ดัชนีการค้า“ดับเบิลยูทีโอ” ชี้สงคราม-โควิดฉุดโตต่ำ
ดับเบิลยูทีโอ เผยบารอมิเตอร์การค้าสินค้าโลก ยังอยู่ต่ำกว่าเส้นฐาน คาดทั้งปีโต3% บนเงื่อนไขความไม่แน่นอนสงครามและโควิด-19
รายงานข่าวจากองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เผยแพร่รายงานดัชนีชี้วัดการค้าสินค้า (The Goods Trade Barometer) ที่สะท้อนสถานการณ์ตามเวลาจริง (Real Time) การค้าสินค้าโลกปัจจุบันเท่ากับ 99.0 ซึ่งยังต่ำกว่าเส้นฐาน(baseline)ที่ 100 จึงชี้ให้เห็นว่าการค้าโลกยังอ่อนแอ เป็นผลจากความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน ซึ่งมีผลต่อซัพพลายเชน
สำหรับการเติบโตการค้าครึ่งปีแรก 2565 มีแนวโน้มว่าจะชะลอตัวจากผลกระทบสงคราม และ การล็อกดาวน์ในจีนเนื่องจากความพยายามจำกัดการระบาดโควิด-19
“เมื่อเม.ย.ที่ผ่านมา WTO คาดการณ์ว่า การค้าสินค้าจะเติบโต 3% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวถึง 4.7% ซึ่งเป็นการคาดการณ์เมื่อต.ค. 2564 ที่ผ่านมา และการคาดการณ์นี้ไม่ครอบคลุมผลจากความขัดแย้งที่ไม่สามารถคาดเดาได้”
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ยังไม่ได้เลวร้ายไปทั้งหมดเพราะเมื่อพิจารณาค่าดัชนีประกอบอื่นๆจะพบว่าหลายรายการมีค่าเหนือหรือเท่ากับเส้นฐาน ได้แก่ กลุ่มส่งออกระดับ 101.2 ,ยานยนต์ 101.5 ,การบิน 99.9 ,อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 101.5 ,วัตถุดิบ 99.5
ขณะที่กลุ่มขนส่งทางเรือ อยู่ที่ 95.0 จากปัญหาการปิดท่าเรือซึ่งเป็นค่าดัชนีที่ต่ำกว่าเส้นฐานมาก
“ดัชนีมีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี จากเดิมคิดว่าธุรกิจจะราบรื่น จากคำสั่งซื้อที่มีสูงแต่ก็ไม่ใช่ว่าธุรกิจจะราบรื่นเสมอไปเพราะเมือ่เกิดปัญหาสงคราม การบินมีปัญหาธุรกิจส่งออกก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้น การประเมินค่าดัชนีต้องทำอย่างระมัดระวัง”
รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ระบุถึงแนวโน้มและแผนส่งเสริมการส่งออกระยะถัดไปว่า การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศคู่ค้า ต้องการรักษาความมั่นคงทางอาหาร
สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีจากสินค้าขั้นกลาง เช่น เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ สินค้าที่เกี่ยวกับน้ำมัน (เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซปิโตรเลียม เหลว ก๊าซธรรมชาติ)
สำหรับตลาดส่งออก คาดว่าบางตลาดจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ ท่ามกลางสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน เช่น การส่งออกไปตลาดอาเซียนมีทิศทางดีขึ้น หลังเริ่มทยอยเปิดประเทศ ตลาดตะวันออกกลางมีแนวโน้มดีต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาคพลังงาน ขณะเดียวกันการส่งออก ไทยได้รับประโยชน์จากทิศทางเงินบาทอ่อนค่าที่เอื้อต่อการส่งออก อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามภาวะเงินเฟ้อ ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศคู่ค้าหลัก