กฟผ.มั่นใจผลิตไฟฟ้ารองรับการใช้รถอีวีพร้อมผลิตแพลตฟอร์มรองรับ

กฟผ.มั่นใจผลิตไฟฟ้ารองรับการใช้รถอีวีพร้อมผลิตแพลตฟอร์มรองรับ

กฟผ.มั่นใจผลิตไฟฟ้ารองรับการใช้รถอีวีในระยะ 5-10 ข้างหน้า พร้อมจับมือ 3 การไฟฟ้าร่วมพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด และสร้างแพลตฟอร์มรองรับการใช้ไฟฟ้าในทุกจุดชาร์จ

นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการ Project Management Office การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)กล่าวระหว่างการเสวนาในหัวข้อ EV Ecosystem พลิกโฉมยานยนต์ไทย ในงานสัมมนา EV Forum 2022 Move Forward to New Opportunity จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดยกล่าวว่า มั่นใจว่า การไฟฟ้าทุกหน่วยงานจะสามารถผลิตไฟฟ้ารองรับนโยบายการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีในประเทศ โดยอย่างน้อยในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า มีไฟฟ้าเพียงพออย่างแน่นอน

“โจทย์ของ กฟผ.ในการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี คือ จะทำอย่างไรให้คนหันมาใช้รถอีวี ฉะนั้น เราต้องดูแลเรื่องระบบโครงข่ายไฟฟ้า ซึ่งมีคำถามมากมายว่า ไฟฟ้าจะเพียงพอหรือไม่ ก็ขอให้ความมั่นใจว่า ในระยะสั้น 5-10 ปี มีความเพียงพอ แต่ในบางพื้นที่มีสถานีชาร์จเกิดขึ้นมาก ก็ต้องมีการปรับปรุงกันไป อย่างไรก็ดี ใน 3 การไฟฟ้าก็มีกลไกการพยากรณ์ โดยแผนพัฒนาพลังงานของประเทศก็คำนึงถึงปัจจัยทั้งหมด”

ทั้งนี้ ทั้ง 3 การไฟฟ้าได้มีระบบการติดตามการเพิ่มขึ้นของหม้อแปลง ล่าสุด บอร์ดของ 3 การไฟฟ้ามีมติให้เราร่วมกันศึกษาว่า จะทำอย่างไรให้มีแพลตฟอร์มเห็นการชาร์จได้ที่บ้าน เพราะถ้าชาร์จที่สถานีชาร์จนั้น เห็นไม่ยาก แต่ชาร์จที่บ้านจะทำอย่างไรให้รู้ และโดยพฤติกรรมเชื่อว่า เราชาร์จที่สถานีแค่ 1 ใน 4 ฉะนั้น  อีก 3 เท่าของการชาร์จจะอยู่ที่บ้าน ก็ศึกษาว่า จะดึงข้อมูลออกมาอย่างไร เราก็คาดว่า แพลตฟอร์มนี้ จะนำมาสู่มาตรการการส่งเสริม

นอกจากนี้ เรายังทำสถานีชาร์จ เราคาดหวังจะทำให้เกิดความมั่นใจ เราตั้งเป้าว่า ในช่วงต้นปีหน้า เราอยากให้คนเดินทางด้วยแบตเตอรี่ไปทั่วประเทศ ไปได้ทุกจังหวัด เราได้ทำต้นแบบจุดชาร์จที่กระทรวงการคลัง และกำลังจะทำร่วมกับกรมธนารักษ์เพื่อเป็นต้นแบบ เพราะรถราชการทั้งหมดจะกลายเป็นรถอีวีแล้ว

ขณะเดียวกัน เราจะลองทำสถานีชาร์จแห่งหนึ่งจากเดิมที่เคยเป็นสถานีบริการน้ำมันเป็นสถานีบริการไฟฟ้า แทนที่เคยให้บริการน้ำมันจะเป็นแท่นหัวชาร์จ และเราก็ได้ชักชวนกรมธุรกิจพลังงานไปเป็นที่ปรึกษาดูเรื่องความปลอดภัย และทำศูนย์อบรมเจ้าหน้าที่ ที่ทำหน้าที่กำกับดูแล เพื่อให้คนมีหน้าที่กำกับในแต่ละจังหวัดได้มีองค์ความรู้

ในส่วนของ กฟผ.ในช่วงต้นปี จะจัดให้จุดจอดรถที่ กฟผ.จำนวน 1 ชั้น เป็นจุดชาร์จที่มีหัวชาร์จจำนวน 60-100 หัว เพื่อเป็นต้นแบบ โดยปีหน้ารถผู้บริหารของ กฟผ.จะไม่มีคันไหนที่ไม่มีแบตเตอรี่ และ 70%ในนั้น จะต้องไม่มีถังน้ำมัน ฉะนั้น จะเป็นต้นแบบการเช่ารถที่เป็นอีวี

นอกจากนี้ เรายังร่วมกับ สวทช.ในการพัฒนาแล็บทดสอบ เดิมแล็บทดสอบอีวีได้แค่ 60 กิโลวัตต์ เราจะขยายให้ถึง 150 กิโลวัตต์ เดือนหน้าน่าจะเปิดใช้งานได้ ทำเพื่อให้คนที่อยากจะผลิตหัวชาร์จในประเทศไทยผลิตออกมาได้มาตรฐาน ไม่ต้องนำเข้า ถือเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมอีกแบบ

ทั้งนี้ ในส่วนของแพลตฟอร์มนั้น เราได้รับมอบจากบอร์ดอีวี ให้ร่วมกัน 5 หน่วยงาน เช่น ปตท. การไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อโรมมิ่งแพลตฟอร์ม โดยเดือนหน้าตั้งใจว่า เมื่อเปิดแผนที่ของ 5 หน่วยงาน จะเห็นสถานะของทั้ง 5 หน่วยงาน ทุกสถานี

“เราเชื่อว่า วันหนึ่งข้างหน้า คนจะเปลี่ยนพฤติกรรม คนจะไม่เข้าปั๊มเพื่อเติมน้ำมัน แต่จะไปใช้บริการที่ต่างๆ เพื่อเติมไฟ และเราจะเปิดให้คนมาใช้แพลตฟอร์มเรา เช่น ออฟฟิศ โรงแรม รีสอร์ท สนามกอล์ฟ เพื่อดึงดูดลูกค้าให้หันมาใช้บริการของเขา”

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์