ส่องโครงสร้างราคาน้ำมันไทย มีอะไรซ่อนอยู่บ้าง?

ส่องโครงสร้างราคาน้ำมันไทย มีอะไรซ่อนอยู่บ้าง?

ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวขึ้นจนส่งผลกระทบต่อค่าของชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ ปัญหาใหญ่ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทย แต่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก คำถามที่ตามมาคือ ทำไมไทยต้องปรับราคาน้ำมันตามราคาน้ำมันโลกทั้งๆ ที่สามารถผลิตน้ำมันได้เอง แถมยังส่งออกน้ำมันได้อีกด้วย

แท้จริงแล้วประเทศไทยนั้นเป็น "ผู้นำเข้าน้ำมัน" เพราะปริมาณน้ำมันดิบที่ประเทศไทยผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ รายงานจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ไทยผลิตน้ำมันดิบได้เพียง 10% - 20% ของความต้องการใช้ในประเทศเท่านั้น 

นั่นหมายความว่า ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบประมาณ 80% – 90% เพื่อนำมากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน ดังนั้นราคาน้ำมันไทยจึงมีความเกี่ยวข้องกับการปรับตัวของราคาน้ำมันโลกและปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับดีมานด์ซัพพลายของน้ำมันนั่นเอง

ทำไมราคาน้ำมันไทย ไม่เท่าประเทศอื่น? 

เมื่อเห็น ราคาน้ำมัน ของบางประเทศถูกกว่าไทยในห้วงเวลาเดียวกัน ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าหากราคาน้ำมันไทยอ้างอิงน้ำมันโลก ทำไม ราคาน้ำมันไทยกับประเทศอื่นๆ ถึงมีราคาไม่เท่ากัน สาเหตุราคาน้ำมันแต่ละประเทศไม่เท่ากัน เนื่องจากมีปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันที่ขายในแต่ละประเทศต่างกัน นั่นก็คือ "โครงสร้างน้ำมัน" ของแต่ละประเทศ  ซึ่งเป็นนโยบายของภาครัฐ เช่น นโยบายการเก็บภาษี หรือการสนับสนุนพลังงานทดแทน

สำหรับราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าปั๊มที่เป็นราคาซื้อขายในประเทศจะเปลี่ยนแปลงได้ตามปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 

  • ราคาน้ำมันในตลาดโลก 

ปัจจัยหลักๆ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาในประเทศคือ ราคาน้ำมันใน "ตลาดโลก" ซึ่งประเทศไทยอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปจาก "ตลาดสิงคโปร์" ดังนั้นถ้าราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลให้ราคาขายหน้าปั๊มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย 

  • อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

เนื่องจากการซื้อขายน้ำมันใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ อัตราแลกเปลี่ยนจึงเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาน้ำมัน

  • ภาษี กองทุนน้ำมัน และค่าการตลาด*

ภาษีที่ภาครัฐเรียกเก็บ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน  และภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงค่าการตลาดของผู้ค้า ซึ่งในค่าการตลาดยังไม่หักค่าใช้จ่ายการดำเนินธุรกิจของผู้ค้า

แต่ละประเทศจะมีการจัดเก็บภาษีทีแตกต่างกันออกไป เช่น เมียนมาร์ไม่ได้มีการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเหมือนของไทย หรือประเทศมาเลเซียที่ราคาน้ำมันถูกกว่าไทย นั่นก็เพราะไม่มีการเก็บภาษี แถมยังมีการนำงบประมาณมาอุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศอีกด้วย

ส่งออกถูกกว่าขายในประเทศ จริงหรือ?

หลักการเดียวกันกับการส่งออกสินค้าชนิดอื่นๆ ทั่วไป ที่จะไม่มีการรวมภาษีหรือกองทุนที่จัดเก็บในประเทศเข้าไปด้วย ทำให้ราคาส่งออกเป็นราคาเฉพาะเนื้อน้ำมัน

แต่ราคาน้ำมันที่ส่งออกไปก็ยังไม่ใช่ราคาน้ำมันที่ประชาชนในประเทศปลายทางจะได้ใช้จริงๆ เพราะต้องนำไปรวมกับอัตราภาษีน้ำมันและกองทุนต่างๆ ที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศนั่นเอง
 
ส่องโครงสร้างราคาน้ำมันไทย มีอะไรซ่อนอยู่บ้าง?

อย่างไรก็ตาม แม้ราคาน้ำมันจะผันผวนตามปัจจัยที่เกี่ยวข้องตามปกติ แต่ในสถานการณ์วิกฤติที่ไม่ปกติเช่นนี้ ราคาเชื้อเพลิงที่ขยับขึ้นสูงต่อเนื่อง หากยืนระยะนานก็ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชน ธุรกิจ และระบบเศรษฐกิจโดยรวมได้ ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมหาทางออกเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายเพื่อบรรเทาภาระของประชาชน  

กลุ่ม ปตท. ได้มีการช่วยเหลือเกิดขึ้นในหลายด้านในช่วงที่ผ่านมา เช่น การอนุมัติให้ขยายระยะเวลาช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อ ก๊าซ LPG แก่ผู้มีรายได้น้อยของกลุ่ม ปตท. โดยช่วยเหลือกลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นโยบายตรึงราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) และตรึงราคาขายปลีก NGV ในโครงการ “เอ็นจีวี เพื่อลมหายใจเดียวกัน” สำหรับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และมาตรการช่วยเหลือภาคสังคมในด้านอื่นๆ

แม้พลังงานปรับตัวสูงจะเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ เนื่องจากพลังงานขับเคลื่อนประเทศในทุกมิติ แต่นอกเหนือจากนโยบาย และการช่วยเหลือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว ส่วนหนึ่งที่สามารถมีส่วนช่วยคือความร่วมมือของประชาชนในการใช้พลังงานเหล่านี้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้คนไทยสามารถฝ่าวิกฤตินี้ไปได้ด้วยกัน