“สุพัฒนพงษ์” ชี้ ค่าเฉลี่ยการกลั่น 6 เดือนลิตรละ 3 บาท งง 8 บาท คิดวิธีไหน
“สุพัฒนพงษ์” ชี้ค่าเฉลี่ยโรงกลั่น 6 เดือน ตกลิตรละ 3 บาท งงตัวเลข 8 บาทคิดด้วยวิธีไหน ยัน โรงกลั่นช่วยรักษาเสถียรภาพความมั่นคงด้านพลังงาน มองสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อ จับตากลุ่ม G7 หารือสิ้นเดือนนี้ วินประชาชนประหยัดพลังงาน 10% ช่วยประหยัดเงินกว่า 2 แสนล้าน
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการวิทยุ FM92.5 MHz วันที่ 18 มิ.ย. ผ่านรายการ “คุยเรื่องบ้าน คุยเรื่องเมือง คุยทุกเรื่องกับรัฐมนตรี” หัวข้อ "ทำไมน้ำมันแพงขึ้น รัฐช่วยอะไรอยู่บ้าง?" ว่า ทั้งนี้ มองว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะยังคงยืดเยื้อ กระทรวงพลังงานได้ติดตามใกล้ชิดมาโดยตลอด ซึ่งปลายเดือนมิ.ย. 2565 จะมีการประชุมกลุ่มประเทศมหาอำนาจทางอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของโลก 7 ประเทศ (G7) ถือเป็นผู้นำกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบกับพลังงาน จะหาทางออกให้กับประชากรทั้งโลก จึงต้องรอดูผลการประชุมดังกล่าวร่วมด้วย ดังนั้น สิ่งสำคัญคือความร่วมมือร่วมใจของประชาชน ผู้ประกอบการ และรับบาล ที่ต้องอยู่ด้วยความเห็นอกเห็นใจ ประคับประคองไปดูแลซึ่งกันและกัน ให้อยู่ในลักษณะที่พอรับกันได้
สำหรับสถานะพลังงานของประเทศไทย ปัจจุบันมีการนำเข้าน้ำมันดิบที่ 92% ส่วนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 35% เนื่องจากก๊าซฯ ในอ่าวไทยที่เคยมีมากเหลือราว 60% ซึ่งประเทศไทยยังเป็นประเทศที่พึ่งพาพลังงานมาก ส่วนหนึ่งของการเติบโตเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ก่อนเกิดโควิด-19 ราคาน้ำมันดิบอยู่ประมาณ 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อเกิดโควิด -19 ช่วงปี 2563 การใช้พลังงานลดลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบลงอยู่ระดับ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และช่วงกลางปี 2564 เริ่มมีวัคซีน ประเทศที่พัฒนามากกว่าประเทศไทย สามารถผลิตวัคซีนได้เร็วและใช้ได้ก่อน ทุกประเทศต่างแย่งหาวัคซีนเมื่อใช้ได้ก่อนก็มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้เร็วปริมาณความต้องการน้ำมันจึงเกิดขึ้นมาก ส่งผลให้ราคาน้ำมันปลายปี 2564 เริ่มทะยานขึ้นจาก 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลมาที่ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์รลและมาอยู่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ระยะหนึ่ง
ประกอบกับช่วงต้นปี 2565 เกิดความขัดแย้งประเทศยูเครน-รัสเซีย ขยายกว้างกลายเป็นความขัดแย้งของขั้วอำนาจโลก 2 ขั้วเป็นเหตุทำให้เกิดวิกฤตอีกครั้งหนึ่ง คือความตระหนกของประชากรโลกกลัวว่าจะขาดแคลนพลังงานมีการซื้อน้ำมันเก็บราคาน้ำมันจึงทะยานขึ้นจนถึงปัจจุบันระดับ 118-120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จึงเป็นเหตุผลว่าน้ำมันทำไมขึ้นราคาสูงขึ้น ส่วนก๊าซฯ จากราคาระดับ 10 ดอลลาร์ต่อหน่วยความร้อนมาอยู่ที่ 30 ดอลลาร์ต่อหน่วยความร้อน ที่มาจากปัจจัยภายนอกที่เกิดขึ้นทั่วโลก ถือเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤต ซึ่งราคาก๊าซหุงต้ม LPG ประเทศไทบราคาถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้านเป็นเท่าตัว เพราะรัฐบาลใช้เงินอุดหนุนเดือนละ 1,500-2,000 ล้านบาท
“เราเพิ่งจะคลี่คลายจากโควิด-19 ไม่ใช่เพียงแค่ราคาพลังงานที่แพง สินค้าอีกราว 7-8 ตัวที่เป็นส่วนสำคัญต่อการใช้ชีวิต อาทิ น้ำมันพืช ปุ๋ยข้าวสาลี และโลหะต่างๆ ที่มีความจำเป็นต่อการใช้ในอุตสาหกรรมมีราคาสูงขึ้น ล้วนมาจากจากปัจจัยขัดแย้งของ 2 ขั้วอำนาจ อีกทั้ง ค่าเงินบาทประเทศไทยอ่อนตัว ถือว่าเป็นประโยชน์ของผู้ส่งออกเศรษฐกิจเรา”
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบราคาระดับน้ำมันประเทศไทยกับเพื่อนบ้านใน 10 ประเทศอาเซียน ประเทศไทยมีราคาถูกสุดในระดับ 7-8 เพราะรัฐบาลดูพยายามที่จะประคับประคองค่าครองชีพประชาชน โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นน้ำมันที่มีผลกระทบวงกว้างต่อราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิต และการขนส่ง ส่วนน้ำมันเบนซิน รัฐบาลอยู่ระหว่างหามาตรการช่วยเหลือโดยจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุด คือ การรักษาเสถียรภาพด้านพลังงานให้อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น หากต้องตรึงราคาทุกตัวคงเป็นไปได้ยาก เพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก ถ้าสถานการณ์การเงินการคลังเราไม่แข็งแรง จะเกิดข้อจำกัดในการมีเงินตราต่างประเทศเพื่อซื้อน้ำมันเหมือนบางประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังเกิดปัญหาสถานีน้ำมันขาดแคลนท่ามกลางราคาที่สูงมากเช่นกัน โดยประเทศไทยได้ประสานความร่วมมือกับกรมศุลกากรในการผ่อนปรนนักท่องเที่ยวเพื่อนบ้านที่มาเติมน้ำมันในประเทศไทยเฉพาะที่เป็นกลุ่มนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวเท่านั้น
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวถึงประเด็นการเก็บเงินจากโรงกลั่นน้ำมันว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าค่าการกลั่นคือส่วนต่างของราคาน้ำมันดิบกับค่าเฉลี่ยของราคาผลิตภัณฑ์ที่โรงกลั่นขายได้ ซึ่งเมื่อนำเข้าน้ำมันดิบมาในประเทศเพื่อใช้ประโยชน์ตรงๆจะทำไม่ได้เพราะคุณภาพจะแตกต่างกันไป ดังนั้นต้องแยกเป็นส่วนๆ แต่ละประเภทของน้ำมัน ทั้ง ดีเซล เบนซิน น้ำมันเตา เป็นต้น ที่คุณภาพบางอันสูงบางอันต่ำ เมื่อเฉลี่ยและหักลบกับน้ำมันดิบ จะเป็นค่าการกลั่นพื้นฐานที่ยังไม่สุทธิ เพราะยังไม่หักค่าใช้จ่าย อาทิ ค่าแรง ค่าเสื่อมราคา ค่าบำรุงรักษา ค่าดอกเบี้ย หรือแม้แต่ค่าเงิน เป็นต้น
ดังนั้น ตัวเลขของกระทรวงพลังงานที่มีเผยแพร่เป็นตัวเลขประมาณการของแต่ละโรงกลั่นที่มีค่ากันกลั่นที่แตกต่างกันไป ซึ่งหากคำนวณเป็นค่ากลางๆไว้ย้อนหลัง 10 ปี ช่วงก่อนโควิดค่ากันกลั่นอยู่ประมาณ 2 บาทต่อลิตร แต่เมื่อเกิดโควิด ลดลงเหลือไม่ถึง 1 บาท โรงกลั่นก็ไม่ได้กำไร เพราะยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ไปช่วยเหลือ เพราะเป็นธุรกิจเสรี ถือเป็นภาระของโรงกลั่นที่ต้องดูแลเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อกำลังการผลิตสูงขึ้น ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันสูงขึ้น สิ่งที่เป็นประเด็นคือคนบางกลุ่มมีการคำนวณตัวเลขระดับ 8-9 บาทต่อลิตรไม่ทราบว่าใช้วิธีการคำนวณแบบไหน ซึ่งกระทรวงพลังงานได้คำนวณค่าเฉลี่ย 6 เดือนของปี 2565 อยู่ที่ 3 บาทต่อลิตร จึงอยากให้ประชาชนเข้าใจว่าสถานการณ์ไม่ได้เป็นลักษณะที่โรงกลั่นมาปล้นหรือรัฐบาลไม่ได้กำกับดูแล
“อยากให้รู้ว่ารงกลั่นมีส่วนช่วยเสริมความมั่นคงให้กับประเทศไทยนั้น เช่น น้ำมันดิบที่นำเข้ามาใช้ประโยชน์โดยตรงไม่ ดังนั้น หากไม่มีการกลั่นน้ำมันจะต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปทั้งหมดเชื่อว่าราคาจะแพงกว่าปัจจุบันที่ซื้อจากโรงกลั่น เพราะต้องแย่งกันซื้อบวกค่าขนส่ง ค่าปรับคุณภาพ รวมถึงปริมาณสำรองน้ำมันจะอยู่แค่หลัก 10 วัน ไม่ถึงระดับกว่า 60 กว่าวันในปัจจุบัน หากมีปัญหาระหว่างประเทศเกิดขึ้น ประเทศไทยจะขาดน้ำมันทันที”
ทั้งนี้ ตลอดระยะ 2 ปีที่เกิดโควิด รัฐบาลได้เข้าไปดูแลด้านราคาพลังงานให้กับประชาชน 206,903 ล้านบาท อาทิ ตรึงราคาดีเซลจากลิตรละ 30 บาท มาถึงลิตรละ 35 บาทปัจจุบันราคาจริงอยู่ที่ลิตรละ 45 บาท ใช้เงินเดือนละ 20,000 ล้านบาท ส่งผลให้สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คาดว่าสิ้นเดือนมิ.ย. 2565 จะติดลบที่ 100,000 ล้านบาท รวมถึงพยุงราคาก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้าที่ล้วนแล้วแต่มีราคาสูงขึ้น แต่รัฐบาลได้ประคับประคองค่อยๆ ปรับขึ้น และการคงราคาก๊าซ NGV เพื่อให้กระทบกับประชาชนน้อยที่สุด
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ประชาชนมีส่วนร่วมในการประหยัดพลังงาน เพื่อผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งหากประหยัดพลังงานไฟฟ้าและน้ำมัน 10% จะช่วยประหยัดเงินรวมกันกว่า 200,000 ล้านบาท เพียง 1 ปี จะเท่ากับเงินที่รัฐบาลสนับสนุนไป 2 ปี ถือเป็นความคุ้มค่าที่น่าทำอยากจะให้เป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน โดยส่วนราชการของกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการประหยัดพลังงานตั้งเป้าหมายลดลงที่ 20%
สำหรับนโยบายส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติที่ทำให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน ตามที่ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์บนเวที COP26 เพื่อทำให้รถอีวีเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย อีกทั้ง รัฐบาลได้สนับสนุนจนทำให้ราคาลดลงมาก และสิ่งสำคัญคือค่าใช้จ่ายระหว่างค่าไฟกับน้ำมันต่อหน่วยไม่ถึงกิโลเมตรละ 1 บาท ถูกกว่าน้ำมันมากดังนั้น หากประชาชนยู่ในช่วงในการพิจารณาที่จะเปลี่ยนรถ ตนก็อยากให้ลองพิจารณารถ EV