7 ตัววัดด้านสังคมที่กิจการมีข้อมูลและตอบโจทย์ SDG
7 ตัววัดสังคม ที่กิจการจะใช้ตัววัดเหล่านี้ในการตอบโจทย์ SDG ขององค์กรแล้ว ยังสามารถส่งต่อให้รัฐบาลรวบรวมเป็นข้อมูลการบรรลุ SDG ของประเทศ ในระดับตัวชี้วัด ได้อย่างเป็นระบบและคล้องจองกัน
นับตั้งแต่ที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เมื่อปี ค.ศ.2015 สำหรับใช้เป็นทิศทางการพัฒนาโลกในกรอบระยะเวลา 15 ปี ภาคเอกชน ได้มีความตื่นตัวในฐานะที่เป็นภาคส่วนหนึ่งของสังคมโลก เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาเพื่อการบรรลุเป้าหมายโลก 17 ข้อ
ผมได้รับข้อคำถามจากองค์กรธุรกิจหลายแห่งที่มีความประสงค์จะร่วมตอบสนองต่อ SDGs อย่างจริงจัง ว่าจะเริ่มต้นและดำเนินการอย่างไร จึงจะถูกทิศถูกทาง ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการลองผิดลองถูก และที่สำคัญ มีความแตกต่างจากองค์กรธุรกิจที่พูดถึง SDGs เพียงเพื่อการสร้างภาพลักษณ์หรือประชาสัมพันธ์
คำตอบที่ผมมีให้กับองค์กรธุรกิจที่ต้องการทำจริง และตอบโจทย์จริง มีอยู่สองคำตอบ คือ ข้อแรก ทำจริงผ่านกระบวนการทางธุรกิจ ในรูปแบบ SDG-in-process ที่ให้ผลต่อเนื่อง คือ ออกมาจากตัวธุรกิจ (ที่ดีมากกว่านั้น คือ มาจากธุรกิจแกนหลัก หรือ Core Business) ไม่ใช่ด้วยการสร้างโครงการหรือกิจกรรมรายครั้ง ซึ่งให้ผลเพียงครั้งเดียวต่อโครงการหรือกิจกรรมนั้น
ข้อที่สอง ตอบโจทย์ให้ทะลุไปที่ระดับตัวชี้วัด (Indicator-level) ที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 231 ตัวที่ไม่ซ้ำกัน ไม่ใช่เพียงแค่โยงในระดับเป้าประสงค์ (Goal-level) เพราะมากกว่าครึ่งของการเปิดเผยข้อมูลของกิจการ พบว่า ไม่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งที่องค์กรดำเนินการ กับเป้าหมาย SDGs ที่เชื่อมโยงไปถึง เป็นเพียงความพยายามในการจัดให้เข้าพวก ด้วยชื่อหรือหัวข้อที่อนุมานเองว่าน่าจะมีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เชื่อมโยง มิได้ตอบโจทย์เป้าหมายตามจริง
ในบทความนี้ จะพูดถึง 7 ตัววัดด้านสังคม ที่กิจการสามารถรวบรวมข้อมูลได้จากกระบวนการทางธุรกิจที่ดำเนินอยู่แล้ว และสามารถใช้ตอบโจทย์ SDG ในระดับตัวชี้วัด
ตัววัดด้านสังคมทั้ง 7 ตัว นำมาจากเอกสาร Guidance on core indicators for entity reporting on contribution towards implementation of the Sustainable Development Goals ที่จัดทำขึ้นโดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (ISAR) ตามแนวทางที่องค์การภายใต้สหประชาชาติให้ความเห็นชอบ ประกอบด้วย
สัดส่วนหญิงในตำแหน่งจัดการ (Proportion of women in managerial positions) เป็นจำนวนของหญิงในตำแหน่งจัดการ ต่อจำนวนพนักงานรวมทั้งหมด โดยพิจารณาจากตัวเลขพนักงาน ณ วันสิ้นรอบการรายงาน แสดงเป็นรายหัว (Head Count) หรือเป็นค่าเทียบเท่าพนักงานเต็มเวลา (Full Time Equivalent)
ชั่วโมงเฉลี่ยการฝึกอบรมต่อปีต่อคน (Average hours of training per year per employee) เป็นมาตราส่วนการลงทุนของกิจการในการฝึกอบรมพนักงาน (ในทุนด้านมนุษย์) และระดับความเข้มข้นของการลงทุนที่มีต่อฐานพนักงานทั้งหมด ในรูปของชั่วโมงการฝึกอบรม
รายจ่ายการฝึกอบรมพนักงานต่อปีต่อคน (Expenditure on employee training per year per employee) เป็นมาตราส่วนการลงทุนของกิจการในการฝึกอบรมพนักงาน (ในทุนด้านมนุษย์) และระดับความเข้มข้นของการลงทุนที่มีต่อฐานพนักงานทั้งหมด ในรูปของรายจ่ายค่าฝึกอบรม
สัดส่วนค่าจ้างและสวัสดิการพนักงานต่อรายได้ จำแนกตามชนิดการจ้างและมิติหญิงชาย (Employee wages and benefits as a proportion of revenue, by employment type and gender) เป็นตัวเลขค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าแรงพนักงานทั้งหมดของกิจการ จำแนกตามชนิดการจ้างและมิติหญิงชาย เทียบกับรายได้รวมของกิจการ
สัดส่วนรายจ่ายด้านสุขภาพและความปลอดภัยพนักงานต่อรายได้ (Expenditures on employee health and safety as a proportion of revenue) เป็นตัวเลขค่าใช้จ่ายรวมในด้านสุขภาพและความปลอดภัยที่กิจการมีต่อพนักงาน เทียบกับรายได้รวมของกิจการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน ที่เป็นประเด็นสำคัญในเรื่องความรับผิดชอบของกิจการ
ความถี่และอัตราการบาดเจ็บเนื่องจากการทำงาน (Frequency/incident rates of occupational injuries) เป็นตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับวันทำงานที่สูญเสียอันเนื่องมาจากโรค การบาดเจ็บ และอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน ในรอบการรายงาน ที่แสดงถึงประสิทธิผลของนโยบายด้านสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน
ร้อยละของพนักงานที่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง (Percentage of employees covered by collective agreements) เป็นตัวเลขอัตราส่วนจำนวนพนักงานที่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เทียบกับจำนวนพนักงานทั้งหมดในรอบการรายงาน
ทั้ง 7 ตัววัดสังคมข้างต้น กิจการสามารถใช้แสดงถึงการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าที่ 3 สุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดี (ตามเป้าหมาย SDG ที่ 3.8) เป้าที่ 4 การศึกษาที่ได้คุณภาพ (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 4.3.1) เป้าที่ 5 ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 5.5.2) เป้าที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 8.5.1 และเป้าหมาย SDG ที่ 8.8 ตัวชี้วัด SDG ที่ 8.8.1, 8.8.2) และเป้าที่ 10 ชุมชนและเมืองที่ยั่งยืน (ตามตัวชี้วัด SDG ที่ 10.4.1)
นอกจากที่กิจการจะใช้ตัววัดเหล่านี้ในการตอบโจทย์ SDG ขององค์กรแล้ว ยังสามารถส่งต่อให้รัฐบาลรวบรวมเป็นข้อมูลการบรรลุ SDG ของประเทศ ในระดับตัวชี้วัด ได้อย่างเป็นระบบและคล้องจองกันอีกด้วย
สำหรับรายละเอียดของ 7 ตัววัดด้านสังคม สถาบันไทยพัฒน์ได้ทำการแปลจากเอกสารแนวทางฉบับที่ ISAR จัดทำขึ้น และเผยแพร่ไว้ในหนังสือ Corporate SDG Impact: From Purpose to Performance ซึ่งผู้ที่สนใจศึกษาเพิ่มเติม สามารถดาวน์โหลดได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ที่เว็บไซต์ https://thaipat.org