เอกชนห่วงส่งออกครึ่งปีหลังชะลอตัว!!

เอกชนห่วงส่งออกครึ่งปีหลังชะลอตัว!!

การขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงมากก็มีโอกาสที่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอลงได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 อาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป  
วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ระบุ  ผู้ส่งออกได้ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐอย่างใกล้ชิด โดยการที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ใช้วิธีการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ปัจจุบันพุ่งขึ้นสูงถึง 8.6% และคาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีกในช่วงที่เหลือของปี 2565 จะขึ้นดอกเบี้ยช่วงที่เหลือปีนี้อีก 1.75% ในช่วง 4 ครั้งที่เหลือของปีนี้สู่ระดับ 3.40% เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่จะคุมเงินเฟ้อ ซึ่งจะอยู่ในอัตรา 3.5-4.0% 

ทั้งนี้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงมากก็มีโอกาสที่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอลงได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 อาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

นอกจากนี้ แม้ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐมีการเติบโตลดลงจากปัจจัยเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูง แต่มีรายงานระบุว่าดัชนีกำลังซื้อทั้งภาคค้าปลีกของประชาชน และอัตราการว่างงานมีการลดลงเพียงเล็กน้อย และภาคธุรกิจยังมีการลงทุนอยู่ จึงคาดว่าปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ถดถอย แต่ทั้งนี้ต้องติดตามใกล้ชิดเพราะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและกำลังซื้อสหรัฐ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อภาคการส่งออกของไทย เพราะสหรัฐเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเป็นตลาดอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วน 15% ของการส่งออกไทยทั้งหมด

สำหรับมูลค่าการส่งออกช่วง 4 เดือน แรกของปี 2565 การส่งออกของไทยไปยังสหรัฐยังเติบโตต่อเนื่อง โดยถือเป็นแนวโน้มที่ดีในขณะที่การส่งออกปี 2564 ไทยส่งออกไปตลาดสหรัฐมีมูลค่า 41,912 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 21.9%
 
ทั้งนี้ สินค้าส่งออก 15 อันดับ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องโทรสาร โทรศัพท์อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับ, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล 
เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ, อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป, หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ, เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ, เครื่องนุ่งหุ่ม, เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน

นอกจากนี้ในส่วนสินค้าอาหารมีตลาดสหรัฐเป็นคู่ค้าสำคัญ โดยไทยส่งออกสินค้าอาหารไปสหรัฐคิดเป็นสัดส่วนที่12% ของสินค้าอาหารส่งออกทั้งหมด ซ่ึงในช่วง 4 เดือน แรกของปีนี้ ยังขยายตัว และมีสินค้าส่งออกสคำัญ เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป, อาหารสัตว์เลี้ยง, ข้าวอาหารสำเร็จรูป โดยสินค้าที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องมาตลอด 3 ปี ได้แก่ ผักและผลไม้กระป๋องและแปรรูปอาหารสัตว์เลี้ยง, อาหารสำเร็จรูป, สิ่งปรุงรส, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, ผลไม้สดแช่แข็งและแห้ง

แนวโน้มครึ่งปีหลังการส่งออกไปสหรัฐคาดว่าน่าจะลดลงเมื่อเทียบกับต้นปีที่ความต้องการสินค้า (pent up demand)จากสถานการณ์โควิดดีขึ้น บวกกับความกังวลสินค้าบางรายการขาดแคลน ซึ่งสาเหตุหลักมาจากผลกระทบเงินเฟ้อจะทำให้การบริโภค กำลังซื้อ การลงทุนลดลงจากการขึ้นดอกเบี้ย กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดการเติบโต

นอกจากนี้ปัญหาคอนเทนเนอร์จะถูกจีนดึงกลับไปอีกครั้งหนึ่งหากจีนส่งสินค้าเข้าสหรัฐได้มากขึ้นในสถานการณ์ขณะนี้หาตู้สินค้าได้ง่ายขึ้นแต่ราคายังไม่ลงแต่หากจีนดึงตู้กลับไปก็จะอาจทำให้เกิดปัญหาตู้ไม่พอหมุนเวียนอีกครั้งแต่ภาพรวมการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐเชื่อว่ายังเป็นบวก