บทเรียน..ผู้บริโภคเจ็บ! จาก 'แหลมเกต' ถึง 'ดารุมะ ซูชิ' ความคุ้มค่าราคาแพง
เป็นอีกบทเรียนราคาแพงและเจ็บปวดสำหรับผู้บริโภค เมื่อร้านอาหารญี่ปุ่น “ดารุมะ ซูชิ” (Daruma Sushi) ปิดกิจการแบบฟ้าผ่าทุกสาขาพร้อมเพรียงกัน
สิ่งที่ตามมาคือ ผู้บริโภคจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการปิดให้บริการของร้าน เนื่องจากที่ผ่านมาทางร้านมีการทำโปรโมชั่นหั่นราคาบุฟเฟ่ต์ “แซลมอน” เหลือ 199 บาท จากราคา Walk in ที่แพงกว่า หรือราคาปกติราว 499 บาท ภายใต้เงื่อนไขต้องมีการซื้อคูปองหรือ E-Voucher ล่วงหน้า จำนวนที่ร้านกำหนด
สินค้าราคาเหมาะสม ตรงใจผู้บริโภคเป้าหมาย ทำให้หลายคนตุนซื้อ Voucher ขั้นต่ำแตกต่างกันไป 5 ใบบ้าง 10 ใบบ้าง ส่วนการจะไปรับประทานได้จะต้อง “จองคิว” เพื่อรับบริการ
ผู้ที่ซื้อ Voucher สำหรับไปบริโภคเอง ผลกระทบต่อคนอาจคิดเป็นมูลค่าไม่มากนัก แต่เมื่อรวมจำนวนแล้วมีสูงมาก เพราะคาดการณ์เบื้องต้นความเสียหายรวมทะลุ “ร้อยล้านบาท” เนื่องจากยังมี “ตัวกลาง” ที่กว้านซื้อ Voucher เพื่อนำไปขายทำกำไรต่อด้วย ซึ่งจากการทำโพลล์ของเหล่าคลั่งไคล้บุฟเฟต์จะเห็นจำนวน Voucher มีตั้งแต่ 1-12 ใบ สูงสุด 363 ใบ และยังมีกระแสข่าวบางรายซื้อไปถึงหลัก”พันใบ”
ความเสียหายยังลามไปถึงบรรดาผู้ประกอบการที่ลงทุนแฟรนไชส์ซี เทเงินร่วม “ล้านบาท” เพื่อเปิดกิจการด้วย
ทั้งนี้ วันแรกๆที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ มีการรวมตัวกันผ่านสื่อสังคมออนไลน์หลากแพลตฟอร์ม เพื่อเตรียมร้องเจ้าหน้าที่ให้ช่วยเหลือ เช่น Line มีหลายกลุ่มหลักสิบไปจนถึงหลัก “พันราย” เดือดร้อน
ด้านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ถือว่าออกตัวเร็ว ในการประกาศให้ผู้บริโภคเก็บหลักฐาน เอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อคูปองล่วงหน้า ร้องเรียนได้ที่ https://complaint.ocpb.go.th/ และ https://ocpbconnect.ocpb.go.th/ หรือสายด่วน 1166 ในวันเวลาราชการ
ล่าสุด สคบ. ยังเตือนให้ผู้บริโภคระวัง! เพราะยังมีการโฆษณาขาย E-Voucher ของร้านดารุมะ ซูชิอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆด้วย
ร้านดารุมะ ซูชิทุกสาขาพร้อมใจปิดให้บริการทำผู้บริโภคเดือดร้อน
++ความคุ้มค่ากลายเป็นบทเรียนราคาแพง!
ดารุมะ ซูชิ เปิดให้บริการมาหลายปี มีสาวกของแบรนด์ไม่น้อย ทว่าการจัดโปรโมชั่นซื้อ E-Voucher ในราคา 199 บาท เริ่มไม่นานนัก และอยู่ในช่วงที่วัตถุดิบปลาแซลมอนขยับตัวแรงมาก ทำให้ร้านเปลี่ยนจากปลาสดเป็นปลาแซลม่อนแช่แข็งแทน
สำหรับผู้บริโภคไปทาน หลายคนมักจะ “รีวิว” บอกต่อเป็นกระบอกเสียงให้แบรนด์ถึง “ความคุ้มค่า” ของราคาสินค้าที่จ่ายกับอาหารและบริการที่ได้รับ ซึ่งหากมีผู้ “เห็นต่าง” เกี่ยวกับ “คุณภาพของวัตถุดิบ” อาจถูกตั้งคำถามว่า การเลือกบริโภคซูชิ ซาซิมิ แซลมอนแบบบุฟเฟต์ในราคา 199 บาท ต้องได้วัตถุดิบชั้นเลิศขนาดไหน
แน่นอนว่าผู้ที่พึงพอใจในราคาและความคุ้มค่าดังกล่าว มีจำนวนไม่น้อย เพราะในราคา 199 บาทสำหรับซูชิ ซาซิมิแซลมอนนั้น หากไปซื้อเป็นชิ้นในที่ขายในตลาดนัด เงินจำนวนนี้อาจซื้อได้ไม่กี่ชิ้น ส่วนวัตถุดิบชั้นเลิศไม่ต้องพูดถึง ผู้บริโภคอาจต้องจ่ายแพงหลักหลายร้อยเพื่อแลกกับแซลมอนซาซิมิเพียง 3 ชิ้น เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นาทีนี้การจ่ายเงินที่ 199 บาท ไม่คุ้มค่าอีกต่อไป เพราะ E-Voucher ที่อยู่ในมือไร้ค่า เพราะไม่มีร้านดารุมะ ซูชิ ให้ไปเข้าคิวใช้บริการอีกต่อไปแล้ว
อี-คูปอง ที่ยังไม่ได้ใช้ และหมดโอกาสใช้ที่ร้านดารุมะ ซูชิ
++จากแหลมเกต ถึงดารุมะ ซูชิ กลยุทธ์โกยเงินของร้าน
ตามที่กล่าวไปข้างต้น ดารุมะ ซิชู ไม่ใช่ผู้ประกอบการร้านอาหารรายแรกที่ใช้กลยุทธ์การตลาดจัดโปรโมชั่นลดสะบั้นหั่นราคาแหลก เพราะร้านอาหารทะเลชื่อดัง “แหลมเกต” ได้สร้างตำนานการโกยเงินผู้บริโภคล่วงหน้าไปแล้ว
สำหรับผู้ที่เคยใช้บริการร้านแหลมเกตจะรู้ดีว่า รสมือของแม่ครัว เชฟนั้นเข้าขั้นดีทีเดียว ทางร้านยังเป็นต้นตำรับในการทำบุฟเฟต์ซีฟู้ดให้ผู้บริโภคเข้าคิวไปใช้บริการจำนวนมากด้วย
ส่วนเมนูอร่อยมีหลากหลาย ไม่เฉพาะซีฟู้ดที่มีน้ำจิ้มรสเด็ดแซ่บสะเด็ด แต่ร้านเติมเมนูอร่อยจำนวนมาก เพื่อให้บริการแก่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ไม่เว้นแม้ขนมหวาน เป็นจานที่ทุกคนต้องลิ้มลอง เป็นต้น
แหลมเกต เป็นร้านอาหารดังจากจังหวัดชลบุรี ค้าขายให้บริการแก่ลูกค้ากว่า 30 ปี และมีการขยายธุรกิจเข้าสู่กรุงเทพฯ เคยมีสาขาที่เรนฮิลล์(Rain Hill) เริ่มทำบุฟเฟต์ราคากว่า 500 บาทต่อคน จากนั้นมีการย้ายร้านไปอยู่ย่านอารีย์ และสาวกตามไปต่อคิวเพื่อหม่ำซีฟู้ดไม่ลดละ รวมถึงย้ายไปยังอาคาร SJ Infinite One มีโต๊ะรองรับลูกค้านับร้อย และมีการทำราคาโปรโมชั่นออกมาหลากหลายมาก เช่น 666 บาท 888 บาท ฯ ซึ่งต้องซื้อคูปองล่วงหน้า ส่วนการจะไปรับประทานต้องจองคิว ซึ่งก่อนเกิดการโกยเงินแล้วยุติกิจการนั้น โทร.หรือพยายามจองโต๊ะเท่าไหร่ก็ไม่ได้ และคิวยาวนานนับเดือน จนผู้บริโภคท้อไปเอง
ที่สุดแล้ว ปี 2562 ผู้บริหารร้านลอยแพ “ผู้บริโภค” ทั้งหมดที่ซื้อคูปองล่วงหน้า เพราะร้านปิดกิจการ
อย่างไรก็ตาม กรณีฉ้อโกงดังกล่าว ทางผู้บริหารร้านได้รับโทษตามกฏหมายจำคุก 1,446 ปี ปรับรวม 3.6 ล้านบาท และบริษัทต้องชดใช้ด้วยการคืนเงินผู้เสียหายร่วม 2.5 ล้านบาท
++หลายร้านอาหารยื่นมือช่วยพนักงานดารุมะ ซูชิ
นอกจากผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจำนวนมาก “พนักงาน” เป็นอีกกลุ่มที่เดือดร้อนเช่นกัน เพราะร้านปิดฟ้าผ่า ทำให้ต้อง “ตกงาน” แบบกะทันหัน ขาดรายได้ แต่ท่ามกลางวิกฤติที่เกิดขึ้น หลายแบรนด์ร้านอาหารได้ให้ความช่วยเหลือ ประกาศรับเข้าทำงาน รวมถึงลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น ร้าน SHINKANZEN SUSHI เยียวยาด้วยการให้ลูกค้านำคูปองมาแสดง เพื่อรับอาหารเมนูทานเล่นฟรี ส่วนพนักงาน ทางร้านเปิดรับสมัครพนักงานหลายอัตรา สามารถติดต่อสาขาใกล้บ้านได้
ร้านรสดีเด็ด by นพ ยินดีรับสมัครพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากร้านดัง ทั้งตำแหน่งเชฟอาหารญี่ปุ่น พนักงานร้าน พนักงานครัว Nigiwai Sushi พร้อมเปิดรับพนักงานดารุมะ ซูชิ ที่ประสบปัญหา สามารถติดต่อทำงานได้ เป็นต้น
จากบทเรียน “แหลมเกต” ถึง “ดารุมะ ซูชิ” จะเห็นว่า “ความคุ้มค่า” ของเงินที่ต้องจ่าย เป็นสิ่งที่พึงระวังมากขึ้น ยิ่งในยุคภาวะเศรษฐกิจซบเซา การที่ผู้บริโภคจะนำเงินในกระเป๋า ไปซื้อสินค้าและบริการ “ล่วงหน้า” ซึ่งมีโปรโมชั่น ราคาต่ำที่ดึงดูด แต่อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงในการสูญเสียเงิน ดังนั้น จะเลือกใช้เทเงินให้กับสินค้าและบริการใด ต้องพิจารณาแบรนด์ให้ดี และไม่ใช่แค่ธุรกิจร้านอาหาร แต่ทุกการใช้จ่ายต้อง “คิด” ให้รอบคอบยิ่งขึ้นด้วย