“ราคาข้าว”ดิ่งแรงปมผลผลิตล้น “ชาวนา”ผวารายได้ลดต้นทุนเพิ่ม
ราคาข้าวโลกผันผวน ดึงราคาข้าวไทยข้าวร่วงตันละ 200-500 บาทต่อตัน ชาวนาอ่วมหลังโรงสีรับซิ้อราคาลดลง ขณะที่ผู้ส่งออกข้าว ลุ้นซาอุรับซื้อ ลั่นแข่งอินเดียลำบาก ด้านนายกสมาคมชาวนาฯ เล็งหารือกรมการค้าภายใน แก้ปัญหา
สถานการณ์ราคาข้าวตลาดโลกกำลังผันผวนอย่างหนักสะท้อนจากที่ราคาส่งออกข้าวของไทยปรับตัวลดลงรุนแรงเฉลี่ยตั้งแต่ต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา โดยสมาคมผู้ส่งออกไทยรายงานราคาข้าวหอมมะลิ(64/65) เมื่อ22 มิ.ย.2565 อยู่ที่ตันละ 905 ดอลลาร์ ลดลงจากต้นเดือนเมื่อ 8 มิ.ย.ซึ่งอยู่ที่ตันละ 960 ดอลลาร์ ขณะที่ข้าวขาว 5% อยู่ที่ตันละ 427 ดอลลาร์ ลดลงจาก 463 ดอลลาร์ เกิดอะไรขึ้นกับการส่งออกข้าวของไทยท่ามกลางกระแส“ความมั่นคงด้านอาหาร”ที่ทำให้ดีมานด์สินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การแข่งขันด้านราคาข้าวในตลาดโลกยังรุนแรง โดยข้าวขาวที่ไทยส่งออกมีราคาเฉลี่ยที่ ตันละ 427 ดอลลาร์ ขณะที่เวียดนามอยู่ที่ 418 ดอลลาร์ และอินเดียอยู่ที่ 338ดอลลาร์ ส่วนข้าวหอมมะลิของไทย 905 ดอลลาร์ เวียดนาม 523 ดอลลาร์ ส่วนกัมพูชา 880 ดอลลาร์
“ราคาข้าวไทยยังแข่งขันได้ยาก ประกอบกับปัจจัยตลาดปลายทางที่เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก เช่น สหรัฐสามารถเคลียร์ตู้สินค้าที่ตกค้างที่พอร์ทสำคัญๆได้แล้วทำให้สินค้าเข้าสู่ตลาดจำนวนมากจึงชะลอการสั่งซื้อข้าวหอมมะลิ ขณะเดียวกันผู้ส่งออกรายสำคัญอย่างอินเดียก็เทข้าวออกขายจำนวนมากจึงกวาดคำสั่งซื้อในตลาดสำคัญๆ เช่นแอฟริกา ไปเกือบหมด ”
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของปัจจัยค่าเงินบาทแม้จะเป็นผลดีต่อการส่งออกแต่ก็เป็นการอ่อนค่าทั่วทั้งภูมิภาคจึงไม่ใช่ปัจจัยหนุนให้การส่งออกข้าวของไทยได้แต้มต่อมากนัก
ร.ต.ท.เจริญ กล่าวอีกว่า การเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังครั้งที่ 2 คาดว่าจะยาวไปจนถึงเดือนส.ค. ซึ่งในปีนี้ปริมาณน้ำเอื้อต่อการเพาะปลูกมาก เกษตรกรสามารถทำนาได้อย่างเต็มที่ ผลผลิตข้าวที่ออกสู่ตลาดจึงมีมากกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ราคาจึงปรับลดลงในระดับปกติ จากที่ก่อนหน้านี้ราคาข้าวไทยปรับเพิ่มสูงมาก
นอกจากนี้ ราคาข้าวที่ลดลงยังเป็นผลมาจากราคาส่งออกที่ปรับลดลงเช่นกัน เนื่องจากราคาข้าวอินเดียต่ำกว่าข้าวไทย ถึงตันละ 100 ดอลลาร์ต่อตัน โดยอินเดีย ถือว่าเป็นปัจจัยหลักที่สะท้อนต่อราคาข้าวโลก เพราะเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ ปีละ 22 ล้านตันคิดเป็น 50 % ของการค้าในตลาดโลก ซึ่งปีนี้อินเดียไม่ประสบภัยแล้ง และเกษตรกรปรับเปลี่ยนพันธุ์ ทำให้ผลลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น การส่งออกจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในตลาดแอฟริกา ที่มีเส้นทางใกล้กว่าเมื่อเทียบกับไทย มีท่าเรือเป็นของตนเอง จึงเป็นข้อได้เปรียบที่ไทยแข่งขันได้ลำบาก
“ในปีนี้ไทยโชคดีที่อิรักหันมาซื้อข้าวขาวของไทยไปกว่า 4 แสนตัน ไม่เช่นนั้นราคาข้าวไทยจะปรับลดลงกว่านี้ ส่วนแนวโน้มราคาข้าวช่วงสิ้นปียังไม่สามารถคาดเดาได้ ต้องดูตลาด ซึ่งซาอุดิอาระเบีย นิยมบริโภคข้าวแข็งเมล็ดยาว เช่นเดียวกับอิรัก หากหันมาซื้อข้าวของไทย จะเป็นตลาดที่ดีมาก แต่ทั้งนี้ ราคาข้าวไทยต้องไม่สูงเกินไป และคุณภาพต้องดี เพื่อให้ผู้ส่งออกเสนอราคาแข่งขันได้"
รังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ราคาข้าวขยับขึ้นขยับลงตามสถานการณ์ราคาโลก โดยปัจจุบันราคาข้าวขาวอยู่ที่ 13,500 -13,700 บาทต่อตัน จากเดิมที่ก่อนหน้านี้ราคาอยู่ที่ 14,000-14,500 บาทต่อตัน ราคาลดลง 200-500 บาทต่อตัน ซึ่งทำให้โรงสีจำเป็นต้องซื้อในราคาที่ลดลงเพื่อเป็นการลดต้นทุน เพราะโรงสีอยู่ตรงกลางระหว่างผู้ผลิตและผู้ส่งออก เมื่อราคาข้าวในตลาดขยับตัวลง ทางโรงสีก็ต้องบริหารจัดการโดยการลดราคารับซื้อข้าวลง ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด
ทั้งนี้ ราคาข้าวมีการปรับราคาขึ้นสูงมากเมื่อเดือนก่อนหน้านี้ บวกกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าก็เป็นผลดีต่อการส่งออก ทำให้ราคาข้าวปรับขึ้น แต่ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาก็เริ่มขยับลงมา ซึ่งคาดว่าราคาที่ขยับลงมาจากราคาปลายทางที่ลง หรือมีปัญหาอุปสรรคในการขนส่งข้าว เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝน ทำให้เกิดปัญหาการขนส่งข้าวขึ้นเรือใหญ่ไม่ได้ ส่งผลให้ไม่สามารถส่งออกข้าวได้เต็มที่
“ในช่วงหลังจากนี้คงคาดเดาทิศทางราคาข้าวได้ยากเพราะมีปัจจัยหลายภายนอกที่เข้ามากดดัน ทั้งจากผลกระทบจากสงครามรัสเซียและยูเครนทำให้เกิดความกังวลด้านอาหารทำให้พืชอาหารแพง ปัญหาการขนส่ง การส่งมอบ ซึ่งโดยรวมสถานการณ์ก็เป็นไปตามภาวะตลาดโลกหากความต้องการข้าวสูงราคาก็จะปรับขึ้นตาม ในทางกลับกันหากดีมานด์ลดลงราคาก็จะลดลงตามไปด้วย อีกทั้งไทยยังต้องเผชิญกับคู่แข่งอีก“
ปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ราคาข้าวเปลือกที่ปรับลดลงขณะนี้ เนื่องจากเป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังครั้งที่ 2 ทำให้ข้าวในตลาดมีอยู่มาก โดยเมื่อต้นสัปดาห์(20 มิ.ย. ) ราคาข้าวขาวปรับลดลง ตันละ 200 บาท ซึ่งทางสมาคมจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
โดยปัจจุบัน ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ทุกชนิดรวมถึงปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ปรับเพิ่มขึ้นทั้งหมด มีเพียงข้าวที่ปรับลดลง ซึ่งดูจากสถานการณ์แล้ว ไม่ควรให้เกิดขึ้น ในฐานะที่มีบทบาทเป็นที่ปรึกษาของกรมการค้าภายใน จะนำปัญหานี้ไปหารือ โดยราคาข้าวขาวควรจะสูงกว่าตันละ 9,000 บาท
แม้ปัจจัยที่กระทบต่อราคาข้าวจะมาจากนอกประเทศแต่ผลกระทบที่เกิดขึ้น กำลังทำให้ต้นทางผู้ผลิตข้าวซึ่งก็คือชาวนา จะมีรายได้ที่ลดลงเพราะราคาที่กำลังร่วงแรงขณะนี้มาเกิดในช่วงที่ใกล้จะมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตพอดี