ตลาดงานฟื้น ‘ไอที’ ครองมนุษย์ทองคำ ยักษ์ใหญ่-เอสเอ็มอี เปย์เงินเดือนชิงตัว
งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข สะท้อนวิถีมนุษย์เงินเดือนได้ดี แต่เกือบ 3 ปีที่เผชิญวิกฤติโควิด-19 ระบาด ผู้คนจำนวนมาก “ไร้งาน-ไร้เงิน” ชีวิตจึงไม่สุขเท่าไหร่ ทว่า ปี 2565 ตลาดงานฟื้นตัว องค์กรมองหาคนเก่งมีทักษะร่วมงาน ธุรกิจ-สายงานไหน เติบโต ติดตามจาก "จ๊อบส์ ดีบี"
เข้ากลางปี 2565 ไม่เพียงโรคโควิดคลี่คลาย แต่นโยบายเปิดประเทศล้วนเป็น “สัญญาณบวก” แล้วตลาดงานหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เจาะ Insight แนวโน้มตลาดงานที่องค์กรมองหา ตลอดจนผู้คนตบเท้าหางานทำมากแค่ไหน แล้วทักษะแบบไหนที่คนทำงานยุคใหม่ต้องมี
หากพิจารณาสถานการณ์ตลาดงานโดยรวม อัตราว่างงานปลายปี 2564 อยู่ที่ 2.25% แต่ไตรมาส 1 ปี 2565 ความเชื่อมั่นขององค์กร ภาคธุรกิจปรับตัวดีขึ้น จากการเปิดประเทศ แม้ยังไม่เต็มที่ แต่บริษัทกลับมาทำการผลิต เดินหน้าค้าขาย จึงพร้อมอ้าแขนรับคนทำงานทำงานเพิ่มหลากตำแหน่งในหลายสายงาน
ทว่า ประเภทธุรกิจและสายงานที่ “ประกาศรับงาน” มากสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ ธุรกิจไอที สัดส่วน 11.3% มองหาคนสายงานไอที 19.1% ตามด้วย ธุรกิจขายส่ง ค้าปลีก 10.8% หาคนสายงานขาย บริการลูกค้า งานพัฒนาธุรกิจ 19% ธนาคาร การเงิน 8.4% หาคนสายงานวิศวกรรม 13.9% ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ 8.1% หาคนสายงานการตลาด ประชาสัมพันธ์ 11.4% และธุรกิจขนส่ง 8.1% หาคนสายงานบัญชี 9%
“ไม่ใช่แค่ธุรกิจไอที ที่ต้องการคนสายงานไอที แต่รวมถึงธุรกิจอื่นๆด้วย เนื่องจากต้องรองรับการทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัล”
นอกจากนี้ 5 อันดับธุรกิจและสายงานที่มี “สมัครงาน” มากสุด ได้แก่ ธุรกิจขายส่ง ค้าปลีก ประเภทงานที่สมัคร คืองานขาย งานบริการลูกค้า และงานพัฒนาธุรกิจ 14.3% ตามด้วย ธุรกิจขนส่ง ประเภทงานการตลาด ประชาสัมพันธ์ 11.7% ธุรกิจไอที ประเภทงานการธุรการ งานทรัพยากรบุคคล 10.9% ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ประเภทงานวิศวกรรม 10.5% และธุรกิจการผลิต ประเภทงานไอที 5.7%
เมื่อเปิดสถิติของผู้สมัครงานผ่านจ๊อบส์ ดีบี จะพบว่าแต่ละเดือนมีมากกว่า 1.2 ล้านคน แต่บางเดือนยอดพุ่งสูงกว่ามาก สะท้อนให้เห็นว่าคนจำนวนมากยังต้องการงานซึ่งเป็นที่มาของ “เงิน” อย่างต่อเนื่อง
“อัตราการจ้างงานไม่แผ่วเลย หากไทยเปิดประเทศเต็มที่คาดว่าจะมีการจ้างงานเพิ่ม รวมถึงเศรษฐกิจมีสัญญาณฟื้นตัว ผู้ประกอบการเริ่มมองหาคนมาพัฒนาธุรกิจมี ผู้หางานจึงมีความหวังและทำการสมัครมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญผู้สมัครงานต้องปรับตัวเอง พัฒนาให้มีทักษะตรงกับความต้องการของตลาด”
เนื่องจากตลาดงานมีความหลากหลาย แต่ในยุคดิจิทัลทรงอิทธิพลต่อทุกภาคส่วน สายงานที่มี “เงินเดือนเพิ่มสูงขึ้น” 5 อันดับแรก มีดังนี้ 1.งานไอที โดยสัดส่วน 41% ได้เพิ่มเงินเดือน แต่ 30% ไม่เปลี่ยนแปลง และ 29% ปรับลดลง 2.งานขาย งานบริการลูกค้า งานพัฒนาธุรกิจ งานการตลาด และงานประชาสัมพันธ์ สัดส่วน 40% 3.งานการศึกษา การฝึกอบรมสัดส่วน 39% 4.งานสุขภาพ โภชนาการ และงานความงาม สัดส่วน 39% และ5.งานธุรการ และงานทรัพยากรมนุษย์ สัดส่วน 38%
นอกจากนี้ ธุรกิจที่ฟื้นตัวและเติบโตก้าวกระโดด ยังมีผลต่อความต้องการคนเข้าทำงานด้วย โดยบริษัทผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก กระดาษ รวมถึงปิโตรเคมี ที่สินค้าถูกใช้มากขึ้นถึง 300% เช่น จากบริการส่งอาหาร ธุรกิจที่โต แต่สายงานที่มองหามาเสริมทัพยังเป็นตำแหน่ง “วิศวกรรม” ต้องการมากถึง 19.6% ธรุกิจไอที เพื่อช่วยฝ่าดิจิทัล ดิสรัปชั่น ผู้บริโภคใช้ดิจิทัลเพิ่ม 30% องค์กรต่างๆจึงเทน้ำหนัก 60% ประกาศงานหาคนไอที ธุรกิจการผลิตกลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง บริษัทจึงให้พื้นที่ 40% เพื่อประกาศหางาน โดยต้องการระดับเจ้าหน้าที่เพิ่ม 79.5%
ดวงพร พรหมอ่อน
“กลุ่มทำงานไอที ยังคงเป็นมนุษย์ทองคำที่ตลาดชิงตัว และเป็นสายงานอันดับ 1 ที่ได้เงินเดือนเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบาด เนื่องจากหลายบริษัทยังคงมองหาคนเก่งเข้าทำงาน และไม่ใช่แค่บริษัทยักษ์ใหญ่ แต่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยินดีจ่ายเงินเดือนที่สูงให้กับคนเก่งด้านไอทีด้วย ทำให้ผู้สมัครสามารถเรียกเงินเดือนเพิ่มได้ตามความสามารถ”
กลับกันในภาวะที่ “เงินเฟ้อ” ของไทยพุ่งสูงขึ้น โดยเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ 7.1% สูงสุดในรอบ 13 ปี ยังมีผลต่อ “เงินเดือน” และการตัดสินใจทำงานของพนักงานด้วย ซึ่งหากองค์กรใดมองข้ามไม่พิจารณาปรับขึ้นเงินเดือน อาจส่งผลให้เกิดการโยกย้าย “ลาออก” ด้วย เพราะไม่เพียงมีผลต่อค่าครองชีพ แต่ยังสะท้อนถึงความ “ไม่ก้าวหน้า” ในการทำงานด้วย
ปัจจุบันโลกไร้พรมแดนไม่ได้อยู่แค่ข้อมูลข่าวสาร แต่คืบคลานสู่ตลาดงานด้วย เพราะปัจจุบันผู้คนสามารถทำงานได้ทุกที่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เป็น “ไฮบริด” เมื่อตัวอยู่ไทยทำงานต่างแดนได้ จึงเห็นคนต้องการขยับขยายสู่เวทีนานาชาติ โดยหมุดหมายที่คนไทยอยากไปทำงาน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย รัสเซีย จีนและอินโดนีเซีย
“สายงานไอทีไม่ได้แย่งชิงกันแค่ในตลาดงานประเทศไทย แต่จากการหารือกับจ๊อบส์ ดีบีประเทศอื่นๆ พบว่าองค์กรต่างๆต้องการคนทำงานที่มีทักษะ ความสามารถด้านไอที ดิจิทัล หากประเทศไทยมีให้รีบแจ้งทราบด้วย”
อย่างไรก็ตาม ความต้องการคนไอทีสูง ทำให้คนทำงานด้านนี้มีแนวโน้มจะ “เปลี่ยนงาน-ย้ายองค์กร” ในระยะเวลา 2-3 ปี บางส่วนมอง 1-1.5 ปี พร้อมจะเปลี่ยนงานด้วย
42% กังวลว่า AI จะเข้ามาทำงานแทนที่ตัวเอง
มีสายงานฮิต ย่อมมีสายงานแผ่ว โดยงานที่สามารถใช้ หุ่นยนต์ เทคโนโลยีต่างๆ “ทดแทน” ได้ ย่อมมีความเสียง ทำให้ 42% มีความกลัว กังวลประเด็นดังกล่าว จึงจำเป็นต้องพัฒนาทักษะใหม่ๆเพิ่ม โดยเฉพาะ “ทักษะด้านดิจิทัล” สำคัญอย่างยิ่ง
ดวงพร ยังเปิด Insight โลกการทำงานเมื่อโควิดคลี่คลายว่าผู้คนต้องการทำงานแบบผสมผสาน “ที่บ้าน”(Work From Home) กับ “ออฟฟิศ” มากขึ้น ดังนั้นองค์กรจึงไม่ควรมองข้ามความยืดหยุ่น เพราะ 95% ต้องการให้บริษัทมีโนยบายทำงานที่บ้านทั้งหมด หรือเข้าบริษัทบางวัน ต้องการเข้าออฟฟิศเมื่อมีโปรเจคสำคัญหรืองานสะดมสมอง ส่วน 46% ยังต้องการเวลาทำงานที่มีทั้งความยืดหยุ่น และไม่ยืดหยุ่นรวมกัน แต่ต้องการกรอบเวลาการทำงานที่ชัดเจน
“มี 25% ที่ต้องการทำงานที่บ้านทั้งหมดเหมือนเดิม ไม่ต้องการกลับไปทำงานที่ออฟฟิศเลย”