ส.อ.ท.-กนอ.หนุนธุรกิจรีไซเคิล สร้างอีโคซิสเท็ม“กรีนซัพพลายเชน”
ส.อ.ท. จับมือ กนอ. ตั้งเป้าดัน 80% โรงงานจัดการของเสียประเภทโรงงานกำจัด คัดแยก และรีไซเคิลทั่วประเทศ ได้รับรองมาตรฐาน Eco Factory ในปี 2568 มุ่งสร้าง green supply chain พร้อมเดินหน้าสอดคล้องนโยบายบีซีจี การใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่าสูงสุด พร้อมแก้ปัญหาลักลอบทิ้งของเสีย
หลายปีที่ผ่านมาการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมมีภาพลักษณ์ด้านลบและสร้างความกังวลให้กับชุมชนและสังคมโดยรอบ รวมทั้งถูกมองว่าเป็นต้นเหตุหลักของปัญหาสิ่งแวดล้อม กดดันให้ในปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมต้องหันมาให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างยั่งยืนตลอดทั้งซัพพลายเชนและสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ขยายความร่วมมือรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2565 เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกรวมทั้งโรงงานในความดูแลของ กนอ.ได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าว 100% ภายในปี 2568
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้กำหนดยุทธศาสตร์ First2Next-Gen Industry ที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่อนาคต โดย ส.อ.ท.จะเข้าไปช่วยส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการในการยกระดับอุตสาหกรรมในมิติต่างๆ โดยในมิติสิ่งแวดล้อมได้ตั้งเป้าหมายพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ Eco Product , Eco Factory และ Eco Town
มาตรฐาน Eco Factory จะเป็นกลไกสำคัญในการประเมินสมรรถนะของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมของกิจกรรมองค์กรตลอดซัพพลายเชนสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และก่อให้เกิดผลผลิตสีเขียวมากที่สุดสอดคล้องกับโมเดลบีซีจี รวมทั้งทำให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นที่ยอมรับของชุมชนแวดล้อม ยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนด้วยหลักความร่วมมือเกื้อกูล และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง กนอ.และ ส.อ.ท.ในการพัฒนามาตรฐาน Eco Factory For Waste Processor ในครั้งนี้จะเป็นความร่วมมือที่สำคัญ ในการยกระดับผู้ประกอบการจัดการของเสียให้มีการดำเนินการที่สอดคล้องตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน
กนอ.จะดำเนินการส่งเสริมให้ โรงงานจัดการของเสียประเภทโรงงานกำจัด คัดแยก และรีไซเคิลของเสีย ที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 74 แห่ง ได้รับรองมาตรฐานนี้ครบ 100% ภายในปี 2568 รวมทั้งส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมผู้ก่อกำเนิดของเสียที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมให้เลือกใช้บริการบำบัดและกำจัดของเสียจากผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ได้รับรองมาตรฐาน และที่สำคัญคือการผลักดันสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับ โรงงานจัดการของเสียที่ได้รับรองมาตรฐานนี้
สมชาย หวังวัฒนาพาณิช รองประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ส.อ.ท. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ส.อ.ท.ได้ทำงานร่วมกับ กนอ.เพื่อผลักดันมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ(Eco Factory) สำหรับอุตสาหกรรมทั่วไป โดยตั้งแต่ปี 2560 มีโรงงานที่ได้รับการรับรองแล้ว368 ราย และจะต้องต่ออายุมาตรฐานดังกล่าวทุก 3 ปี
ในขณะที่มาตรฐาน Eco Factory ในกลุ่มอุตสาหกรรมจัดการของเสียได้มีการประกาศข้อกำหนดมาตรฐานเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2565 โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2568 ผู้ประกอบการจัดการของเสียที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท. ต้องได้รับการรับรอง 100% รวมถึงผู้ประกอบการของเสียที่ประกอบกิจการอยูในปัจจุบันจะต้องได้รับการรับรองมากกว่า 80% ภายในปี 2568
นอกจากนี้ ปัจจุบันนี้ ส.อ.ท.มีมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ 2 กลุ่ม คือ Eco Factory สำหรับรับรองผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั่วไป และ Eco Factory For Waste Processor สำหรับรับรองผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจัดการของเสีย ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วนว่า โรงงานอุตสาหกรรมที่รับรีไซเคิล บำบัด และกำจัดกากอุตสาหกรรม ที่ได้รับรองตราสัญลักษณ์ Eco Factory For Waste Processor มีการดำเนินธุรกิจที่ได้มาตรฐานหลักวิชาการถูกกฎหมาย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน
ธีระพล ติรวศิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท. กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีโรงงานรีไซเคิล บำบัด หรือกำจัดกากอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และในขณะเดียวกับข่าวการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นซึ่งประกอบด้วยหลายปัจจัย โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการดำเนินธุรกิจที่ไม่ได้มาตรฐาน และต้องการลดต้นทุนการดำเนินการ ซึ่งปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก
ดังนั้น โรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมจัดการของเสียควรได้การรับรองตราสัญลักษณ์เพื่อการสร้างมาตรฐานและความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน รวมทั้งเพิ่มศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจในการเป็นคู่ค้ากับโรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสียเพื่อร่วมสร้าง Green Supply Chain และโอกาสในการเข้าสู่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างจากภาครัฐ
นอกจากนี้ การได้รับการรับรองมาตรฐานยังส่งเสริมให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดการใช้ทรัพยากร ลดการเกิดของเสีย ทั้งยังสามารถแลกเป็นคาร์บอนเครดิตได้จากโครงการT-VER ซึ่งเครดิตดังกล่าวจะมีแนวโน้มมูลค่าสูงขึ้นในอนาคต
สำหรับสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อมที่แสดงเจตนารมณ์เพื่อขอรับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor รวม 16 ราย ประกอบด้วย บริษัท ทีพีไอ โพลีนจำกัด (มหาชน) , บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) , บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด , บริษัท สยามเอ็นไวรอนเมนทอลเทคโนโลยี่ จำกัด
บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด , บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (ทุ่งสง) จำกัด , บริษัท ทีเออาร์เอฟจำกัด , บริษัท โปรเฟสชั่นแนล เวสต์ เทคโนโลยี (1999) จำกัด (มหาชน) , บริษัท ไพโร เอนเนอร์ยี่ จำกัด , บริษัท ไฟเบอร์ พัฒน์ จำกัด
บริษัท มัตซึดะ ซังเกียว (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัท มัตซึดะ ซังเกียว (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ส.กนกการจัดการสิ่งเเวดล้อม จำกัด , บริษัท เอส ซี ไอ อีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด , บริษัทซิมสุลาลัย จำกัด