'สภาพัฒน์' มั่นใจศก.ไทยปี 65 โต 3% ปี 66 จีดีพีบวก 3.7% ท่องเที่ยว-บริโภคฟื้น
‘สภาพัฒน์’ มั่นใจเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 3 % ปีหน้าโต 3.7% เปิดประเทศดันท่องเที่ยวฟื้น การบริโภคเอกชนขยายตัวช่วยหนุน ลุ้นปีนี้รายได้นักท่องเที่ยวเพิ่มช่วยแก้ปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ชี้ปัจจัยภายนอกไม่แน่นอนสูง วอนในประเทศจับมือลดขัดแย้งฝ่าวิกฤติที่อาจรออยู่
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “สู่โอกาสใหม่ Stronger Thailand” ในงานสัมมนา สู่โอกาสใหม่ Stronger Thailand จัดโดยเครือมติชน ว่า สศช.ได้มีการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 2.5 – 3.5% หรือมีค่ากลางอยู่ที่ 3% ทั้งนี้ได้มีการหารือกับหน่วยงานเศรษฐกิจได้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ว่าสมมุติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับ 3% ในปีนี้ยังมีความเป็นไปได้หรือไม่เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่กระทบเศรษฐกิจเช่นเรื่องของเงินเฟ้อ และเรื่องของราคาพลังงาน
อย่างไรก็ตามหน่วยงานเศรษฐกิจทุกหน่วยงานยังมีความเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 3% อย่างแน่นอน โดยมีหลายเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดี ทั้งเรื่องของการส่งออก โดยเฉพาะในเรื่องอาหารที่ส่งออกได้มากขึ้น การเปิดรับการท่องเที่ยว ที่ประเทศไทยเปิดรับเต็มที่ ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมานักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยแล้ว 2 ล้านคน และคาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 7 – 10 ล้านคน
ส่วนในปีหน้า (2565) สศช.คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.7% ซึ่งถือว่าเป็นการคาดการณ์ที่ต่ำกว่าสำนักเศรษฐกิจอื่นๆที่มองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เฉลี่ย 4.3 – 4.5% โดยบางสำนักมองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากกว่า 5%
ทั้งนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจไม่เหมือนกับในหลายประเทศที่ฟื้นตัวจากวิกฤติได้ในระดับ 5 – 7% แต่การฟื้นตัวของไทยมาจากการฟื้นตัวที่ต้องรอภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวเนื่องจากการท่องเที่ยวเกี่ยวข้องกับจีดีพีเราประมาณ 40%
ส่วนในประเทศอื่นๆนั้นโครงสร้างเศรษฐกิจจะมีเรื่องของการฟื้นตัวจากภาคการผลิต โดยการที่ภาคท่องเที่ยวของไทยสามารถที่จะฟื้นตัวได้ในปีนี้ควบคู่ไปกับการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เศรษฐกิจในภาคบริการฟื้นตัวได้ดีขึ้น และรายได้จากการท่องเที่ยวที่เข้ามาจะทำให้ในปีนี้ประเทศไทยอาจจะไม่มีปัญหาเรื่องการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเหมือนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามขณะนี้สถานการณ์ในต่างประเทศมีความไม่แน่นอนสูงทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องอัตราเงินเฟ้อ และความเสี่ยงในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitic) ที่ไทยเองต้องเตรียมพร้อมที่จะรองรับ
“เราควบคุมการระบาดได้แล้ว เราก็พยายามที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไปควบคู่กับการขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ภายนอกมีปัญหาความขัดแย้งอยู่มาก แต่ในประเทศเราควรที่จะจับมือกันร่วมมือเพื่อรับแรงกระแทกที่เกิดจากความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ขอให้มั่นใจว่าหน่วยงานเศรษฐกิจ”นายดนุชา กล่าว