STP มีโอกาสเติบโตตามบรรจุภัณฑ์อาหารที่เติบโต
บริษัท สหไทยการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) หรือ STP ประกอบธุรกิจผลิตกล่อง 2 ชนิด 1) กล่องกระดาษออฟเซทแบบประกบฟูก และ 2) กระดาษออฟเซทแบบไม่ประกบฟูก เพื่อบรรจุอาหารทะเลแปรรูป และสินค้าอุปโภคบริโภค
โดยการเข้าระดมทุนในตลาดเอ็มเอไอครั้งนี้เพื่อใช้ในการขยายโรงงานและลงทุนเครื่องจักร และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยประเมินมูลค่าเหมาะสมปี 2565 ที่ 24.25 บาทต่อหุ้น
ประเด็นสำคัญในการลงทุน
• STP ผู้ผลิตกล่องกระดาษเพื่อบรรจุอาหาร : ประกอบธุรกิจผลิตกล่องกระดาษออฟเซททั้งแบบประกบฟูกและไม่ประกบฟูกเพื่อบรรจุอาหารทะเลแปรรูปและสินค้าอุปโภคบริโภค โดย ปี 2564 บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากผู้ผลิตอาหารราว 94% ทั้งนี้บริษัทมีรายได้และกำไรสุทธิปี 2561-2564 อยู่ที่ 369-561 ลบ. และ 54-124 ลบ. ตามลำดับ โดยคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย CAGR ตลอด 4 ปีที่ 11% และ 23% ต่อปีตามลำดับ ตามการเพิ่มกำลังการผลิตใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับคำสั่งซื้อจากคู่ค้า
• คาดปี 2562-2570 อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เติบโต 8%ต่อปี : สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมมาซื้อผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นทำให้มีความต้องการผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย สอดคล้องกับ Businesswire (2001) ที่คาดว่ามูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์โลกจะขยายตัว 8% ต่อปี ในช่วงปี 2562 – 2570 นอกจากนี้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีมูลค่าส่งออกในไตรมาสแรกของปี 2564 รวม 845 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 11% ซึ่งมีจุดแข็งในเรื่องความได้เปรียบเชิงเทคโนโลยีและคุณภาพของบรรจุภัณฑ์ เมื่อเทียบกับคู่แข่งหลักอย่างเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นโอกาสขยายตลาดของผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ไทยในอนาคต
• คาดการณ์กำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ปี 2564-2566 ที่ 17%ต่อปีหลังมีการขยายโรงงานใหม่ : คาดรายได้ปี 2565 อยู่ที่ 617 ลบ. เติบโต 10%YoY โดยได้แรงหนุนจาก 1) การขยายตัวของการส่งออกอาหารสัตว์จะเติบโตราว 20% ในปี 2022 (ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย) 2) การขยายตัวของมูลค่าบรรจุภัณฑ์ในตลาดโลกขยายตัว 8% และ 3) การขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีก 50% สู่ 74.6 ล้านแผ่นพิมพ์ต่อปีเพื่อลดการจ้างผลิตจากภายนอก (คาดแล้วเสร็จช่วงปลายปี 2565) ขณะที่คาดอัตรากำไรขั้นต้นจะปรับตัวลงเล็กน้อยจาก 38.0% สู่ระดับ 37.3% เนื่องจากมีการจ้างผลิตจากโรงงานภายนอก อีกทั้งการขยายกำลังการผลิตคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2565 ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันต่ออัตรากำไรขั้นต้น ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเทียบกับรายได้จะปรับตัวลงจาก 12.7% เหลือ 11.9% เนื่องจากค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ ทั้งนี้เราคาดการณ์กำไรปี 2565 อยู่ที่ 134 ลบ. เติบโต 8%YoY และคาดการณ์รายได้และกำไรปี 2566 จะอยู่ที่ราว 710 ลบ. และ166 ลบ. เติบโต 15% และ 24% ตามลำดับ เนื่องจากเริ่มรับรู้กำลังการผลิตใหม่เต็มปีในปี 2566 และลดการจ้างผลิตจากโรงงานภายนอก
• การประเมินมูลค่าหุ้น : ฝ่ายวิจัยประเมินมูลค่าด้วยวิธี Prospective P/E Ratio โดยอ้างอิง P/E Ratio ที่ 18.1 เท่าซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 120 วันของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษแบบออฟเซทซึ่งแสดงตามตารางด้านล่าง อาทิ SPACK และ TPP และคาดการณ์กำไรต่อหุ้น (EPS) สำหรับปี 2565 ที่ 1.34 บาทต่อหุ้นได้ราคาเหมาะสมที่ 24.25 บาทต่อหุ้น
ปัจจัยเสี่ยง
i) พึ่งพิงลูกค้ารายใหญ่ 3 รายคิดเป็นสัดส่วน 70% ของรายได้รวม
ii) พึ่งพิงลูกค้าในอุตสาหกรรมผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง 86%
iii) ความผันผวนของราคากระดาษขาวเคลือบ และกระดาษคราฟท์
iv) พึ่งพิงผู้จำหน่ายกระดาษรายใหญ่คิดเป็น 47% ของคำสั่งซื้อ