เปิดข้อกฎหมายหาช่องดึงกำไร “โรงกลั่น” อุ้มราคา “น้ำมัน”
กระทรวงพลังงานเดินหน้าเจรจาหารือข้อกฎหมายอย่างเข้มข้น เพื่อหวังดึงกำไรบางส่วนในช่วงที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นจากกลุ่มโรงกลั่นทั้ง 6 โรงกลั่น โดยการหารือครั้งนี้ อาจจะต้องเน้นน้ำหนักไปที่ข้อกฎหมายเพื่อไม่ให้กระทบกับการดำเนินธุรกิจน้ำมันที่เป็นการค้าเสรีด้วย
รายงานข่าวระบุว่า นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้สั่งให้ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เดินหน้าเจรจาขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 6 โรงกลั่น เพื่อที่จะขอให้ช่วยนำเงินที่ได้จากกำไรค่าการกลั่นในช่วงที่น้ำมันดิบตลาดโลกมีราคาสูงขึ้นในขณะนี้มาเสริมสภาพคล่องให้กับสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่คาดว่าสิ้นเดือนมิ.ย. 2565 จะติดลบระดับ 100,000 ล้านบาท
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ตัวเลขในการคำนวณค่าการกลั่น ของกระทรวงพลังงาน พบว่าค่าเฉลี่ย 6 เดือนของปี 2565 อยู่ที่ 3.27 บาทต่อลิตร อาจจะมีอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง แสดงตัวเลขออกมายืนยันตัวเลข 8.50 บาทต่อลิตร ออกมาเกิดความเข้าใจของประชาชน ดังนั้น จึงมองว่าตัวเลขที่ดีที่สุดคือ ให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นออกมาชี้แจงร่วมกัน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ไม่อย่างนั้น ความคาดหวังจะสูงและแตกต่างกันถือเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายอยากเห็น กระทรวงพลังงานคำนวณตัวเลขโดยมีที่มาที่ไปทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ใช่ชีวิตคนละทิศทาง
นายกุลิศ กล่าวว่า จะเร่งสรุปผลการหารือให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิ.ย. 2565 โดยเฉพาะอัตราราคาที่เหมาะสม ควบคู่กับการรับฟังข้อมูลที่เท็จจริงในเรื่องของค่าการกลั่นว่า เมื่อนำน้ำมันเข้าไปกลั่นแล้วแยกออกมาแต่ละประเภทจะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายอย่างไร ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ จะต้องนำมาหาจุดสมดุลร่วมกัน โดยจะเน้นการหารือที่เกิดจากความร่วมมือของทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝั่งของกองทุนน้ำมันฯ และฝั่งโรงกลั่น
“ทุกคนเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน และเมื่อเอาความเดือดร้อนประชาชนเป็นตัวตั้ง สิ่งแรกคือว่าจะให้ความร่วมมือได้หรือไม่ ก่อนจะไปใช้ในเรื่องของประเด็นของข้อกฎหมายที่มีผู้แนะนำ ซึ่งในเรื่องของอำนาจกฎหมายตามพ.ร.บ.กองน้ำมันเชื้อเพลิง หรือการดำเนินการต่าง ๆ เราได้เตรียมการไว้แล้วอย่างแล้ว” นายกุลิศ กล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สำหรับข้อกฎหมายเพื่อหาเงินจากโรงกลั่นมาอุดหนุนราคาพลังงานมีความเป็นไปได้ในการใช้อำนาจ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ตามมาตรา 14 ซึ่งระบุว่า "คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ (4) เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการส่งเงินเข้ากองทุนหรือได้รับเงินชดเชยและกำหนดอัตราเงิน ส่งเข้ากองทุนตามมาตรา 27 อัตราเงินชดเชยตามมาตรา 29 อัตราเงินคืนจากกองทุนตามมาตรา 31 และอัตราเงินชดเชยคืนกองทุนตามมาตรา 32 โดยอาจกำหนดตามประเภท การใช้ และแหล่งที่มา ของน้ำมันเชื้อเพลิง ก็ได้
ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการรายงานการดำเนินการดังกล่าวต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อทราบ" ในการหารือร่วมกับกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน เพื่อหาแนวทางปรับลดราคาช่วยประชาชน โดยการพิจารณาครั้งนี้ต้องพิจารณากฎหมายอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างถูกโรงกลั่นฟ้องร้องได้ เพราะตลาดน้ำมันเป็นตลาดเสรี
“กระทรวงพลังงานจะเข้าไปเก็บกำไรส่วนเกินจากหน้าโรงกลั่นน้ำมัน หรือเรียกว่า ภาษีลาภลอย (Windfall Tax) เพื่อนำไปใส่ในกองทุนน้ำมัน โดยมีการสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และอัยการสูงสุดและได้คำตอบมาแล้ว เบื้องต้นจะใช้มาตรการ 14 ตามพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันดำเนินการ เพราะหากจะไปเก็บเงินจากการทำธุรกิจของโรงกลั่นจริงๆ จะต้องใช้ข้อกฎหมายที่ชัดเจน เพราะหากไม่มีกฎเกณฑ์โรงกลั่นจะตอบประเด็นนี้กับสังคม ผู้ถือหุ้นอย่างไร จึงเป็นเรื่องที่หาข้อสรุปร่วมกันยากพอสมควร”
แหล่งข่าวจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงกลั่นในเครือ ปตท. พร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายรัฐบาล มองว่าในแง่ของกฎหมายภาครัฐมีข้อมูลที่เพียงพอ และน่าจะพิจารณาอย่างรอบครอบ ส่วนในแง่ของผู้ประกอบการโรงกลั่น ก็จะต้องดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ต้องพิจารณาผลกระทบกับผู้มีส่วนได้เสียทุกราย และต้องดูแลผู้ถือหุ้น ในฐานะของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังนั้น เชื่อว่า ทุกฝ่ายต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือ ดูแลผลกระทบให้กับประเทศชาติและประชาชน และพร้อมเดินหน้าหาวิธีการที่เหมาะสมร่วมกันต่อไป
นอกจากนี้ ปัจจุบันการซื้อขายน้ำมันเป็นธุรกิจการค้าเสรี ราคาซื้อขายเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งราคามีความสัมพันธ์กันทั่วโลก ดังนั้น การควบคุมราคาในประเทศ จะทำให้ผู้ผลิตอาจลดกำลังการผลิตหรือส่งออกไปจำหน่ายในตลาดที่ให้ราคาสูงกว่า จะเป็นความเสี่ยงให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันในประเทศ และจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศต่อกฎระเบียบการค้าเสรีของไทย อันจะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยในระยะยาว
“กลุ่ม ปตท. เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน จึงพร้อมให้ความร่วมมือ โดยขอให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงไม่ส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ ดังนั้น จะต้องดูกฎระเบียบของภาครัฐที่จะออกมาก่อนว่าจะเป็นอย่างไร กลุ่ม ปตท.ถึงจะมีการประชุมและหารืออย่างรอบคอบอีกครั้ง”
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ กระทรวงพลังงาน เคยออกมาเปิดเผยการเจรจากับโรงกลั่นน้ำมัน และโรงแยกก๊าซทั้งหมดที่มีกำไรเพิ่มขึ้นในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นมาช่วยเหลือค่าน้ำมันประชาชนโดยส่งเงินเข้าสู่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และลดราคาน้ำมันเบนซิน โดยคำนวณจำนวนเงินเบื้องต้นทั้งหมดประมาณ 7,500 – 8,000 ล้านบาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค. – ก.ย.2565
โดยการเก็บเงินจากธุรกิจโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซจากกำไรการกลั่นน้ำมัน และการแยกก๊าซ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
1.กำไรจากการกลั่นน้ำมันดีเซลเดือนละประมาณ 5 – 6 พันล้านบาท โดยเงินส่วนนี้จะส่งเข้าสู่กองทุนน้ำมันฯ
2.กำไรจากการกลั่นน้ำมันเบนซินจะเก็บจากโรงกลั่นเดือนละ 1 พันล้านบาท โดยในส่วนนี้จะมีการเก็บเงินเพื่อไปชดเชยให้กับผู้ใช้ราคาเบนซิน โดยลดราคาน้ำมันเบนซินให้กับผู้ใช้เบนซิน 1 บาทต่อลิตร และ
3.เก็บจากกำไรของโรงแยกก๊าซ เดือนละประมาณ 1,500 ล้านบาท โดยกำไรส่วนนี้จะเก็บเข้าสู่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนเช่นกัน