กรมอนามัย เตือนงดใช้น้ำ "แม่น้ำกก" หลังพบปนเปื้อนสารหนู-ตะกั่ว

กรมอนามัย เตือนประชาชนในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ หลีกเลี่ยงใช้น้ำ "แม่น้ำกก" หลังพบปนเปื้อนสารหนู-ตะกั่วเกินค่ามาตรฐาน แนะใช้เฉพาะน้ำประปาที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพแล้ว
วันที่ 5 เมษายน 2568 แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์ "แม่น้ำกก" ในพื้นที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ พบการปนเปื้อนสารหนูและตะกั่วเกินค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะบริเวณบ้านแก่งตุ้ม ซึ่งมีค่าสารหนูสูงถึง 0.026 มก./ลิตร (มาตรฐานไม่เกิน 0.01 มก./ลิตร) และสารตะกั่วสูงถึง 0.076 มก./ลิตร (มาตรฐานไม่เกิน 0.05 มก./ลิตร) ส่งผลให้ประชาชนที่ใช้น้ำอุปโภค-บริโภค อาจได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากโลหะหนักเหล่านี้ เช่น ผื่นคัน ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน รวมทั้งเสี่ยงต่อการสะสมสารพิษระยะยาว อาจเกิดมะเร็งผิวหนัง โรคทางระบบประสาท
ด้าน แพทย์หญิงนงนุช ภัทรอนันตนพ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการยืนยันข้อมูลร่วมกับ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 เชียงใหม่ พบว่า ผลการตรวจแม่น้ำกกในอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ 3 จุด มีค่าความขุ่น ค่าความสกปรกในรูปสารอินทรีย์ (BOD) ค่าฟีคอลโคลิฟอร์มแบคทีเรีย ค่าแอมโมเมีย และโลหะหนัก ได้แก่ สารหนู และตะกั่วเกินเกณฑ์มาตรฐาน
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเฝ้าระวังน้ำประปาในพื้นที่แล้ว พบว่าน้ำประปามีคุณภาพตามมาตรฐาน ทั้งน้ำประปาจากการประปาส่วนภูมิภาคที่ใช้น้ำดิบจากแม่น้ำฝาง และน้ำประปาในหมู่บ้านที่ใช้น้ำจากประปาภูเขา
นายแพทย์นิธิรัตน์ บุญตานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า แม่น้ำกกไหลผ่านอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย ในอำเภอเมือง อำเภอเวียงชัย อำเภอเวียงเชียงรุ้ง อำเภอแม่จัน อำเภอดอยหลวง และอำเภอเชียงแสน จึงแนะนำให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวหลีกเลี่ยงการใช้น้ำจากแม่น้ำกกเพื่ออุปโภค-บริโภค และควรใช้น้ำประปาที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพแล้ว ทั้งน้ำประปาจากการประปาส่วนภูมิภาคและประปาหมู่บ้านที่ผ่านการตรวจคุณภาพน้ำแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และหากประชาชนพบอาการผิดปกติจากการสัมผัสสารหนูหรือตะกั่ว เช่น ผื่นคัน คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย เวียนศีรษะ ซึม ชักหรือหมดสติ ควรรีบพบแพทย์ในพื้นที่เพื่อประเมินอาการและเข้ารับการรักษาโดยเร็ว
อ้างอิง/ภาพ กรมอนามัย , สำนักงานสิ่งแวดล้อมเเละควบคุมมลพิษที่ 1 เชียงใหม่