แม่น้ำกกวิกฤต น้ำปนเปื้อนโลหะหนัก เสี่ยงมะเร็ง งดใช้น้ำทันที

แม่น้ำกกวิกฤตหนัก! น้ำเสื่อมโทรม อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ตรวจพบน้ำปนเปื้อนโลหะหนัก สารพิษ ตะกั่ว - สารหนูเพียบ เกินมาตรฐาน เสี่ยงมะเร็ง เตือนเลี่ยงใช้น้ำ งดใช้น้ำทันที
เตือนประชาชนระวัง แม่น้ำกกวิกฤตหนัก! น้ำเสื่อมโทรม อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ตรวจพบน้ำปนเปื้อนโลหะหนัก สารพิษ ตะกั่ว - สารหนูเพียบ เกินมาตรฐาน เสี่ยงมะเร็ง เตือนเลี่ยงใช้น้ำ งดใช้น้ำทันที อันตรายต่อสุขภาพ ล่าสุด สำนักงานสิ่งแวดล้อมฯ ส่งตรวจห้องแล็บอีก ตัวอย่างตะกอนดินในแหล่งน้ำ คาดรู้ผลรวจวัด 2 สัปดาห์
สำนักงานสิ่งแวดล้อมเเละควบคุมมลพิษที่ 1 เชียงใหม่ เปิดเผยผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำกก พื้นที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ พบการปนเปื้อนโลหะหนัก ขอให้พี่น้องประชาชนที่จะลงเล่นน้ำดูแลสุขภาพ หลีกเลี่ยงการนำไปใช้ประโยชน์
จากกรณีแม่น้ำกกในพื้นที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ มีสีขุ่นผิดปกติ และชาวบ้านในพื้นที่มีความกังวลในการใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคและกิจกรรมทางน้ำในช่วงฤดูร้อน สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) ร่วมกับ ทสจ.เชียงใหม่ ปกครองอำเภอแม่อาย กองกำลังผาเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบและเก็บตัวอย่างน้ำผิวดิน
เพื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำผิวดินตามมาตรฐานแหล่งน้ำผิวดิน การตรวจวัดโลหะหนัก พร้อมด้วยไซยาไนด์ เพื่อหาความปนเปื้อนของสารมลพิษในแหล่งน้ำของแม่น้ำกก เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 จำนวน 3 จุด ได้แก่
- จุดที่ 1 (แม่อาย 01) ชายแดนไทย-พม่า หย่อมบ้านแก่งตุ๋ม ม.14 ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
- จุดที่ 2 (แม่อาย 02) สะพานมิตรภาพแม่นาวาง-ท่าตอน ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
- จุดที่ 3 (แม่อาย 03) บ้านผาใต้ ม.12 ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
แม่น้ำกก พบโลหะหนักเกินค่ามาตรฐาน น้ำเสื่อมโทรม ห้ามใช้อุปโภคบริโภค
ผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำที่สำคัญของแม่น้ำกกตามแหล่งน้ำประเภทที่ 2 พบว่า แม่น้ำกกอยู่ในเกณฑ์ “เสื่อมโทรม” ทั้ง 3 จุด จากพารามิเตอร์ที่สำคัญที่มีค่าเกินมาตรฐาน ดังนี้
1. พารามิเตอร์ที่ส่งผลต่อคุณภาพน้ำโดยมีค่าเกินมาตรฐาน ได้แก่ ความสกปรกในรูปสารอินทรีย์ (BOD) การปนเปื้อนของแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด (TCB) ฟีคอลโคลิฟอร์มแบคทีเรีย (FCB) เกินทั้ง 3 จุด
ซึ่งแสดงถึงแหล่งน้ำมีความสกปรกในรูปสารอินทรีย์สูง และการปล่อยน้ำเสียจากแหล่งชุมชนจากกิจกรรมต่างๆ โดยไม่ได้ผ่านการบำบัดลงสู่แหล่งน้ำ มีการปนเปื้อนจากอุจจาระของสัตว์เลือดอุ่น รวมถึงแอมโมเนีย (NH3) สูงเกินมาตรฐาน บริเวณจุดเก็บแม่อาย 03 เกิดจากการย่อยสลายของโปรตีนซากพืชซากสัตว์ในแหล่งน้ำ
2. ค่าความขุ่นสูง โดยเฉพาะจุดแรกที่ติดชายแดนไทย-พม่า คือ 988 NTU รวมทั้งจุดที่ 2 และจุดที่ 3 คือ 171, 139 NTU ตามลำดับ ซึ่งแหล่งน้ำโดยทั่วไปไม่ควรมีค่าเกิน 100 NTU เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของสัตว์น้ำและพืชน้ำ
3. โลหะหนัก พบพารามิเตอร์ที่เกินมาตรฐาน ได้แก่ ตะกั่ว (Pd) และ สารหนู (As) ดังนี้
“ตะกั่ว” (Pd) เกินจุดที่ 1 บริเวณชายแดน มีค่าเท่ากับ 0.076 mg/L (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 0.05 mg/L) โดยการปนเปื้อนตะกั่วในแหล่งน้ำมักมีสาเหตุมาจากการปล่อยน้ำเสีย จากโรงงาน จากเหมืองแร่ และจากน้ำฝนที่ชะล้างสารตะกั่วจากอากาศและพื้นดินลงสู่แหล่งน้ำ
ผลต่อร่างกายของตะกั่วที่เป็นโลหะหนักที่มีพิษร้ายแรงต่อมนุษย์และสัตว์ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น ทางอาหารและน้ำ ทางลมหายใจ และทางผิวหนัง
ความอันตรายพิษจากตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย
พิษจากตะกั่วทำให้ร่างกายมีความผิดปกติต่างๆ เช่น
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- มีอาการทางประสาทและกล้ามเนื้อ
- นอนไม่หลับ
- คลุ้มคลั่ง
- เกิดความคิดสับสน
- ปวดศรีษะ
ถ้าได้รับปริมาณมากอาจชักและตายได้ ร่างกายสามารถขับถ่ายตะกั่วออกมาได้เพียงบางส่วน ส่วนที่เหลือจะสะสมอยู่ในร่างกายที่ตับ ไต เลือดและเซลล์ต่างๆ ซึ่งเป็นอันตรายได้ในภายหลัง
“สารหนู” (As) เกินทั้ง 3 จุด มีค่าเท่ากับ 0.026 0.012 และ 0.013 mg/L ตามลำดับ (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 0.01 mg/L) โดยสารหนูพบได้ในน้ำธรรมชาติ
โดยเฉพาะน้ำบาดาลซึ่งเกิดจากการละลายของแร่ธาตุในน้ำ รวมถึงน้ำทิ้งจากโรงงานที่มีการใช้ยากำจัดศัตรูพืชหรือสัตว์
สารหนู มีความอันตรายอย่างไรบ้าง?
“สารหนู” จะส่งผลกระทบกับคนที่เล่นน้ำจะแพ้ ระคายเคือง มีผื่นคัน ในระยะยาวหากรับต่อเนื่องอาจเป็นมะเร็งได้
หากดื่มน้ำที่มีสารหนูเข้าไปก็จะส่งผลโดยตรงต่อกระบวนการทางเคมีในร่างกายผิดเพี้ยน ถ้ารับไปนิดหน่อยอาจทำให้ท้องร่วง ท้องเสียได้ เมื่อสะสมระยะยาวอาจเป็นมะเร็ง
ดังนั้น จึงขอให้พี่น้องประชาชนที่จะลงเล่นน้ำดูแลสุขภาพอนามัย สำหรับประชาชนที่ต้องใช้น้ำกก แนะนำให้หลีกเลี่ยงการอุปโภค บริโภคในระยะนี้ หากจำเป็นต้องใช้เพื่อการประปาควรสังเกตและตรวจสอบร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาคอีกครั้ง
ทั้งนี้ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) ได้เก็บตัวอย่างตะกอนดินเพื่อตรวจหาความปนเปื้อนจากตะกอนดินในแหล่งน้ำเพิ่มเติม
โดยได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างตะกอนดินทั้ง 3 จุดเก็บ ของพื้นที่อำเภอแม่อาย เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 ส่งให้ห้องปฏิบัติการของกรมควบคุมมลพิษเพื่อตรวจวิเคราะห์โดยคาดว่าจะทราบผลการตรวจวัดในอีก 2 สัปดาห์
อ้างอิง-ภาพ : สำนักงานสิ่งแวดล้อมเเละควบคุมมลพิษที่ 1 เชียงใหม่