ผ่า “อิเกีย ซิตี้ เซ็นเตอร์ สโตร์” อาณาจักรเฟอร์นิเจอร์ ดักลูกค้าใจกลางกรุง
เมื่อสุขุมวิทเป็นย่านใจกลางเศรษฐกิจ(CBD)และที่อยู่อาศัยของคนมีกำลังซื้อสูง "อิเกีย" จึงปักหมุดร้านเฟอร์นิเจอร์ ชูคอนเซปต์ใหม่ “City-Centre Store” แห่งแรกในอาเซียน ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย แต่ความท้าทายคือทำอย่างไรให้การบริหารจัดการต้นทุน "ต่ำ" ตามคัมภีร์บริษัท
หากเจาะคัมภีร์พ่อค้าเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง “อิงวาร์ คัมพรัด” ผู้ปลุกปั้น “อิเกีย”(IKEA) คงทราบดีว่าจุดมุ่งหมายสำคัญคือการนำเสนอเฟอร์นิเจอร์แต่งบ้านตอบโจทย์ผู้บริโภคใน “ราคาย่อมเยา” การเปิดสาขา “อิเกีย” จึงเน้นทำเลรอบนอก ใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อให้บริหารจัดการด้าน “ต้นทุนต่ำ” ถือเป็นกุญแจความสำเร็จของการสร้างแบรนด์เติบโตและขยายสาขากว่า 469 แห่ง ตอบสนองกลุ่มเป้าหมายไปทั่วทุกมุมโลกแล้ว 63 ประเทศ
ทว่า ปลายปี 2566 “อิเกีย” จะเปิดสาขาใหม่ย่านใจกลางธุรกิจ(CBD)อย่างสุขุมวิท ภายใต้การร่วมมือกันครั้งแรกระกว่าง “อิเกีย ประเทศไทย” กับ “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” ซึ่งจะยึดพื้นที่ทั้งชั้น 3 ของศูนย์การค้า The Emsphere เพื่อนำเสนอเฟอร์นิเจอร์หลากรายการให้กับผู้บริโภคกำลังซื้อสูง
ลีโอนี่ ฮอสกิ้น ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจค้าปลีก อิเกีย ประเทศไทย และเวียดนาม เล่าว่า อิเกีย สุขุมวิท ถือเป็นสโตร์แห่งที่ 4 ในประเทศไทย และเป็นคอนเซปต์ใหม่ “City-Centre Store” แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่ 12,000 ตารางเมตร(ตร.ม.)
จุดเริ่มต้นของสาขาใจกลางเมือง เกิดจากบริษัทปิ๊งไอเดียในช่วงการค้าขายผ่านออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซมาแรงมากช่วงปี 2561 จึงวางเป้าหมายในการขยาย “อิเกีย” ไปอยู่ใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น จึงเริ่มทดลองเปิดสาขาใจกลางมหานครสำคัญในรูปแบบ Pop-up Store เพื่อทำการตลาดเป็นหลัก แล้วยกระดับเป็นสโตร์ทั้งใน ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ลอนดอน ประเทศอังกฤษ รวมถึงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน
ขณะที่ไทยปั้นเป็นสโตร์ใจกลางเมืองเต็มรูปแบบและถือว่ามีขนาดใหญ่สุดในอาเซียนด้วย หากเทียบเอเชียเป็นรองแค่ฮ่องกง มีขนาด 15,000 ตร.ม. แต่ภูมิประเทศเป็นเกาะทั้งหมด ไม่มีพื้นที่รอบนอกขนาดใหญ่
ส่วนเหตุผลที่เลือก “สุขุมวิท” เป็นหมุดหมาย เพราะจากการสำรวจตลาดพบว่าประชากรในรัศมี 5 กิโลเมตร(กม.)มีมากถึง 300,000 ครัวเรือน และมีกำลังซื้อสูง ที่ผ่านมายังพบว่าหลั่งไหลไปชอปปิงเฟอร์นิเจอร์อิเกีย 5% ทั้งที่กำลังซื้อชาวกรุงมีมากถึง 45% ของทั้งประเทศ
“อิเกีย City-Centre Store ที่อื่นอาจเป็นป๊อปอัพ ใช้เพื่อทางการตลาดมากกว่า แต่อิเกีย สุขุมวิทเป็นสโตร์กลางกรุงที่สมบูรณ์สุด”
ปัจจุบันอิเกีย มีสาขาให้บริการที่บางนา พื้นที่สโตร์ 44,000 ตร.ม. บางใหญ่ 50,278 ตร.ม. ภูเก็ต 2,198 ตร.ม. ส่วนอิเกีย สุขุมวิท พื้นที่เล็กกว่า สาขาแรก แต่สินค้าครบครันเทียบเท่าสาขาใหญ่ เช่น เฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ราว 2,500 รายการ และไม่คัดแค่ของแพงมาเสิร์ฟกลุ่มเป้าหมายกำลังซื้อสูง
เนื่องจากอิเกีย สุขุมวิทย่อไซส์ลง ทำให้การบริหารจัดการต้นทุนและทัพการส่งสินค้า จะใช้อิเกีย 2 สขาทำงานมากขึ้น โดยสโตร์บางนาจะทำหน้าที่ขนส่งสินค้า(โลจิสติกส์)ให้ลูกค้าที่สั่งออนไลน์ ส่วนสาขาบางใหญ่จะรับบทเติมสินค้ามายังสโตร์
“อิเกีย ไม่เคยทำสโตร์เล็กมาก่อน เพราะมีผลต่อการบริหารจัดการให้มีกำไร ดังนั้นอิเกีย สุขุมวิท คอนเซปต์ใจกลางเมืองจึงท้าทายการทำงานตามคัมภีร์ของอิเกียอย่างมาก ในการเป็นห้างค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ที่บริหารจัดการต้นทุนให้ต่ำอยู่เสมอ เน้นขายสินค้าปริมาณมากหรือวอลุ่มใหญ่ ดังนั้นจึงต้องใช้สินทรัพย์ที่มีของอิเกียบางนาและบางใหญ่มาช่วยซัพพอร์ต”
จากอิเกีย สุขุมวิท บริษัทยังมองการขยายสาขาไปยังต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ นครราชสีมา รวมถึงภูเก็ต ที่มีการเจรจากับพันธมิตรในการเพิ่มพื้นที่สโตร์ด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังเปิดให้บริการอิเกีย สุขุมวิท คาดว่าจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการราว 4 ล้านคนต่อปี ใกล้เคียงกับสาขาบางใหญ่ จากปัจจุบันบางนามีผู้ใช้บริการสูงสุด แต่หากรวมทั้ง 3 สาขา มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเฉลี่ย 30,000 คนต่อวัน ส่วนยอดผู้เข้าชมออนไลน์เฉลี่ย 90,000 คนต่อวัน โดยช่วงโควิด-19 ระบาด อิเกียต้องปิดให้บริการ 51 วัน ส่งผลให้ผู้บริโภคชอปปิงออนไลน์โตมีสัดส่วนถึง 23% จากเดิมมี 13%