เก่าแต่เก๋า : รู้จักการ 'หุงข้าว' แบบเช็ดน้ำ กำลังจะรีเทิร์น?

เก่าแต่เก๋า : รู้จักการ 'หุงข้าว' แบบเช็ดน้ำ กำลังจะรีเทิร์น?

ภัยเงียบจากสารหนูที่ปนเปื้อนในข้าว ทำให้ University of Sheffield วิจัยการ "หุงข้าว" แบบใหม่ ที่พบว่ามีวิธีการคล้ายกับการ "หุงข้าวเช็ดน้ำ" ตามแบบวิถีไทยโบราณ

แม้ว่าข้อมูลจากองค์การอาหารโลก (FAO) จะเคยประกาศในปี 2561 ว่า คนเอเชียมีสถิติการบริโภค 'ข้าว' ลดลง โดยชาวฮ่องกงกินข้าวลดลงประมาณร้อยละ 60 ตั้งแต่ปี 2504 ด้านคนญี่ปุ่นกินข้าวลดลงเกือบครึ่ง ส่วนชาวเกาหลีใต้ก็กินข้าวลดลงเช่นกันถึงร้อยละ 40 ตั้งแต่ปี 2521 ทั้งหมดนี้คือแนวโน้มที่ชี้ว่าข้าวอาจจะไม่ใช่อาหารหลักของเอเชียอีกต่อไป

ถึงอย่างนั้น ในปัจจุบัน 'ข้าว' ก็ยังนับเป็นพืชอาหารหลักของโลก และยังมีผู้คนต้องการบริโภคข้าวอยู่ทั่วโลก ไม่ได้จำกัดวงเฉพาะชาวเอเชียเท่านั้น ทั้งนี้ พบว่าหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่คนกินข้าวหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ‘สารหนูตกค้าง’ เป็นภัยเงียบที่อาจทำให้คนกินข้าวตายผ่อนส่งแบบไม่รู้ตัว

160456693234

  • สารหนูตกค้างในข้าว คืออะไร

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายว่า สารหนูเป็นธาตุกึ่งโลหะ พบได้ทั่วไปในส่วนประกอบของหิน ถ่านหินและดิน สำหรับสารหนูปนเปื้อนในข้าวพบว่ามาจากธรรมชาติและการใช้ยาฆ่าแมลง รวมถึงปุ๋ยที่ทำจากสัตว์ปีก โดยสามารถพบสารหนูได้ 2 แบบคือ

สารหนูอินทรีย์ (Organic) เป็นพิษน้อย

สารหนูอนินทรีย์ (Inorganic) เป็นพิษน้อย

จากการสำรวจตัวอย่างข้าวปี 2550 - 2560 ของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ พบข้าวหอมมะลิ (ข้าวขาว) มีสารหนูตกค้างเฉลี่ย 0.133 มิลลิกรัม, ข้าวสี มีสารหนูตกค้างเฉลี่ย 0.210 มิลลิกรัม, ข้าวเหนียวมีสารหนูตกค้างเฉลี่ย 0.095 มิลลิกรัม

เปรียบเทียบค่ามาตรฐานส่งออกยุโรป (EC) กำหนดปริมาณสารหนูสูงสุดในข้าวขาวคือ ข้าวขัดสี 0.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และข้าวไม่ขัดสี 0.35 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

  • ภัยเงียบจากสารหนู

ถึงแม้ว่าสารหนูที่ตกค้างในข้าวจะอยู่ในปริมาณที่มนุษย์สามารถรับได้ และมีเกณฑ์มาตรฐานวัดชัดเจน แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อรับสารหนูที่เป็นพิษเข้าสู่ร่างกายในจำนวนเล็กน้อย แต่รับเข้าไปอย่างสม่ำเสมอ อาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งที่กระเพาะปัสสาวะ ปอด ผิวหนัง โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันโรคของเด็กทารกบกพร่อง (รับสารหนูผ่านทางอาหารจากแม่ในขณะตั้งครรภ์)

160456694539

  • ลดสารหนู ด้วยการ "หุงข้าว" วิธีใหม่

งานวิจัยใหม่ล่าสุดจาก University of Sheffield ประเทศอังกฤษที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science of the Total Environment เผยผลวิจัยการหุงข้าวแบบใหม่ อาจช่วยลดสารหนูในข้าวและยังคงเก็บสารอาหารได้ครบถ้วน โดยมีวิธีการคือ

1. ต้มน้ำให้เดือด

2. นำข้าวลงไปต้ม ประมาณ 5 นาที

3. เทน้ำทิ้ง

4. เติมน้ำสะอาด

5. ต้มข้าวต่อไป ด้วยความร้อนต่ำถึงปานกลาง จนกว่าข้าวจะสุก

160456696132

ดร.มาโนช เมนอน (Manoj Menon) หนึ่งในคณะทำงานของโครงการวิจัยนี้กล่าวว่า “งานวิจัยใหม่นี้เป็นข่าวดีสำหรับผู้ที่นิยมบริโภคข้าว ประชาชนชาวอังกฤษกังวลเรื่องการบริโภคข้าวเป็นอย่างมาก เพราะสารหนูที่ปนเปื้อนมา งานวิจัยก่อนหน้าแสดงให้เห็นว่าการใช้น้ำเยอะเกินไปอาจกำจัดสารหนูได้จริง แต่ก็กำจัดโภชนาการที่ดีของข้าวไปด้วย เป้าหมายในการทำงานวิจัยนี้ของเราเลยเป็นการหาทางเลือกที่จะลดปริมาณสารหนูในขณะที่ยังคงคุณค่าทางอาหารเดิมไว้”

โดยก่อนหน้านี้ University of Sheffield เคยวิจัยไว้ว่า ครึ่งหนึ่งของข้าวที่ประชากรในสหราชอาณาจักรบริโภค มีปริมาณของสารหนูเกินกว่าระดับที่ European Commission เคยจำกัดไว้สำหรับการบริโภคของทารกและเด็กอ่อน

160456698931

  • "หุงข้าวเช็ดน้ำ" ตามวิถีไทย อาจเป็นคำตอบที่ใช่!

การหุงข้าวตามผลวิจัยใหม่ สำหรับชาวไทยดูคล้ายกับการหุงข้าวเช็ดน้ำแบบโบราณของคนไทยสมัยก่อน โดยมีวิธีการคือ

1. ซาวข้าวกับน้ำ คือ การนำข้าวใส่หม้อแล้วเติมน้ำสะอาด กวนข้าวล้างกับน้ำแล้วรินน้ำออก 1 ครั้ง

2. ใส่น้ำใหม่ลงในหม้อที่ใช้หุงข้าว

3. ติดไฟเตาถ่าน รอให้ไฟได้ที่แล้วเอาหม้อข้าวตั้งบนเตา รอน้ำเดือดจนล้นออก ให้เปิดฝาหม้อ หากมีมอดหรือมดอยู่ในข้าวสาร คนสมัยก่อนจะใช้วิธีตักเศษมอดและมดที่ลอยบนผิวน้ำออกไป

4. เบาไฟโดยใช้ขี้เถ้ากลบให้ไฟอ่อนลง แล้วคอยดูว่าน้ำในหม้อข้าวแห้งหรือเปล่า ถ้าน้ำแห้งแล้วข้าวยังไม่สุกก็เติมน้ำเพิ่มลงไปได้

5. เมื่อข้าวสุกให้ปิดฝาหม้อแล้วน้ำไม้มาขัดบนฝา จากนั้นเอียงหม้อรินน้ำข้าวออกเพื่อให้น้ำแห้ง และดงข้าวให้สุกต่ออีกสักพัก

การหุงข้าวทั้ง 2 แบบข้างต้น พบว่ามีหลักการคล้ายกันคือ การเทน้ำต้มข้าวทิ้งก่อน 1 ครั้ง หลังจากนั้นจึงเติมน้ำใหม่แล้วต้มต่อจนกว่าจะหุงสุก ทำให้ได้ข้าวที่ปลอดสารพิษ แถมยังคงสารอาหารไว้ได้ครบถ้วน เรียกได้ว่าผลวิจัยของ University of Sheffield ที่ออกมานั้น อาจจะทำให้เทรนด์การหุงข้าวเช็ดน้ำของไทยแบบดั้งเดิม กลับมาฮอตฮิตอีกครั้งก็เป็นไปได้

160456721689

  • สารพันเรื่อง "หุงข้าว"

ไม่ว่าจะเป็นวิธีการหุงข้าวตามผลวิจัย หรือวิธีหุงตามวิถีโบราณของไทยก็ตาม อาจมีขั้นตอนที่ยุ่งยากสักหน่อย เมื่อเทียบกับการหุงข้าวสมัยนี้ที่ทำได้ง่ายๆ ในขั้นตอนเดียวโดยใช้ "หม้อหุงข้าว" เพียงกดปุ่มสตาร์ทและรอให้ข้าวสุก แต่วิธีนี้สารปนเปื้อนในข้าวก็อาจจะไม่ถูกกำจัดออกไป

แต่เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่ามีอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้คุณหุงข้าวได้ง่ายเพียงขั้นตอนเดียว แถมยังได้ข้าวสุกที่สะอาดและดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค นั่นคือ นวัตกรรมหม้อหุงข้าวรุ่นใหม่จาก Xiaomi ที่ทางบริษัทเคลมว่าสามารถช่วยลดปริมาณน้ำตาลในข้าวได้ ในอนาคตอาจจะมีการพัฒนาหม้อหุงข้าวที่ใกล้เคียงกับการหุงข้าวเช็ดน้ำ เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการลดสารหนูปนเปื้อนในข้าวได้

นอกจากนี้ ก็มีประเด็นดราม่าเกี่ยวกับการหุงข้าวในโลกโซเชียลมีเดีย กับกรณีการหุงข้าวในรายการอาหารของ bbc ที่มีการนำข้าวใกล้สุกไปล้างน้ำ แล้วจึงหุงต่อ ด้านผู้ชมที่คุ้นชินกับการหุงข้าวในชีวิตประจำวัน ต่างเข้าไปแสดงความคิดเห็นว่านั่นไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม การหุงข้าวไม่ได้มีสูตรสำเร็จตายตัว วิธีหุงข้าวในแต่ละประเทศก็ล้วนแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นอาศัยและชนิดของข้าว ซึ่งสะท้อนถึงบริบทวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการกินของท้องถิ่นนั้นๆ 

-----------------------

อ้างอิง : thairiceresearchjournal.ricethailand, phys.org, sheffield.ac.uk

160464090569