'ประยุทธ์' เร่งแผนซัพพลายเชน EV เล็งเปิดโรงงานผลิต-ประกอบรถไฟฟ้าในไทยปี 66

'ประยุทธ์' เร่งแผนซัพพลายเชน EV เล็งเปิดโรงงานผลิต-ประกอบรถไฟฟ้าในไทยปี 66

"ประยุทธ์" เปิดงาน FTI EXPO 2022 ที่เชียงใหม่ปาฐกถาหัวข้อฉากทัศน์ใหม่อุตสาหกรรมไทยเพื่อความยั่งยืน ชี้เศรษฐกิจไทยปี 2565 - 2566 เริ่มฟื้นตัวและไปได้ดี เร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจดันลงทุนอีวี ผลิตชิ้นส่วนสำคัญในประเทศให้ได้ภายใน 1 ดันซอฟพาวเวอร์เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ

วันนี้ (29 ก.ค.)  ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ จังหวัดเชียงใหม่  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิด FTI EXPO 2022 : SHAPING FUTURE INDUSTRIES FOR STRONGER THAILAND จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ฉากทัศน์ใหม่อุตสาหกรรมไทยเพื่อความยั่งยืน” ว่าในปัจจุบันประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก กำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ ในการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ส่งผลต่อการพัฒนานวัตกรรมมากยิ่งขึ้น ตลอดจนแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังถูกหยิบยกเป็นวาระสำคัญของหลายประเทศทั่วโลก

 ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมรับมือกับความท้าทายดังกล่าว เพื่อปรับตัวให้สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง ภายใต้บริบทของ โลกใหม่ใบเดิมนี้ โดยขอเปรียบเทียบประเทศไทย เสมือนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนเดินต่อไปข้างหน้าบนเวทีโลกโดยกำหนดแนวทางในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้สามารถพลิกโฉมตัวเองไปสู่การเปลี่ยนแปลง ช่วงแรก คือ รีสตาร์ทเครื่องยนต์ เพื่อรีสตาร์ทประเทศไทยให้ฟื้นตัวได้โดยเร็วที่สุด (Restart)

 

ทั้งนี้จากการทำงานแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจและความร่วมมือของหลายภาคส่วนที่ทำงานร่วมกันขณะนี้เศรษฐกิจไทยเริ่มที่จะฟื้นตัวได้ถ้าทุกคนร่วมมือกันต่อเนื่องในปี 2565 – 2566  เศรษฐกิจไทยจะไปได้ดี และขั้นต่อไปคือเรื่องของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการเน้นในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นการต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิมไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ได้แก่ ดิจิทัล การผลิตหุ่นยนต์ และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งตนได้หารือกับผู้บริหารของภาคเอกชนได้แก่ บริษัท ฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป (Foxconn Technology Group)  ที่มาพบที่ทำเนียบรัฐบาล

โดยได้หารือว่าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยควรมีทั้งการผลิตและประกอบในประเทศไทยให้ได้มากที่สุดในส่วนที่เป็นซัพพลายการผลิตที่สำคัญที่จะต้องผลักดันให้เกิดได้ภายใน 1 ปี  โดยต้องมีการผลิตตั้งแต่ วงจรไฟฟ้า ตัวคอนโทรล แบตเตอรี่ มอเตอร์ ส่วนเรื่องของตัวถังรถยนต์เราคงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะเราไม่มีการผลิตเหล็กต้นน้ำ

ส่วนการผลิตในส่วนอื่นๆที่ต้องการให้เกิดการผลิตในประเทศควรจะมีการใช้งานวิจัยเข้ามาพัฒนาให้มากขึ้น เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด และพัฒนาในเชิงพาณิชย์มากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างเพื่อยกระดับศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีการเตรียมความพร้อมทางด้านปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ นั่นคือการพัฒนาและปรับปรุงปัจจัยพื้นฐานด้านต่าง ๆ ของประเทศให้พร้อมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน กฎหมายและกฎระเบียบที่เอื้อต่อการค้า การลงทุน

มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนของภาครัฐ การบริหารจัดการข้อมูลด้านองค์ความรู้และนวัตกรรม ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศและยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

นอกจากนี้ รัฐบาลพร้อมผลักดัน Soft Power ของไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมั่นใจว่าคนไทยมีฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ระดับโลก โดยรัฐบาลได้เร่งเดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยใน 15 สาขาที่สาคัญ ขณะเดียวกันก็ผลักดันวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5 F ที่มีอยู่เดิม ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญ ที่จะช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยหลังยุคโควิด 19

นอกเหนือจากการจะทำให้สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้แล้ว ยังมีสิ่งสำคัญที่จะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเดินหน้าประเทศไทยไปสู่เวทีโลกในอนาคต คือการกำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศ

ซึ่งการพัฒนาประเทศให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเจตนารมณ์ของยุทธศาสตร์ชาติ ยังคงมีข้อจำกัดภายในจำนวนมากที่ต้องก้าวข้าม อีกทั้งยังต้องเตรียมพร้อมประเทศให้สามารถรับมือและแสวงหาโอกาส จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระดับโลก โดยเฉพาะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพื่อผลักดันให้การพัฒนาประเทศก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น