เอกชนหนุนเกษตร ’อินทรีย์-เคมี’ รับมือวิกฤตอาหารโลก
เอกชนชี้ทางรอดภาคเกษตรกรรมไทยใช้สารเคมีควบคู่เกษตรอินทรีย์ เตรียมรับมือกับภาวะขาดแคลนอาหารทั่วโลก ย้ำจุดยืนครัวไทยสู่ครัวโลก
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เกรียงไกร เธียรนุกุล ระบุ อีก 3 เดือนข้างหน้า โลกจะเกิดการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง เนื่องจากวัตถุดิบหรือผลผลิตจากการเกษตรที่จะนำมาทำอาหารลดลง ปัจจุบันเริ่มเห็นข่าวว่ามีกว่า 30 ประเทศที่งดส่งออกวัตถุดิบต่างๆ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบทางเกษตรที่สำคัญที่สุดของโลก มีพื้นที่ทางการเกษตร 149 ล้านไร่ ซึ่งไม่สามารถขยายพื้นที่ทำการเกษตรไปได้มากกว่านี้ แต่ต้องผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากร จึงจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพของการผลิตวัตถุดิบหรือผลผลิตจากการเกษตรที่จะนำมาทำอาหาร
อย่างไรก็ตาม การผลิตพืชผลทางการเกษตรยังจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีเนื่องจากมีแร่ธาตุที่ครบถ้วนแต่ต้องใช้อย่างเหมาะสมและมีความรู้ในการใช้อย่างถูกต้อง ปัจจุบันประเทศไทยยังใช้ปุ๋ยชีวภาพน้อย จึงเป็นโอกาสในการใช้เพิ่มมากขึ้นโดยต้องปรับสัดส่วนให้เหมาะสมในการใช้เชิงอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อทำให้เกิดวิกฤตราคาปุ๋ยแพงและปุ๋ยขาดแคลน ที่ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรในไตรมาส 3-4 จะเกิดการขาดแคลน ขณะนี้หลายประเทศที่เป็นผู้ส่งออกกังวลว่าผลผลิตพืชผลทางการเกษตรจะลดลงจึงลดการส่งออก จึงเกิดเป็นวิกฤตการขาดแคลนอาหารในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งคาดว่าในไตรมาสที่ 4 จะขาดแคลนหนักขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น ประเทศไทยในฐานะที่เป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับต้นๆของโลก เป็นครัวของโลก ขณะนี้ถือเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมอาหารเพื่อการส่งออกทุกประเภทจะได้รับอานิสงส์ได้รับคำสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก สิ่งสำคัญที่สุดคือปัญหาความมั่นคงทางอาหารเป็นประเด็นใหญ่นอกเหนือจากเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่ทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคแพง ในขณะที่เกิดวิกฤตการขาดแคลนอาหารด้วย จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยในการวางแผนการผลิตเพื่อการส่งออก และการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งคาดการณ์ว่าความขัดแย้งระหว่ารัสเซีย-ยูเครน จะยืดเยื้ออีก 2-3 ปี
ดังนั้น การพัฒนาภาคการเกษตรของไทย ถึงเวลาที่จะต้องหันมาสนับสนุนการผลิตที่ได้ผลิตผลปลอดภัย หรือ GAP อย่างจริงจัง ทั้งในด้านนโยบายและแนวทางปฎิบัติ เพราะการใช้สารเคมีในการผลิตแบบ GAP อย่างมีความรับผิดชอบ ทำให้อาหารปลอดภัยได้เช่นเดียวกับ การเกษตรแบบอินทรีย์ นโยบายรัฐจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน เพราะต้องเพิ่มศักยภาพการผลิตให้เพียงพอต่อประชากรที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกเท่าเดิม เพื่อผลักดันเศรษฐกิจและการส่งออกของประเทศ