ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ห่วงหนี้ครัวเรือนสูง หนี้ปรับโครงสร้างทะลัก 1 ล้านบัญชี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ห่วงหนี้ครัวเรือนสูง หนี้ปรับโครงสร้างทะลัก 1 ล้านบัญชี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เป็นอีกองค์กร ที่ออกมาปรับภาพเศรษฐกิจไทย เงินเฟ้อ ปี 2565 ใหม่ จากภาพเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงความท้าทายจากปัจจัยภายนอกภายในเพิ่ม ห่วงหนี้ครัวเรือนยังขยายตัวต่อเนื่อง

      ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เป็นอีกองค์กร ที่ออกมาปรับภาพเศรษฐกิจไทย เงินเฟ้อ ปี 2565 ใหม่ จากภาพเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาด ในไตรมาส 1 ปี 2565 ทำให้เป็น “แรงหนุน” สำคัญต่อการปรับมุมมอง “เศรษฐกิจไทย” ปีนี้ดูดีขึ้น แม้จะเผชิญกับความเสี่ยง และความท้าทายจากปัจจัยภายนอกเพิ่มขึ้น 

       ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า สำหรับภาพเศรษฐกิจ 3 เดือนที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะทิศทางนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่กลับมาเติบโตได้ดีกว่าคาด โดยกสิกรไทยคาดว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มเป็น 7.2 ล้านคน หรือมีรายได้จากภาคการท่องเที่ยวเข้ามา 1.1 ล้านล้านบาท จากเดิมคาดเข้ามาเพียง 4 ล้านคน


      อย่างไรก็ตาม แม้ภาพเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจไทย ยังเจอกับความท้าทาย และเสี่ยงที่เข้ามากระทบอยู่มาก โดยเฉพาะปัจจัยด้าน “เงินเฟ้อ” ที่อาจเป็นปัจจัยฉุดรั้งการบริโภคของเศรษฐกิจไทยปีนี้ได้

    ซึ่งหากดูจากพัฒนาการเงินเฟ้อ บนราคาพลังงานในตลาดโลกที่อยู่ระดับสูงต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันอยู่เหนือ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล บวกกับมีปัจจัยในประเทศ จากการที่ภาครัฐ ลดการอุดหนุนด้านพลังงาน ทำให้น้ำมันชนิดต่างๆ ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ห่วงหนี้ครัวเรือนสูง หนี้ปรับโครงสร้างทะลัก 1 ล้านบัญชี        

ดังนั้นเหล่านี้อาจเป็นตัวเร่งให้เงินเฟ้อไตรมาส 3 เข้าไปสู่ระดับสูงสุดได้ ที่ระดับ 7.4% ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ทั้งปีเงินเฟ้อขยายตัวสูงไปสู่ระดับ 6% ดังนั้นเหล่านี้อาจเป็นแรง “กดดัน”สำคัญ ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจต้องเร่งปรับนโยบายการเงิน โดยการขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในการประชุม กนง.ที่เหลือของปีนี้

     ส่งผลให้ ดอกเบี้ยนโยบายของไทย เข้าไปสู่ระดับ 1% ในสิ้นปีนี้ ท่ามกลาง การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)อย่างต่อเนื่อง

     “หากดูดัชนีผู้ผลิตพบว่าเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง และจะเริ่มเห็นการทยอยส่งผ่านต้นทุนไปสู่ผู้บริโภคในขอบเขตที่กว้างมากขึ้นในระยะถัดไป บวกกับวิกฤติอาหารโลก ที่ส่งผลให้อาหารบางประเภทของไทยเพิ่ม ทำให้ตะกร้าเงินเฟ้อขยับขึ้น ดังนั้นคาดว่าจะเห็นเงินเฟ้อขึ้นไปสู่ระดับสูงสุดในไตรมาส 3 ที่ 7.4% แต่สำหรับบางคนอาจจะบอกว่าเงินเฟ้อที่เขาเจออาจมากไปถึงระดับ 10% แล้ว”

      ส่วนสถานการณ์ ค่าเงินบาท คาดว่า มีโอกาสเห็น เงินบาท อ่อนค่าต่อเนื่อง ไปสู่ระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ ภายใน 1-2 เดือนข้างหน้านี้ ภายใต้แรงกดดัน จากการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐ จากแนวโน้มของการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ที่จะเป็นตัวสำคัญ ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง

     อีกทั้ง ยังคาดว่า ภายใต้แรงกดดันดังกล่าว จะส่งผลให้เห็นเงินทุนเคลื่อนย้าย ไหลออกจากตลาดเงินตลาดทุนไทย บางส่วนในระยะข้างหน้า ซี่งเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าได้

     แต่มองว่า ภายใต้ความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุน จากการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ไทยจะกันชนเพียงพอ ในการรองรับความผันผวนที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะด้านเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทย ที่แข็งแกร่ง จากการมี ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ที่สามารถรองรับภาระหนี้ต่างประเทศระยะสั้น

     ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า แม้คาดการณ์ว่าระยะข้างหน้า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย จะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่า อาจไม่เห็นภาคธนาคารปรับขึ้นดอกเบี้ยทั้งกระดานโดยทันที ซึ่งอาจเห็นการขยับดอกเบี้ยเฉพาะบางผลิตภัณฑ์เท่านั้น จากสภาพคล่องของระบบการเงินที่ยังอยู่ในระดับที่สูง ประกอบยังมีความจำเป็นในการช่วยเหลือลูกค้าอยู่

      เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อเช่าซื้อ ที่ผ่อนระยะยาว แต่สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล ที่มีการกำหนดดอกเบี้ยตายตัวคงไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งมองว่า แม้ดอกเบี้ยบ้าน และดอกเบี้ยรถจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่การปรับขึ้นอาจไม่มากนัก ดังนั้นก็ยังเชื่อว่า ผู้บริโภคอาจยังมีความสามารถในการรับภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นได้

      “เรายังเชื่อว่า ด้วยความที่แบงก์ยังคงต้องประคอง และช่วยลูกค้าอยู่ และความสามารถของแบงก์ ภายใต้สภาพคล่องที่มีอยู่มากในระบบ อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์ อาจยังไม่มีการปรับดอกเบี้ยขึ้นทั้งกระดาน แต่จะเห็นการปรับดอกเบี้ยขึ้นเฉพาะบางผลิตภัณฑ์เท่านั้น เช่น ดอกเบี้ยบ้าน ดอกเบี้ยรถที่อาจปรับเพิ่มขึ้นบ้าง แต่การขึ้นดอกเบี้ยคงไม่มากนัก ดังนั้นก็ยังเชื่อว่าผู้บริโภคยังมีความทนทานในการรับต้นทุนดอกเบี้ยขึ้นได้อยู่” 

     ส่วนแรงกดดันจาก “ภาระหนี้ครัวเรือน” มองว่า ปีนี้ยังเห็นภาระหนี้ครัวเรือน ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ระดับ 3-4% โดยคาดว่า หนี้ครัวเรือนปีนี้ จะลดลง จากจีดีพีที่ขยายตัวมากขึ้น โดยอยู่ในกรอบ 86.50-88.50% หากเทียบกับปีก่อนที่หนี้ครัวเรือนสูงถึงระดับ 90.1%

    สำหรับ ลูกหนี้ที่ยังอยู่ภายใต้มาตรการ ปัจจุบัน ยังอยู่ระดับสูง โดยคิดเป็น 12.3% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบ หรือมีลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้การปรับโครงสร้างหนี้ราว 1 ล้านบัญชี ดังนั้นเหล่านี้ ยังถือเป็นโจทย์สำคัญของธนาคาร ที่ยังต้องประคับประคองและช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง

     เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า สำหรับประเด็นวิกฤติความมั่นคงทางอาหารนั้น ประเทศไทยถือว่ามีความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ จาก ภาวะความตึงตัวของผลผลิตอาหาร แม้จะยังไม่ใช่วิกฤติด้านอาหารดังที่ปรากฏขึ้นในหลายประเทศ

     แต่ทั้งนี้ เนื่องจากเกษตรกร และผู้ผลิตอาหารไทยเผชิญแรงกดดันจากต้นทุนปัจจัยการผลิตที่แพงขึ้นซึ่งอาจกระทบผลผลิต ประกอบกับความต้องการ และราคาอาหารโลกเพิ่มขึ้น หนุนการส่งออกในบางรายการ

     ดังนั้นในระยะข้างหน้า ราคาอาหารไทยอาจปรับขึ้นในครึ่งหลังปีนี้ และมีแนวโน้ม “ยืนสูง”ต่อไปอีกอย่างน้อยจนถึงช่วงกลางปีหน้า โดยเฉพาะน้ำมันปาล์ม ข้าว และเนื้อหมู ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบยังมีโจทย์ในด้านการบริหารจัดการต้นทุน เช่นเดียวกับผู้บริโภคที่ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลฐานะรายรับรายจ่าย และใช้สอยอย่างรอบคอบต่อเนื่อง
 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์    ศิลาวงษ์