บีโอไอเล็งปรับแรงจูงใจส่งเสริมการลงทุนรถอีวีในประเทศ
บีโอไอเล็งปรับสูตรการส่งเสริมรถอีวีในประเทศ ทั้งการลงทุนแบตเตอรี่ จุดชาร์จแบตเตอรี่ และการลดอากรขาเข้าวัตถุดิบ เพื่อสร้างแรงจูงใจไทยเป็นฐานการผลิตอีวีในภูมิภาค พร้อมตั้งเป้าดึงค่ายรถตั้งศูนย์วิจัย พัฒนารถอีวี และจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศ
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนบีโอไอเปิดเผย ระหว่างการเสวนาในหัวข้อ EV Ecosystem พลิกโฉมยานยนต์ไทย ในงานสัมมนา EV Forum 2022 Move Forward to New Opportunity จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่า บีโอไอกำลังปรับปรุงมาตรการสร้างแรงจูงใจในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ในประเทศไทย โดยกำลังปรับใน 3 เรื่องหลักคือ การส่งเสริมการลงทุนในแบตเตอรี่ จุดชาร์จแบตเตอรี่ และการลดอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบที่นำมาผลิตรถอีวี
“มาตรการส่งเสริมรถยนต์อีวีของบีโอไอมีความยืดหยุ่น ไม่ใช่ประกาศไปแล้วตายตัว ที่ผ่านมา มีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์และเทคโนโลยี”
ทั้งนี้ ในเรื่องของแบตเตอรี่นั้น เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ขึ้น เราควรปรับแรงจูงใจให้เหมาะสม ส่วนการชาร์จแบตเตอรี่นั้น เราจะปรับแรงจูงใจให้เหมาะสมกับการชาร์จในสถานที่ต่างๆ เช่น ออฟฟิศ คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า และการชาร์จจุดต่างๆ และ อีกส่วนคือ การลดอากรขาเข้าให้กับวัตถุดิบที่มาผลิตชิ้นส่วนสำคัญของอีวี เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้เหมาะสม
เขากล่าวว่า บีโอไอ ได้ออกนโยบายส่งเสริมอีวีตั้งแต่ปี 2560 และมีการปรับนโยบายอีกครั้งเมื่อปี 2564 และนำมาสู่การปรับปรุงรอบที่สามในช่วงที่ผ่านมา โดยมาตรการของบีโอไอไม่ได้ส่งเสริมการผลิตรถยนต์เพียงอย่างเดียว เรายังมองครบทั้งอีโคซิสเต็ม โดยในตัวของรถยนต์อีวีในเรื่องของการผลิตแล้ว เรายังมีเป้าว่า จะดึงบริษัทรถยนต์มาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาและใช้ไทยเป็นสำนักงานใหญ่ในภูมิภาค
“บีโอไอได้ส่งเสริมรถอีวีครอบคลุมทุกวงจร ทั้งรถ 4 ล้อ 3 ล้อ 2 ล้อ จักรยานยนต์รถโดยสาร รถบรรทุก และ เรือไฟฟ้า สิทธิประโยชน์ที่ให้คือ การยกเว้นภาษี 3-8 ปี และ ถ้าสามารถผลิตชิ้นส่วนสำคัญภายในกำหนดได้ จะได้สิทธิเพิ่มขึ้นไปอีก นอกจากนี้ ปลายปีที่แล้ว บีโอไอก็ปรับนโยบายเพื่อส่งเสริมการผลิตอีวีแพลตฟอร์ม ส่งเสริมจุดชาร์จ และซอฟต์แวร์ต่างๆ ด้วย เป็นต้น”
สำหรับผลการส่งเสริมรถอีวี ปัจจุบันนั้น รถยนต์อีวีเราอนุมัติการส่งเสริมไปทั้งหมด 16 โครงการ เงินลงทุน 3 หมื่นกว่าล้านบาท คิดเป็น 2.5 แสนคัน อย่างไรก็ดี แม้เราจะส่งเสริมไป 16 โครงการ แต่มีโครงการที่ผลิตเชิงพาณิชย์เพียง 3 โครงการ ฉะนั้น เราเองต้องกระตุ้นทำอย่างไรให้ผู้ที่ได้รับการส่งเสริมไปแล้วมีการผลิตโดยเร็วที่สุด และเชิญชวนผู้ผลิตรายใหม่มาตั้งฐานการผลิตในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิตแบตเตอรี่ต้นน้ำมาผลิตในไทยให้มากขึ้น
นอกจากนี้ เรายังส่งเสริมตัวชาร์จสเตชั่น ซึ่งเราส่งเสริมไปแล้ว 4 ราย มีหัวจ่ายทั้งหมด 6.5 พันจุด ครึ่งหนึ่งเป็นควิกชาร์จ
“จะเห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่สนับสนุนรถอีวีแบบครบวงจร ทั้งมาตรการบีโอไอที่ทำให้เกิดซัพพลาย และ มาตรการการคลังที่ทำให้เกิดดีมานด์ในตลาด รวมทั้ง ครม.มีมติผลักดันให้รถราชการ รัฐวิสาหกิจ ปรับเปลี่ยนมาเป็นรถอีวีมากขึ้น ทั้งหมดนี้ จะเห็นว่า เรามีมาตรการรอบด้าน และ จูงใจผู้ผลิตทั้งรายใหม่ และรายเดิม”
เขากล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา เราค่อนข้างประสบความสำเร็จในการสร้างฐานอุตสาหกรรมรถยนต์ ปัจจุบันมีผู้ผลิตรถยนต์กว่า 20 ราย และผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์กว่า 10 ราย ตั้งฐานในเมืองไทย และไม่ใช่แค่ผู้ผลิตรถ แต่เราส่งเสริมไปถึงซัพพลายเชนทั้งหมดอีกกว่า 3 พันบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีไทย จะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ และช่วยให้เราเป็นฐานการผลิตยานยนต์ชั้นนำของโลกได้ด้วย
“ขณะนี้ เรากำลังก้าวข้ามจากรถสันดาปไปสู่รถอีวี เป็นความท้าทายที่เราต้องรักษาความเป็นแชมป์ให้ได้ ปัจจุบันเราเป็นเบอร์หนึ่งในอาเซียน และเบอร์สิบของโลกในฐานะที่เป็นฐานการผลิตรถยนต์ ก็เป็นความท้าทายที่เราจะต้องรักษาแชมป์ในเรื่องของรถอีวีให้ได้ และใช้อีวีเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศ และนำไปสู่โอกาสใหม่ๆ ของธุรกิจ”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์