เหมืองโปแตชสู้วิกฤติสงคราม รัฐดัน 3 เหมือง กำลังผลิต 3.2 ล้านตัน

เหมืองโปแตชสู้วิกฤติสงคราม รัฐดัน 3 เหมือง กำลังผลิต 3.2 ล้านตัน

ครม.อนุมัติ ‘เอเชีย แปซิฟิค’ บริษัทในเครืออิตาเลียนไทย เดินหน้าเหมืองโปแตซ อุดรฯ ลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาท เตรียมให้ประทานบัตร กำลังการผลิตปีละ 2 ล้านตัน ลดพึ่งพาปุ๋ยต่างประเทศ 

ประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยปีละ 4 ล้านตัน มูลค่า 60,000 ล้านบาท เป็นปุ๋ยโพแทชเซียมประมาณ700,000 ตัน คิดเป็น 9,000 ล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกันประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตโพแทสเซียมสูงมาก คาดว่าไทยมีสำรองแร่โแตชสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลกอยู่ที่ 400,000 ล้านตัน รองจากแคนาดา เบลารุสและเยอรมนี 

สำหรับพื้นที่พบแร่โปแตชขนาดใหญ่ในไทยมี 2 แหล่ง คือ แอ่งสกลนคร ประกอบด้วย จ.สกลนคร จ.หนองคาย จ.อุดรธานี และ จ.นครพนม และแอ่งโคราช ประกอบด้วย จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ จ.นครราชสีมา และจ.ชัยภูมิ

ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุมัติประทานบัตรให้กับเอกชน 2 ราย คือ บริษัท ไทยคาลิจำกัด จ.นครราชสีมา และบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) จ.ชัยภูมิ

ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาวานนี้ (28 มิ.ย.) ซึ่งเป็นโครงการของบริษัทเอเซีย แปซิฟิค โปแตชคอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) โดยเป็นบริษัทในเครือของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์จำกัด (มหาชน) หรือ ไอทีดี ซึ่งเข้าไปซื้อกิจการบริษัทเอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่นจำกัด เมื่อปี 2549

บริษัทเอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด มีกรรมการ 9 คน เช่น นายเปรมชัย กรรณสูตนางนิจพร จรณะจิตต์ นายมนู เลียวไพโรจน์ นายธรณิศ กรรณสูต

เคาะเหมืองโปแตช “อุดร”

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยขั้นตอนจากนี้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จะไปเร่งออกประทานบัตร เพื่อเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป

ทั้งนี้ในส่วนของโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี ถือเป็นเหมืองแร่ขนาดใหญ่โดยเหมืองดังกล่าว มีแผนการผลิต 2 ล้านตันต่อปี โดยประเมินว่า จะมีปริมาณการผลิตตลอดอายุโครงการ 25 ปี อยู่ที่ 33.67 ล้านตัน เบื้องต้นมีมูลค่าการลงทุนของโครงกสารประมาณ 36,000 ล้านบาท โดยที่ผ่านมา บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ยื่นขอประทานบัตรไปแล้ว

สำหรับโครงการดังกล่าว ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และส่วนราชการตามกฎหมายแล้ว รวมทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้พิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ซึ่งก็พบว่าเป็นไปตามข้อกำหนดดังนั้นจึงได้เสนอเข้ามาใน ครม. เพื่อพิจารณาเห็นชอบ

“หลังจากโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี ได้ผ่านการเห็นชอบจาก ครม.แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะไปเร่งออกประทานบัตร ซึ่งภาคเอกชนก็อยากทำไห้เร็ว คาดว่า อย่างเร็วที่สุดภายใน 6 เดือน หรือ 1 ปีก็คงเริ่มต้นดำเนินการได้ โดยจะค่อย ๆ เริ่มทำไป ซึ่งเหมืองแร่แห่งนี้มีปริมาณการผลิตอยู่ที่ 2 ล้านตันต่อปี” 

เดินหน้าออกประทานบัตร

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ครม.มีมติให้เดินหน้าโครงการเหมืองโปแตช จ.อุดรธานี และได้รับทราบผลการดำเนินงานของบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ได้รับสิทธิสำรวจแร่โปแตชในจังหวัดอุดรธานี เพื่อดำเนินการขอประทานบัตรจากกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป

สำหรับการดำเนินงานของบริษัท เอเชีย แปซิฟิคฯ ที่ผ่านมาประกอบด้วยรายละเอียดต่างๆ ได้แก่ 

1.รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น การควบคุมวิธีการทำเหมืองให้มีความมั่นคงแข็งแรงไม่ให้เกิดการทรุดตัวที่เป็นอันตรายต่อโครงสร้างที่อยู่อาศัยบนผิวดิน มาตรการการจัดการกองเกลือ ฝุ่นเกลือ และน้ำเค็มของโครงการ 

2.การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ทางตัวแทนกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง 63% เลือกที่จะให้มีการพัฒนาโครงการทำเหมืองบางพื้นที่อย่างมีเงื่อนไข กล่าวคือ มีมาตรการเพื่อลดกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน มีการจัดสรรค่าภาคหลวงแร่มาใช้พัฒนาชุมชนอย่างเหมาะสม และผู้ได้รับผลกระทบจะต้องได้รับค่าชดเชยที่เหมาะสม 

กำลังผลิตปีละ 2 ล้านตัน

3.การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 โดยล่าสุดเมื่อเดือนเม.ย.2559 จัดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีประชาชนเข้าร่วมประมาณ 2,000 คน มีผู้ไม่เห็นด้วยประมาณ 100 คน แต่ไม่ได้เป็นการลงมติ จึงไม่มีผลต่อการพิจารณาดำเนินโครงการ และในปี 2562 คณะกรรมการกำหนดเงินค่าทดแทนได้พิจารณากำหนดกรอบวงเงินค่าทดแทนกรณีมีการทำเหมืองใต้ดินให้แก่เจ้าของที่ดิน วงเงินรวม 1,200 ล้านบาท ซึ่งบริษัทเอเชีย แปซิฟิคฯ เป็นผู้รับผิดชอบ 

ทั้งนี้พื้นที่เหมืองแร่โพแทช ของบริษัท เอเชีย แปซิฟิคฯ ที่ได้สำรวจแล้วมี 4 แปลง อยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่เหมืองใต้ดินประมาณ 26,446 ไร่ และพื้นที่บนดินประมาณ 1,681 ไร่ โดยหากเหมืองแร่โพแทชเปิดดำเนินการได้ คาดการณ์ว่าจะสกัดโปแตชเซียมคลอไรด์ได้ 2 ล้านตันต่อปี จะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าแร่โพแทชเพื่อใช้ผลิตปุ๋ยจากต่างประเทศได้ ปัจจุบันไทยนำเข้าแร่โพแทชประมาณปีละ 8 แสนตันมีมูลค่านำเข้าสูงถึง 7,600-10,000 ล้านบาท

ลุ้นคลังเพิ่มทุนโปแตชอาเซียน

ส่วนอีก 2 บริษัทที่ได้รับประทานบัตรทำเหมืองแล้ว คือ บริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด(มหาชน) จังหวัดชัยภูมิ อยู่ระหว่างให้กระทรวงการคลังดำเนินการเริ่มการเพิ่มทุน 

ในขณะที่บริษัท ไทยคาลิ จำกัด จังหวัดนครราชสีมา อยู่ระหว่างการขุดอุโมงค์เพื่อเริ่มทำเหมืองตามขั้นตอน แต่ยังไม่ได้เปิดการทำเหมืองได้ โดยในส่วนของกำลังการผลิตเหมืองโพแทชในประเทศไทยทั้งหมดหากสามารถที่จะเปิดเหมืองทั้ง 3 แห่งได้จะอยู่ที่ 3.2 ล้านตันต่อปี