“พลังงาน” ชี้ 1-2 สัปดาห์ เคาะหั่นกำไรโรงกลั่น ย้ำทั้ง 6 โรงร่วมมืออย่างดี
“พลังงาน” ย้ำ ภายใน 1-2 สัปดาห์ เคาะหั่นกำไรโรงกลั่น ย้ำทั้ง 6 โรงกลั่น ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ระบุ ทุกการตัดสินใจต้องไม่ขัดข้อกฎหมายทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นโรงกลั่น ส่วนทางออกเสริมสภาพคล่อง “กองทุนน้ำมัน” มีทางออกแล้ว รอ “สุพัฒนพงษ์” เป็นผู้ชี้แจง
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ผ่านรายการ "เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand" วันที่ 21 มิ.ย. 2565 ว่า กระทรวงพลังงานเดินหน้าหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการโรงกลั่นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดวันที่ 20 มิ.ย. 2565 ได้เชิญกลุ่มโรงกลั่นทั้ง 6 โรงกลั่น ประกอบด้วย 1. บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP 2. บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC 3. บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC 4. บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP 5. บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ESSO และ 6. บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ทั้ง 6 โรงกลั่น มีความตั้งใจที่จะให้ความร่วมมือภายใต้ร่วมมือที่ว่าวิธีไหนจะไม่เป็นการขัดกฎหมายเนื่องจากกลุ่มโรงกลั่นจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงขอให้กระทรวงพลังงานตรวจสอบข้อกฎหมายอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการดำเนินการแล้วกระทบกับผู้ถือหุ้น จึงต้องมีการหารือกันอีกครั้ง โดยจะต้องได้ข้อสรุปภายใน 1-2 สัปดาห์นี้
"เรื่องนี้มันมีแนวทางของมันอยู่ ภายใต้การทำงานร่วมกัน ต่อจากนี้จะมีการตั้งทีมงาน เช็คฝ่ายกฎหมายกันอีกครั้ง สิ่งที่ทำได้และทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องต้องกันคือ ผลประโยชน์ในการแบ่งเบาภาระประชาชนเป็นหลัก ซึ่งข่อกฎหมายที่กระทรวงติดว่าทำได้ ก็ยังดำเนินการอยู่ เราไม่ได้ถอย แต่ถ้าดำเนินการไปอย่างนั้นทุกฝ่ายต้องเห็นด้วย แต่เมื่อดำเนินการอาจมีช่องที่ทำไม่ได้ ต้องดูให้รอบคอบ ไม่งั้นจะเป็นปัญหา เราต้องการให้เกิดความชัดเจนมากกว่านี้" นายกุลิศ กล่าว
นายกุลิศ กล่าวว่า การดำเนินการโดยมีผู้ถือหุ้นมาเกี่ยวข้อง ก็ต้องใช้เวลา ดึงนั้น กระทรวงพลังงานจะหาวิธีที่จะทำงานได้เร็วกว่านั้น แต่ต้องอยู่ภายใต้ข้อกฎหมายที่ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงร่วมกัน การใช้มาตราที่ระบุมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ที่อาจไม่ใช่แค่โรงกลั่นเท่านั้น ส่วนจำนวนเงินที่จะสะท้อนไปเดือนละราว 8,000 ล้านบาท เป็นวงเงินค่าการกลั่นแต่ละโรงแต่ละชนิดที่ไม่เท่ากัน จึงต้องดูโรงต่างๆ ให้เหมาะสม บนพื้นฐานของความร่วมมือ เพราะไม่อยากไปฟันธงหรือบังคับ จึงต้องดูข้อกฎหมายให้รอบคอบ
“การคำนวณตัวเลขค่าการกลั่นจะสูตรที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ดำเนินการอยู่ถือเป็นตัวเลขสถิติบนพื้นฐานบนข้อมูลอ้างอิง ซึ่งทางโรงกลั่นก็จะมีข้อมูล ข้อเท็จจริง ว่าทำอะไรอย่างไรก็ให้มาชี้แจง โดยสนพ.คำนวนตัวเลขเดือน ม.ค.-พ.ค. 2565 ค่าการกลั่นอยู่ที่ลิตรละ 3.27 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ส่วนกระทรวงพลังงานจะขอแบ่งอย่างไร ก็ต้องขอเวลาหารือกันอีกครั้ง”
นายกุลิศ กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่สิ้นเดือน มิ.ย. 2565 สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะติดลบถึงระดับ 1 แสนล้านบาทนั้น ขณะนี้ กระทรวงพลังงานมีทางออกในการแก้ปัญหาเรื่องนี้แล้ว โดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะเป็นผู้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนเอง