ลูกหนี้ "กยศ." ต้องรู้! กู้แล้วไม่คืน จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?

ลูกหนี้ "กยศ." ต้องรู้! กู้แล้วไม่คืน จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?

สรุป 3 เรื่องที่จะเกิดขึ้น หากลูกหนี้ "กยศ." ชำระหนี้คืนไม่ตรงเวลา ไม่จ่ายคืน รวมไปถึงตั้งใจ "หนีหนี้" ต้องเจออะไรที่กระทบต่อ "ผู้กู้" และ "ผู้ค้ำประกัน" บ้าง ?

"กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา" หรือ "กยศ." ครบกำหนดชำระวันสุดท้ายประจำปี 2565 คือวันที่ 5 ก.ค. 65 ซึ่ง "ลูกหนี้ กยศ." จะต้องจ่ายคืนตามยอดเงินของแต่ละคน ทว่าที่ผ่านมามีหลายกรณีที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้คืนตามกำหนด ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม แต่การไม่ชำระหนี้คืน ย่อมส่งผลกระทบต่อ "ผู้กู้ยืม" หลายเรื่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น "ค่าปรับ" "มีประวัติทางการเงินที่ไม่ได้" ตลอดจน "ถูกฟ้องร้อง" หรือบางรายอาจถึงขึ้น "ยึดทรัพย์

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" สรุป 3 เรื่องสำคัญที่จะเกิดขึ้นกับ "ลูกหนี้ กยศ." หลังจากที่ "ไม่จ่ายหนี้ กยศ." ที่ควรรู้ ดังนี้ 

 1. ผิดนัดชำระหนี้ ต้องโดนค่าปรับ 

วันที่ "5 ก.ค. ของทุกปี" คือวันครบกำหนดชำระประจำปีของ กยศ. ซึ่งตามปกติแล้ว กยศ. จะมีหนังสือแจ้งภาระหนี้ไปถึงผู้กู้ยืม 1 ครั้ง ก่อนวันครบกำหนดชำระหนี้งวดแรก โดยจะส่งไปตามที่อยู่เดิมตามภูมิลำเนาของผู้กู้ยืม หรือที่อยู่ตามทะเบียนราษฎร์

ลูกหนี้ \"กยศ.\" ต้องรู้! กู้แล้วไม่คืน จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?

หน้าที่ของผู้กู้ยืมคือจะต้องชำระเงินที่กู้ยืมมาพร้อมทั้งดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใด 1% ต่อปี โดยต้องชำระคืนให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี (นับแต่วันเริ่มชำระหนี้) ส่วนการชำระหนี้งวดต่อๆ ไปผู้กู้ยืมจะต้องชำระเงินต้นคืน ตามอัตราผ่อนชำระที่กองทุนกำหนด พร้อมด้วยดอกเบี้ยของเงินต้นที่คงค้าง ภายในวันที่ 5 ก.ค.ของทุกปี

หากผู้กู้ยืมเงินผิดนัดชำระหนี้ ผู้กู้ยืมเงินจะต้อง "ชำระค่าปรับ หรือ ค่าธรรมเนียมจัดการ" กรณีผิดนัดชำระหนี้ตามอัตราที่กองทุนกำหนด

โดยปกติแล้วค่าปรับจะอยู่ที่ 12% กรณีค้างชำระไม่เกิน 1 ปี และ 18% กรณีค้างชำระเกิน 1 ปี ของเงินต้นค้างชำระ

ลูกหนี้ \"กยศ.\" ต้องรู้! กู้แล้วไม่คืน จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการปรับลดเบี้ยปรับ และดอกเบี้ยต่างๆ ในช่วงโควิด-19  

1. ลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากเดิม 1% ต่อปี เป็น 0.01% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ 

2. ลดเงินต้น 5% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้และต้องการปิดบัญชีในคราวเดียว 

3. ลดเบี้ยปรับ 100% สำหรับผู้กู้ยืมเงินทุกกลุ่มที่ชำระหนี้ปิดบัญชี

4. ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ (ไม่ค้างชำระ) 

5. ลดอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด 

ลูกหนี้ \"กยศ.\" ต้องรู้! กู้แล้วไม่คืน จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?

 2. ถูกฟ้องร้อง  

หากมีการผิดนัดชำระ นอกจากจะต้องจ่ายค่าปรับ และเสียค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องแล้ว หากไม่ชำระคืนเป็นเวลานานก็จะถูกฟ้องดำเนินคดี โดยมีเกณฑ์ที่ "ถูกฟ้องร้อง" ได้ตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

กรณีแรก ผู้กู้ยืม กยศ. ที่ค้างชำระหนี้เกินกว่า 4 ปี 5 งวด (1,460 วันขึ้นไป)

กรณีที่สอง ผู้กู้ยืม กยศ. พ้นระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้แล้ว แต่ยังมีหนี้ค้างชำระ

กรณีที่สาม ผู้กู้ยืม กยศ. กลุ่มไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องคดี (มีหนี้ค้างชำระ) ตามเงื่อนไข คือ

- ไม่เป็นผู้กู้ยืมเสียชีวิตหรือสาบสูญ
- ไม่เป็นผู้กู้ยืมพิการหรือทุพพลภาพ ที่ได้รับอนุมัติให้ระงับการเรียกให้ชำระหนี้แล้ว
- ไม่เป็นผู้กู้ยืมที่ชำระหนี้ปิดบัญชีแล้ว หรือผู้รับทุนที่มีบัญชีติดลบ
- ไม่เป็นผู้กู้ยืมที่ถูกดำเนินคดีแล้ว
- ไม่เป็นผู้กู้ยืมที่ยินยอมให้กองทุนฯ หักเงินเดือน
- ไม่เป็นผู้กู้ยืมชำระหนี้มากกว่า 10% ของยอดหนี้คงเหลือ (ผลรับชำระหนี้ 2 ปี ย้อนหลัง)
- ไม่เป็นผู้กู้ยืมที่ถูกศาลพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

 ถูกฟ้องร้อง ต้องเจออะไรบ้าง ? 

หากมีการผิดนัดชำระตามเงื่อนไขที่กองทุนกำหนด จะมีโอกาสถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งจะมีการแจ้งข้อมูลและส่งสัญญาณให้ผู้กู้ยืมรับทราบ และดำเนินคดีตามขั้นตอน ดังนี้

- กองทุนส่งหนังสือบอกเลิกสัญญากู้ยืม ให้ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันทราบ และขอให้มีการชำระหนี้ หากผู้กู้ยืมไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด จึงจะส่งรายชื่อให้ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ดำเนินคดี

- บมจ.ธนาคารกรุงไทยดำเนินการฟ้องคดี กับผู้กู้ยืม และผู้ค้ำประกันตามสัญญากู้ยืมเงิน (ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันจะได้รับหมายศาล)

- มีหมายศาลนัด ทั้งนี้เมื่อศาลมีหมายนัด ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันต้องไปตามนัด โดยในวันนัดจะมีการไกล่เกลี่ยประนีประนอม

- ศาลพิพากษา เมื่อศาลมีคำพิพากษา ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันจะต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษานั้น หากยังไม่มีการชำระหนี้ตามคำพิพากษา กองทุนจะส่งคำบังคับให้ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน และจะทำการ "ยึดทรัพย์" ตามกฎหมายต่อไป

- ต้องรับสภาพการบังคับคดีตามจำนวนหนี้ในคำพิพากษา 

- ชำระหนี้ตามคำพิพากษา กรณีที่ผู้กู้ยืมไม่มีเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษาครั้งเดียวได้ ต้องการจะผ่อนชำระ สามารถทำได้ตามความประสงค์ ในระหว่างที่กองทุนฯ ยังไม่ได้ดำเนินการบังคับคดี  แต่หากกองทุนดำเนินการบังคับคดีตามกระบวนการทางกฎหมาย ผู้กู้ยืมต้องรับสภาพการบังคับคดีนั้นตามจำนวนหนี้ในคำพิพากษา

 3. ถูกบังคับคดีหรือถูกอายัดทรัพย์  

หลังจากที่ "ศาลมีคำพิพากษา" หากผู้กู้ยืมไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลหรือชำระหนี้ให้เสร็จสิ้น กองทุนจะดำเนินการ "สืบทรัพย์" ของ "ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน" และ "บังคับคดี" โดยการ "ยึดทรัพย์สินและประกาศขายทอดตลาด" เพื่อนำเงินมาชำระหนี้คืนกองทุน ซึ่งผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันมีทางเลือก 2 ทางที่คือ 1. ชำระหนี้ปิดบัญชี ซึ่งหมายถึงการการจ่ายเงินปิดบัญชีทั้งหมด หรือ 2. ไกล่เกลี่ยชั้นบังคับคดี ตามขั้นตอนทางกฎหมาย

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าผลกระทมจากการไม่ชำระหนี้ กยศ. คืนตามกำหนด ส่งผลกระทบทั้งต่อผู้กู้ยืมเอง ไปจนถึงผู้ค้ำประกันด้วย และแน่นอนว่าจะทำให้ผู้ที่ต้องการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษารุ่นต่อไปไม่มีโอกาสได้กู้ยืมต่อด้วย ดังนั้นใครที่ยังอยู่ในฐานะ "ลูกหนี้ กยศ." อย่าลืมวางแผนชำระเงินคืนให้ดี เพื่อที่จะไม่ต้องได้รับผลกระทบตามที่กล่าวไปในข้างต้น ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

-----------------------------------------------------

อ้างอิง: กยศ.studentloan