"ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์" หวังตลาดรีบาวด์เร็ว ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ Q3/66
“ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” กางแผนเร่งปั๊มรายได้โกยกระแสเงินสด รีเทิร์นเปิด 4 เส้นทางบินสู่ “เกาหลี-ญี่ปุ่น” ลุ้นตลาดรีบาวด์เร็ว หนุนออกจากแผนฟื้นฟูกิจการไตรมาส 3 ปี 66 ศาลล้มละลายกลางนัดไต่สวนครั้งแรก 22 ส.ค.นี้ “ธรรศพลฐ์” ชี้ราคาน้ำมันพุ่งเท่าตัว บีบขายตั๋วบินแพงขึ้น 20%
ตามที่บริษัท ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จำกัด ผู้ให้บริการสายการบินราคาประหยัด “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” (รหัสเที่ยวบิน XJ) ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา และศาลรับคำร้องดังกล่าวเมื่อ 18 พ.ค. หลังได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤติโควิด-19 จนเป็นเหตุให้ต้องหยุดทำการบินขนส่งผู้โดยสารมานานกว่า 2 ปี
นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีความจำเป็นต้องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ เพราะต้องการประนอมหนี้ บริหารจัดการหนี้ก้อนใหญ่ 25,738 ล้านบาท ซึ่งค่าเช่าเครื่องบินมีสัดส่วนมากที่สุด ให้เหมาะสมกับรายได้ หลังจากสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ กลับมาให้บริการอีกครั้ง เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ศาลล้มละลายกลางมีกำหนดนัดไต่สวนครั้งที่ 1 วันที่ 22 ส.ค.นี้ เพื่อเรียกเจ้าหนี้และลูกหนี้มาตรวจสอบยอดหนี้ว่าถูกต้องตรงกันหรือไม่ มีใครคัดค้านหรือไม่ จากนั้นบริษัทจะต้องเสนอแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผนฟื้นฟูฯ โดยสังเขปว่าจะสร้างรายได้ นำมาบริหารจัดการจ่ายหนี้แก่เจ้าหนี้อย่างไรได้บ้าง
โดยไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ตั้งเป้าจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการในไตรมาส 3 ปี 2566 หากขั้นตอนการดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่น คาดใช้เวลาบริหารแผนฟื้นฟูฯประมาณ 6-8 เดือน
“ตอนนี้เราต้องโฟกัสแผนฟื้นฟูกิจการก่อน หากธุรกิจของไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ฟื้นตัวดี กลับมาทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศจากไทยสู่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นได้อย่างแข็งแรงและรวดเร็ว อาจไม่จำเป็นต้องหาพันธมิตรร่วมทุน เพราะถ้าเราอยู่ได้ด้วยตัวเอง ก็อยากทำแบบนั้นมากกว่า แต่ก็ต้องเตรียมแผนหาพันธมิตรร่วมทุนเป็นทางเลือกไว้เช่นกัน ขณะนี้ยังไม่ได้พูดคุยกับใคร ขึ้นกับการหากระแสเงินสด และตลาดรีบาวด์ฟื้นตัวกลับมาเร็วหรือไม่”
ฟื้นยอดผู้โดยสารปีนี้ 3 แสนคน
ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ คาดปีนี้มีผู้โดยสาร 3 แสนคน คิดเป็นการฟื้นตัว 15% เมื่อเทียบจำนวนผู้โดยสารปี 2562 ซึ่งปิดที่ 2 ล้านคน ตั้งเป้าอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) เฉลี่ยที่ 85% จากการเปิดให้บริการ 4 เส้นทางบินสู่ประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่น จากฐานปฏิบัติการสนามบินสุวรรณภูมิ ได้แก่
- กรุงเทพฯ-โซล
- กรุงเทพฯ-โตเกียว (นาริตะ)
- กรุงเทพฯ-โอซากา
- กรุงเทพฯ-ซัปโปโร
โดยปัจจุบันมีฝูงบินแอร์บัส เอ 330 ขนาดความจุ 377 ที่นั่ง ให้บริการรวม 5 ลำ จากก่อนโควิด-19 ระบาดมีฝูงบิน 15 ลำ จำเป็นต้องคืนเครื่องบินไป 10 ลำ โดยในปี 2566 เตรียมเพิ่มฝูงบินอีก 3 ลำ เป็น 8 ลำ ซึ่งยังต้องจับตาสถานการณ์ตลาดนักท่องเที่ยวจีนด้วย ว่ารัฐบาลจีนจะเปิดประเทศเมื่อไร
“รายได้ของไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ปีนี้จะมาจากการขายตั๋วเครื่องบิน 70% และบริการขนส่งสินค้าทางอากาศ (คาร์โก้) กับรายได้เสริมอื่นๆ 30% จากปี 2564 มีรายได้จากคาร์โก้ 90% ของรายได้รวม ซึ่งทำให้บริษัทพออยู่ได้ แต่ไม่พอชำระค่าเช่าต่างๆ ปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสดใช้เท่าที่จำเป็น การกลับมาเปิดเส้นทางบินไปเกาหลีใต้และญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้ และทยอยเพิ่มเที่ยวบินมากขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงไฮซีซั่นเดือน ต.ค.-ธ.ค. จะช่วยทำให้มีรายได้เข้ามามากขึ้น และหากจีนเปิดประเทศได้ จะทำให้ตลาดการบินฟื้นกลับมาเร็ว เราอาจไม่จำเป็นต้องหาพันธมิตรร่วมทุน”
สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัท ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ประกอบด้วย
1.นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ถือหุ้นมากเป็นอันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 49.6%
2.มาเลเซีย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ 49%
3.ผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่นๆ 1.4%
ผวาราคาน้ำมันพุ่งเท่าตัวกดดันต้นทุน
นายธรรศพลฐ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันราคาตั๋วเครื่องบินแพงขึ้นราว 20% จากสถานการณ์ราคาน้ำมันแพงซึ่งกดดันต้นทุนของสายการบินในช่วงฟื้นตัวจากวิกฤติโควิดอย่างมาก ส่งผลให้สัดส่วนต้นทุนน้ำมันเพิ่มขึ้นมาเกือบ 50% จากปกติ 30% ของต้นทุนสายการบินทั้งหมด หลังราคาน้ำมันเครื่องบินในภาวะปกติอยู่ที่ระดับ 75-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล พุ่งเป็น 170 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่สายการบินไม่สามารถผลักภาระทั้งหมดให้ผู้โดยสารได้
“ยังมีปัจจัยแวดล้อมของสภาพตลาดการบินที่ไม่เหมือนเดิมในยุคหลังโควิด ทำให้บริษัทต้องแข่งกับทั้งปัจจัยภายนอกเรื่องราคาน้ำมันจากวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน และปัจจัยภายในเรื่องฟื้นฟูกิจการ ทั้งต้องศึกษาสภาพตลาดว่าเปลี่ยนไปอย่างไรก่อนกลับไปทำการบิน เพราะบริษัทไม่สามารถรับข้อผิดพลาดของตัวเองได้อีกแล้ว อย่างไรก็ตามสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ในตลาดเส้นทางบินไปญี่ปุ่น คู่แข่งหายไป 2 ราย ก็มองเป็นโอกาสของไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ในการชิงผู้โดยสาร”
บิน ‘สุวรรณภูมิ’ ลดต้นทุนเสริมคล่องตัว
นายปฏิมา จีระเเพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ กล่าวเสริมว่า การเข้าแผนฟื้นฟูกิจการของไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ จะทำให้บริหารจัดการและเดินหน้าธุรกิจได้คล่องตัวขึ้น พร้อมยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อการให้บริการใดๆ
“บริษัทพยายามลดต้นทุน อะไรที่ไม่จำเป็นก็ต้องตัดไป โดยเหตุผลหลักที่ย้ายฐานปฏิบัติการบินจากสนามบินดอนเมืองมาที่สุวรรณภูมิ เพราะคล่องตัวกว่า สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายสำนักงาน และมีโอกาสเชื่อมต่อเส้นทางการบินกับสายการบินอื่นๆ และสายการบินไทยแอร์เอเชีย (รหัสเที่ยวบิน FD) ซึ่งมีฐานปฏิบัติการบินที่สุวรรณภูมิ นอกจากฐานหลักดอนเมือง ทั้งยังเชื่อมต่อเรื่องคาร์โก้ได้อีกด้วย”
รุกเปิด 4 เส้นทางบินสู่เกาหลี-ญี่ปุ่นปีนี้
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เริ่มทำการบินเส้นทางสู่เกาหลีใต้ กรุงเทพฯ-โซล ความถี่ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ผลตอบรับดี มีโหลดแฟคเตอร์เฉลี่ยเดือน มิ.ย. 97% ถือว่าสูงมาก จึงเตรียมเพิ่มความถี่เป็น 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ตั้งแต่ ก.ค.นี้ โดยยอดจองล่วงหน้าเฉพาะ ก.ค.อยู่ที่ 60% จะเพิ่มเป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ตั้งแต่ ต.ค.
ส่วนเส้นทางสู่ญี่ปุ่น เริ่มทำการบิน กรุงเทพฯ-โตเกียว (นาริตะ) วันที่ 3 ก.ค.นี้ ความถี่ 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ยอดจองล่วงหน้าเดือน ก.ค.อยู่ที่ 40% ส่วนใหญ่เป็นกรุ๊ปทัวร์ เตรียมเพิ่มเป็น 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เดือน ส.ค. ก่อนเพิ่มเป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ตั้งแต่ ต.ค.
ด้านเส้นทาง กรุงเทพฯ-โอซากา เริ่มทำการบินเดือน ต.ค. ความถี่ 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ขณะที่เส้นทาง กรุงเทพฯ-ซัปโปโร เริ่มทำการบินตั้งแต่ ต.ค. ความถี่ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ สอดรับกับดีมานด์และบรรยากาศการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว
“คาดว่าเส้นทางเกาหลีและญี่ปุ่นจะมีการตอบรับที่ดีในไฮซีซั่นไตรมาส 4 นี้ และจะรุกหนักมากขึ้นไตรมาสแรกปีหน้า”