จับตาเกมรอด "สายการบิน" ตั้งลำสู้วิกฤติ (โควิด) แต่วิกฤติ (อื่น) สู้กลับ!
“เหนื่อย เหนื่อย เหนื่อย !!!” เสียงโอดครวญจากเหล่าผู้ประกอบการ "สายการบิน" สะท้อนจัดถึงความเหนื่อยยากลำบาก ประคองธุรกิจให้ลอยคอฝ่าคลื่นชีวิต วิกฤติโควิด-19 ยังไม่ทันหาย... วิกฤติรัสเซีย-ยูเครนดันเข้ามาแทรก แหกเพดานราคาน้ำมัน พุ่งแรงชนิดแทบทรุด
“เคราะห์ซ้ำกรรมซัด” ดาหน้าซ้ำเติมกันไม่หยุด ต้องขุดทุกกลยุทธ์ งัดทุกตำรามาใช้ บอกได้คำเดียวว่า “หัวจะปวด!” เพราะปัจจัยแวดล้อมไม่ได้มีแค่น้ำมันแพงท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นเรื่องค่าเงินบาทอ่อนค่าในรอบ 5 ปี ที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ กระทบต่อต้นทุนที่ต้องจ่ายด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
“นี่แหละคือความกดดัน...” คือแรงกดดันมหาศาลที่มีผลต่อการฟื้นตัวของธุรกิจสายการบิน กลายเป็นว่าอุตส่าห์สู้วิกฤติ (โควิด) แล้ว แต่กลับโดนวิกฤติ (อื่นๆ) สู้กลับเสียอย่างนั้น!
ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งส์ ถือหุ้น 100% ในบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด และควบเก้าอี้ประธานกรรมการ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จำกัด เล่าว่า ทุกวันนี้สายการบินต้องเหน็ดเหนื่อยจากการ “แข่งกับตัวเอง” อย่างกรณีของสายการบินราคาประหยัดให้บริการเส้นทางระยะไกล “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” ล่าสุดได้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา หวนทำการบินเส้นทาง กรุงเทพฯ-โซล (อินชอน) ประเทศเกาหลีใต้ โดยได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อบริหารจัดการหนี้ก้อนใหญ่ให้เหมาะสมกับรายได้ที่กำลังทยอยเข้ากระเป๋าบริษัท
แข่งกับตัวเองว่าเหนื่อยแล้ว ยังต้อง “แข่งกับปัจจัยภายนอก” อีก! วิกฤติโควิด-19 กำลังจะคลี่คลายแท้ๆ แต่ก็มี “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” มาบีบคั้นให้ปาดเหงื่ออีกระลอก
“ปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันจากวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน เป็นเงื่อนไข (Condition) ที่ไม่ปกติ ทำให้ทั้งไทยแอร์เอเชีย (รหัสเที่ยวบิน FD) และ ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ (รหัสเที่ยวบิน XJ) ต้องประเมินสถานการณ์ตลาดกันแบบระยะสั้น ไม่สามารถทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันล่วงหน้าได้ เพราะเวลาน้ำมันเครื่องบินขึ้น มันขึ้นทีละ 5-10 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากภาวะปกติเคยอยู่ที่ระดับ 75-85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล พุ่งเป็น 170 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลแล้วในตอนนี้ แต่พอเวลาน้ำมันลง อาจจะใช้เวลาเพียง 1-2 เดือนเท่านั้น”
แต่สายการบินไม่สามารถผลักภาระทั้งหมดให้ผู้โดยสารได้ ปัจจุบันปรับราคาตั๋วเครื่องบินขึ้นประมาณ 20% สวนทางกับต้นทุนน้ำมันที่พุ่งขึ้นเป็นเท่าตัว!!
อีกปัจจัยภายนอกที่ผู้ประกอบการสายการบินยังห่วงและต้องลุ้นกันอย่างหนัก คือประเทศจีนจะ “เปิดประเทศ” เมื่อไร?! เนื่องจาก “นักท่องเที่ยวจีน” เป็นขุมทรัพย์ใหญ่ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด มีนักท่องเที่ยวจีนมาไทยกว่า ถึง 11,138,658 คน สร้างมูลค่ารายได้ 531,576 ล้านบาท ครองบัลลังก์อันดับ 1 ของตลาดต่างชาติเที่ยวไทย
“ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจีนจะเปิดประเทศแบบมีเงื่อนไขหรือเต็มรูปแบบ ถ้าเป็นแบบหลัง...ตัดสินใจเปิดเต็มรูปแบบในเดือน ต.ค.นี้ บอกเลยว่าปี 2566 มีลุ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าสมมติว่าจีนเปิดทั้งประเทศแล้ว แต่ราคาน้ำมันดันขึ้นไม่หยุด ทะลุ 190 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ก็ต้องมานั่งคำนวณ ประเมินสถานการณ์กันใหม่อีก การฟื้นตัวของธุรกิจสายการบินยุคหลังโควิด-19 จึงไม่เหมือนกับยุคก่อนโควิด”
ธรรศพลฐ์ เล่าเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ยังไม่สามารถทำการบินไปประเทศจีนได้ ทำให้สายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย” ต้องปรับกลยุทธ์ไปบุกตลาดที่มีศักยภาพพร้อมเดินทาง เช่น “อินเดีย” ซึ่งตอนนี้มีบินไป 4 เมืองแล้ว อัตราการขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) เกือบ 100% ทุกวัน จึงอยู่ระหว่างขอเพิ่มเส้นทางบินไปเมืองอื่นๆ ในอินเดีย
จากปัจจุบันไทยแอร์เอเชียให้บริการสู่ 9 ประเทศ 19 เมือง รวม 21 เส้นทาง ตั้งเป้าทวงยอดผู้โดยสารปีนี้ที่ 10.4 ล้านคน คิดเป็นเกือบ 50% เมื่อเทียบกับยอดผู้โดยสาร 22 ล้านคนเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด
ด้าน พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” กล่าวว่า ในปี 2565 บริษัทคาดการณ์ว่าจะมีเที่ยวบินทุกเส้นทางบินรวม 34,000 เที่ยวบิน ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร 3,080 ล้านที่นั่ง-กม. จำนวนผู้โดยสาร 2.64 ล้านคน รายได้จากการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 8,175 ล้านบาท ส่วนอัตราการขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ย 73% โดยคาดว่าราคาตั๋วบินเฉลี่ยต่อเที่ยวอยู่ที่ 3,100 บาท
อนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสสายงานการเงินและบัญชี บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เล่าเสริมว่า บริษัทยังคงดำเนินการตามแผนในการบริหารจัดการค่าใช้จ่าย เน้นเรื่องที่สำคัญ ได้แก่ การบริหารฝูงบิน การปรับเส้นทางบินให้ตรงกับความต้องการในการเดินทาง การปรับลดค่าใช้จ่าย การจัดการด้านบุคลากรให้เหมาะสม และการรักษาสภาพคล่องทางการเงิน เป็นต้น
“นอกจากนี้บริษัทได้จัดตั้ง บริษัท กรุงเทพ รีทแมเนจเม้นท์ จำกัด เพื่อยื่นจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินการบินกรุงเทพภายใต้โครงการสนามบินสมุย โดยคาดการณ์เสนอขายภายในช่วงกลางปีนี้” อนวัชกล่าว
นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างการปรับกลยุทธ์ของธุรกิจสายการบินในยุคโควิด-19 คลี่คลาย หลายค่ายต่างหวังว่าเมื่อมาตรการเดินทางและบรรยากาศการท่องเที่ยวกลับมาผ่อนคลายยิ่งขึ้น จะช่วยปลุกความคึกคัก ดึงต่างชาติเข้ามาจับจ่ายในไทย ให้ “ภาคท่องเที่ยว” ได้กลับมามีซีน ทวงคืนบทพระเอกเศรษฐกิจไทยสำเร็จเสียที!
แต่ไม่วายต้องลุ้นเหมือนหนังภาคต่อ ว่า “วิกฤติซ้อนวิกฤติ” นี้จะจบลงเมื่อไร อีกนานไหมกว่าผู้ประกอบการสายการบินจะไปถึงจุดหมาย “แฮปปี้เอนดิ้ง” ที่รอคอย!