เวิลด์แบงก์ชี้ดอกเบี้ยนโยบายเตรียมเข้าสู่ภาวะปกติในปีหน้า

เวิลด์แบงก์ชี้ดอกเบี้ยนโยบายเตรียมเข้าสู่ภาวะปกติในปีหน้า

เวิลด์แบงก์ชี้ ถึงเวลาดอกเบี้ยนโยบายของไทยควรปรับเพิ่ม เพื่อดูแลเงินเฟ้อ และฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังพบสัญญาณเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว ระบุ หากปรับทุกงวดการประชุม กนง.อัตราดอกเบี้ยจะเข้าสู่ภาวะปกติในปีหน้า ขณะที่ นโยบายการคลังเน้นสร้างรายได้ยั่งยืน

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์)ระบุ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อ และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควรดำเนินการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยหลังจากที่เศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว ดังนั้น ดอกเบี้ยนโยบายควรปรับเพิ่มได้เร็วๆ นี้

“เราคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้เท่ากับช่วงก่อนโควิดในช่วงปลายปี 2565 ขณะที่ อัตราการว่างงานก็จะลดลง เมื่อบวกกับนโยบายการคลังที่เข้ามาเสริม ดังนั้น จึงคิดว่า ดอกเบี้ยนโยบายควรเริ่มได้เร็วๆนี้ ถ้าดอกเบี้ยนโยบายทยอยขึ้นไปทุกรอบในช่วงที่มีการประชุม กนง.ฉะนั้น อัตราดอกเบี้ยก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปีหน้า ซึ่งจะล้อไปกับเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ฟื้นตัว”

ทั้งนี้ เวิลด์แบงก์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 2.9% ลดลงจากคาดการณ์เมื่อสิ้นปี 2564 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ในช่วงปลายปีคาดการณ์เศรษฐกิจจะสามารถขยายตัวได้ในระดับก่อนโควิด และปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.3%ในปีหน้า และ 3.9%ในปีถัดไป

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบภายนอกด้านลบจากสงครามในยูเครน และมาตรการปิดเมืองของจีนแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีลักษณะเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมัน และมีความเปราะบางต่อภาวะการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก ดังนั้น การนำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้จะสามารถช่วยสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืนและมีความยืดหยุ่นต่อผลกระทบภายนอกได้

“เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีคาดว่าจะได้รับแรงกระตุ้น และกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 เมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลดลง และการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางข้ามพรมแดนของประเทศไทย และประเทศต่างๆ”

เขากล่าว่า สาเหตุหลักที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยค่อนข้างล่าช้าคือ การท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้ มองว่า การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะค่อยเป็นค่อยไป โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 6 ล้านคนในปีนี้ และ ปีถัดไปอยู่ที่ 15 ล้านคน และเพิ่มเป็น 24 ล้านคนในปีถัดไป โดยที่เศรษฐกิจโลกก็ยังมีความไม่แน่นอน และการเปิดของประเทศจีนก็ยังไม่ชัด รวมทั้ง มีความเสี่ยงที่โควิดอาจจะกลับมาระบาดอีกระลอก ถ้ามีการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยว ก็เชื่อว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุลในปีหน้า

สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดการณ์ว่า ในปีนี้จะอยู่ที่ 2.3% การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัว 4.1% ในปี 2565 ชะลอตัวลงจากผลของปี 2564 ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ 18.8% สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์โลกที่ลดลง และปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลกที่ยืดเยื้อ

เขากล่าวด้วยว่า ในขณะที่ประเทศไทย กำลังเข้าสู่ระยะของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง (fiscal consolidation) และการปรับสมดุลรายจ่ายเพื่อเพิ่มการลงทุนภาครัฐ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการสร้างอนาคตที่ดีกว่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ รายงานของเวิลด์แบงก์ระบุว่า สงครามในยูเครนอาจทำให้ปัญหาความยากจนในประเทศไทยมีความรุนแรงขึ้น อันเป็นผลจากราคา อาหารและพลังงานที่สูงขึ้น ธนาคารโลกประมาณการว่า ราคาอาหารโลกที่เพิ่มขึ้น 10%จะทำให้อัตราความยากจน เพิ่มขึ้น 1.4% และราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น 10%จะทำให้อัตราความยากจนเพิ่มขึ้น 0.2%

เขายังกล่าวด้วยว่า ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยอันดับแรกคือ การแพร่ระบาดโควิด เพราะเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยว 12% ต่อจีดีพี ซึ่งโควิดก็มีความเสี่ยงที่จะกลับมาอีกระลอก ก็จะกระทบต่อการท่องเที่ยว และอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ถ้าประเทศเตรียมพร้อมควรลงทุนด้านสาธารณสุขเป็นหลัก แม้ไทยจะแข็งแกร่งด้านสาธารณสุข แต่มีบางจุดที่จำนวนแพทย์ต่อค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนา ถ้าพัฒนาได้จะดูแลสถานการณ์โควิดได้ดีขึ้น

ความท้าทายด้านที่สองคือ อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งขณะนี้ อัตราเงินเฟ้อทะลุเป้าแบงก์ชาติไปแล้วที่ประมาณ 7% แต่เมื่อดูในไส้ในจะพบว่า การเพิ่มของราคากระจุกตัวในกลุ่มพลังงาน และอาหาร ฉะนั้น ไม่ได้เป็นการปรับขึ้นที่อาจจะเรียกว่า ยั่งยืน โดยเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อครัวเรือนที่ยากจนเป็นหลัก เนื่องจาก มีค่าใช้จ่ายด้านอาหารและน้ำมันค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา วิธีรับมือกับราคาพลังงานและอาหารที่เพิ่มขึ้นของไทยคือ การควบคุมราคาสินค้า เรามองว่า เป็นมาตรการคุมราคาเป็นมาตรการที่แพร่หลายในเอเชีย โดยพบว่า มีประมาณเกือบ 10 ประเทศที่คุมราคาน้ำมัน และ อีก 10 ประเทศที่คุมราคาอาหาร เมื่อรวมกันแล้วจะพบว่า ไทยคุมราคามากสุดที่ 30% อินโดนีเซียกว่า 10%  และฟิลิปปินส์ 0% แต่เครื่องมือนี้ ในที่สุดอาจไม่ยั่งยืน เนื่องจาก ไม่ได้จัดสรรให้กับกลุ่มเป้าหมายที่เต็มประโยชน์ กล่าวคือ จัดสรรให้กับครัวเรือนที่รวยด้วย ฉะนั้น ควรจะพิจารณาเครื่องมืออื่นทดแทน

เมื่อพิจารณาด้านนโยบายการคลังนั้น เขากล่าวว่า ในช่วงโควิดที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาเพื่อประคองเศรษฐกิจ ถือว่า เป็นประเทศที่ทำได้เร็ว และดีเมื่อเทียบกับภูมิภาค แต่ในช่วงนี้ เป็นช่วงที่กำลังปรับจากการเยียวยาเป็นการฟื้นฟู ซึ่งแน่นอนการใช้จ่ายจะเริ่มลดลง แต่เนื่องจาก ประเทศไทยได้ใช้พื้นที่การคลังไปมากจากการกู้เงิน ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นถึง 10% จาก 49% เป็น 61% แต่ขณะนี้ หนี้สาธารณะเริ่มทรงตัว เนื่องจาก เราเข้าสู่โหมดการฟื้นฟู การกู้ยืมใหม่ใกล้จะหมด

ทั้งนี้ หากเทียบไทยกับประเทศอื่นในภูมิภาคในเรื่องการใช้นโยบายการคลัง จะเห็นว่า เราอยู่ในช่วงกลางๆ น้อยกว่า จีนและมาเลเซีย แต่พื้นที่การคลังก็ไม่ได้เหลือเยอะมากเท่าเดิม

“ในเชิงนโยบายในการดูแลเศรษฐกิจนั้น มองว่า โควิดอาจกลับมาระบาด ดังนั้น การฉีดวัคซีนก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น การติดตามประเมินสถานการณ์และการเปิดให้มีการเดินทางจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมถึง ค่าครองชีพ ส่วนนโยบายการคลังควรปรับ เพราะพื้นที่การคลังเริ่มน้อยลง หนี้สาธารณะเพิ่ม มีความจำเป็นเพิ่มรายได้การคลังเพื่อรักษาความยั่งยืนการคลัง และทำอย่างไรให้นโยบายการคลังช่วยครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ โดยทำนโยบายที่เจาะจงเป้าหมาย ซึ่งจะส่งเสริมให้การฟื้นฟูได้อย่างแข็งแกร่ง”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์    ศิลาวงษ์