5 เทคนิค วางแผนการเงิน ให้ผ่อนบ้านหมดเร็วขึ้น!

5 เทคนิค วางแผนการเงิน ให้ผ่อนบ้านหมดเร็วขึ้น!

เปิด 5 เทคนิค "ผ่อนบ้าน" ให้หมดเร็วขึ้น แถมดอกเบี้ยถูกลงได้ด้วยการวางแผนการเงินที่ถูกต้อง​ ทั้งการเพิ่มจำนวนเงินผ่อน เมื่อมีรายรับเพิ่มขึ้น รวมถึงการจ่ายก้อนใหญ่หากได้ "โบนัส" ประจำปี รวมถึงอย่าลืม "รีไฟแนนซ์" ที่จะช่วยให้สามารถผ่อนบ้านหมดไวขึ้น

ด้วยภาระของคนเรามีมากน้อยต่างกัน บางคนบ้านไม่ต้องเช่า ไม่มีรายจ่ายมากมาย แต่ตรงกันข้ามกับหลายๆ ราย ที่ต้องสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตัวเอง เมื่อพอมีรายได้ประจำก็อยากมีบ้านมีรถในฝัน เริ่มเป็นหนี้ก้อนโตที่ต้องแบกภาระยาวนานอีกหลายสิบปี

ดังนั้น การบริหารเงินที่เข้ามาถือว่ามีความจำเป็นอย่างมาก แม้ว่าหนี้สินจะมีขนาดใหญ่ และค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนก็แทบจะไม่เหลือ แต่สามารถย่นระยะเวลาในการผ่อนชำระหนี้สิน โดยเฉพาะบ้านให้สั้นลงแถมดอกเบี้ยถูกลงได้ หากสามารถวางแผนการเงินได้ดังนี้

1.ได้ปรับเงินเดือน... ผ่อนต่อเดือนให้มากขึ้น

โดยสัดส่วนสินเชื่อบ้านในช่วงปีแรกๆ เงินค่างวดที่ส่งไปจะถูกตัดเป็นเงินต้นส่วนหนึ่ง และจะถูกตัดเป็นดอกเบี้ยมากกว่า ดังนั้น หากเราสามารถจ่ายค่างวดให้มากขึ้นกว่าค่างวดปกติ หรือเมื่อได้รับการปรับเงินเดือน ก็ควรจัดสรรเงินบางส่วนไปเพิ่มในค่างวดบ้านด้วย ซึ่งเงินส่วนเกินที่จ่ายเพิ่มไปในแต่ละเดือน จะถูกนำไปตัดเป็นเงินต้น ซึ่งจะช่วยทำให้ผ่อนบ้านได้หมดไวขึ้น

ที่สำคัญควรจ่ายให้ตรงงวดตรงเวลาที่ส่งค่างวด เพราะเป็นวันที่ธนาคารตัดดอกเบี้ยเซตศูนย์ใหม่ทั้งหมด เงินค่างวดจะไปตัดเป็นเงินต้น และจะทำให้ดอกเบี้ยถูกลง

2.ได้โบนัส... จ่ายเพิ่มปีละครั้ง

ทุกๆ สิ้นปี ถือเป็นช่วงที่พนักงานทุกคนจะมีโอกาสได้รับทรัพย์กันถ้วนหน้า หากผลประกอบการของบริษัทดี ก็จะได้ค่าตอบแทนความเหนื่อยเป็นโบนัสตามสัดส่วนที่เหมาะสมของแต่ละคน ดังนั้น เงินโบนัสที่ได้รับนี้ควรนำไปจ่ายค่างวดบ้านเพิ่มอีก 1 งวด ซึ่งก็จะคล้ายกับการจ่ายค่างวดเพิ่มต่อเดือน แต่จะเป็นการจ่ายค่างวดเพิ่มจากเดิม 12 ครั้ง/ปี ก็จะกลายเป็น 13 ครั้ง/ปี เป็นการช่วยลดเงินต้นได้อีกทางหนึ่ง

3.โบนัสก้อนโต... โปะให้หมด

ในกรณีที่บางรายได้โบนัสหลายเดือนเป็นเงินก้อนโต จากที่จ่ายเพิ่มอีก 1 งวด อาจเปลี่ยนเป็นนำเงินที่ได้มาโปะค่าบ้านหมดเลย จะช่วยลดเงินต้นได้เป็นจำนวนมาก แถมดอกเบี้ยก็จะลดลงอีกด้วย

แต่ห้ามลืมว่า การนำเงินที่ได้รับมาโปะค่าบ้านทั้งหมด จะต้องคำนวณวางแผนการเงินไว้เป็นอย่างดีแล้วว่าไม่มีภาระทางอื่น หรือไม่ทำให้ค่าใช้จ่ายติดลบก็ควรตัดสินใจโปะให้หมด

3.รีบผ่อนในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ

อย่างที่ทราบกันดีว่าสินเชื่อบ้านเป็นแบบลดต้นลดดอก และที่สำคัญโปรโมชั่นส่วนใหญ่ที่สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเสนอให้ เช่น จะดอกเบี้ย 0% ในช่วง 3 ปีแรก หรือดอกเบี้ยคงที่ในระดับต่ำ หากในช่วงนี้สามารถเพิ่มค่างวดในแต่ละเดือนได้ เงินค่างวดจะถูกตัดเป็นเงินต้นเยอะมากขึ้น

อาจจัดสรรเงินในช่วงแรกด้วยการเพิ่มค่างวดจำนวนน้อยก่อนในแต่ละเดือน แล้วค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นเมื่อมีโอกาสได้รับเงินเพิ่มหรือได้ปรับเงินเดือน จ่ายค่างวดเพิ่มให้มากเท่าที่จะทำได้ในช่วง 3 ปีแรกนี้ โดยไม่ให้กระทบการเงินของตนเอง

เพราะหากหมดช่วงดอกเบี้ย 0% หรือดอกเบี้ยคงที่แล้ว ถูกเปลี่ยนเป็นช่วงดอกเบี้ยลอยตัว เงินค่างวดที่ส่งไปจะตัดเป็นดอกเบี้ยมากขึ้น ซึ่งส่งผลทำให้ลดเงินต้นได้น้อยลงนั่นเอง

4.ปรับโครงสร้างหนี้

กระบวนการต่อจากการผ่อนค่างวดให้มากขึ้นในช่วงดอกเบี้ยคงที่ หรือดอกเบี้ยต่ำในช่วง 3 ปีแรก แต่เมื่อหมดช่วง 3 ปีแรกไปแล้ว สินเชื่อบ้านจะถูกปรับเป็นดอกเบี้ยลอยตัว ดอกเบี้ยสูงขึ้น เช่น จากที่เคยดอกเบี้ยคงที่ 3% เมื่อครบ 3 ปี จะถูกปรับเป็นดอกเบี้ย 6% ทำให้ภาระการผ่อนชำระเพิ่มขึ้น เงินที่จ่ายไปก็กลายเป็นดอกเบี้ยเสียหมด

ดังนั้น ควรทำการปรับโครงสร้างหนี้ แต่ต้องอย่าลืมว่าเครดิตต้องดีไม่มีเสียหาย การบริหารจัดการเงินที่ผ่านมาเป็นไปได้อย่างดีเยี่ยม มีการผ่อนชำระค่างวดสม่ำเสมอไม่มีขาดส่ง จะช่วยทำให้การอนุมัติปรับโครงสร้างหนี้ง่ายขึ้น ดังนี้

- รีไฟแนนซ์ (Refinance) เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ เพื่อให้ดอกเบี้ยกลับมาถูกลงเหมือน 3 ปีแรก เป็นการย้ายสินเชื่อจากธนาคารเดิมไปธนาคารใหม่ ซึ่งควรเลือกธนาคารที่เสนอดอกเบี้ยที่ถูกกว่า เพื่อให้สามารถปิดหนี้ได้เร็วขึ้น และควร Refinance ทุกๆ 3 ปี

โดยเช็กสัญญาให้ดีก่อน Refinance เพราะถ้าหากทำผิดสัญญาและ Refinance ก่อน อาจต้องเสียค่าปรับจากธนาคารเดิมได้ และพิจารณาค่าใช้จ่ายในการ Refinance ด้วย ว่าจะคุ้มค่ากับดอกเบี้ยที่ลดลงหรือไม่ เช่น ค่าธรรมเนียมในการจดจำนองจ่ายให้กรมที่ดิน 1% ของวงเงินกู้ใหม่ ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้ใหม่ค่าประกันอัคคีภัย 0.2-0.3% ของราคาบ้าน และค่าประเมินหลักประกันประมาณ 2,700-3,000 บาท

- Retention เป็นการขอลดอัตราดอกเบี้ยกับธนาคารเดิม แต่กรณีนี้ธนาคารจะพิจารณาให้กับลูกหนี้ชั้นดี คือมีการผ่อนชำระตรงกำหนดของธนาคาร ซึ่งมีความยุ่งยากน้อยกว่าการ Refinance กับธนาคารอื่น เหมาะกับผู้ที่ไม่มีงานประจำและงานฟรีแลนซ์

สรุป

อย่างไรก็ตามการผ่อนบ้านให้หมดเร็วหรือช้านั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องการเงินของผู้ผ่อนชำระด้วย หากบริหารจัดการเงินที่ได้รับมาได้ดี ไม่กระทบกับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตแต่ละวัน สามารถผ่อนค่างวดได้สูงย่อมส่งผลให้หมดไวและดอกเบี้ยก็ลดลง

ที่สำคัญต้องวางแผนจัดการให้ถูกต้องตามเงื่อนไขสัญญาการกู้บ้าน หากทำผิดเงื่อนไขย่อมไม่ส่งผลดีกับผู้กู้สินเชื่อบ้านอย่างแน่นอน

-----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่