครงสร้างพื้นฐาน/สิ่งอำนวยความสะดวก และระบบรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ ถือเป็นอีกปัจจัยที่มีความสำคัญในการพิจารณาไม่แพ้กัน (สัดส่วนเท่ากันที่ 43%) เนื่องจากเป็นปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตในการอยู่อาศัย การเดินทาง รวมไปถึงรองรับการใช้ชีวิตเมื่อพบปะสังสรรค์ หรือทำกิจกรรมกับเพื่อนและครอบครัว
อุ่นใจเมื่ออยู่ใกล้หมอ อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลในการพิจารณาเลือกที่อยู่อาศัยคือความสะดวกในการเดินทางไปสถานพยาบาล โดยเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคต่างหันมาตระหนักถึงความสำคัญของการเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพมากขึ้น
ซึ่งสิ่งที่เพิ่มความอุ่นใจไปอีกขั้น คือการมีที่อยู่อาศัยที่ไม่ไกลจากสถานพยาบาล เอื้อต่อการวางแผนดูแลสุขภาพในระยะยาว โดยมากกว่า 4 ใน 5 ต้องการที่อยู่อาศัยที่อยู่ใกล้โรงพยาบาลมากที่สุด (88%) ตามมาด้วยอยู่ใกล้ร้านขายยา (45%) และใกล้ศูนย์บริการสุขภาพเฉพาะทาง (37%)
ดูแลบ้านง่ายแค่ปลายนิ้วด้วยระบบ Smart Home เทรนด์บ้านอัจฉริยะ (Smart Home) ได้รับความสนใจมากขึ้นและเข้ามาตอบโจทย์การใช้ชีวิตยุคดิจิทัลได้เป็นอย่างดี จากการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนให้ผู้อยู่อาศัยสามารถควบคุมการทำงานระบบต่าง ๆ ตั้งแต่ความปลอดภัย หรือสิ่งอำนวยความสะดวกภายในบ้านผ่านการเชื่อมต่อด้วยระบบดิจิทัลและ Internet of Things (IoT) ให้สามารถสั่งงานด้วยเสียงหรือจากแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ช่วยยกระดับความปลอดภัยให้ที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นกลอนประตูดิจิทัล (Digital Door Lock) หรือกล้องวงจรปิดที่รองรับการรับชมภาพออนไลน์ได้ตลอดเวลาบนสมาร์ทโฟน นอกจากนี้ ยังสามารถติดตั้งระบบควบคุมการเปิด-ปิดไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านผ่านสมาร์ทโฟนได้อีกด้วย
แม้ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม จะต้องรอติดตามความชัดเจนต่อไปในการพิจารณาวาระอื่น ๆ แต่ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของสังคมไทยกับความเสมอภาคทางเพศที่คาดว่าในอนาคตจะมีความชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีสถาบันการเงินหลายแห่งที่ออกมาตรการสนับสนุนการยื่นกู้สินเชื่อร่วมกันสำหรับคู่รักชาว LGBTQIA+ ที่ต้องการกู้ร่วมเพื่อซื้อบ้าน